กลุ่มผ้าทอฯ ลำพูน ประยุกต์ใช้งานวิจัย สร้างจุดเด่นให้กับผ้าทอล้านนาตั้งแต่กระบวนการผลิตเส้นฝ้ายสู่ผ้าทอมือพื้นเมืองคุณภาพ ภายหลังจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) หน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัย 3 เทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีเอนไซม์ เทคโนโลยีพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ และเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ช่วยกลุ่มผ้าทอจังหวัดลำพูน ต่อยอดการผลิตผ้าทอล้านนาจากภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์ลวดลายเฉพาะตัวให้มีจุดเด่นทั้งในด้านคุณภาพของเส้นใย เนื้อผ้าที่ละเอียด การพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ และคุณสมบัติพิเศษด้านนาโนฯ เพื่อดูแลผลิตภัณฑ์ผ้าทอล้านนาให้เหมาะกับการใช้งานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า สร้างรายได้ให้กลุ่มผ้าทอฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัว ช่วยส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้น ด้าน สนง.พาณิชย์จังหวัดลำพูน เล็งหนุนตราสินค้า “ลำพูน แบรนด์” (Lamphun Brand) เพื่อให้ผ้าทอพื้นเมืองลำพูนที่ผสมผสานนวัตกรรมวิจัยสุดล้ำ ด้านหัตถอุตสาหกรรมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามผลงานผู้ประกอบการกลุ่มผ้าทอ จ.ลำพูน ที่ได้รับการถ่ายทอดผลงานวิจัย ภายใต้โครงการ “การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับสิ่งทอพื้นเมือง” ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2562 ณ บ้านก้อทุ่ง ต.ก้อ อ.ลี้ และบ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จังหวัดลำพูน ว่า สท. เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดำเนินงานให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแบบครบวงจร (One Stop Service) โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจสู่ชุมชน โดยนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และพันธมิตรสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรและชุมชนให้ก้าวทันเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและชุมชน
ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวต่อว่า สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากโครงการสร้างผู้นำชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนภาคเหนือด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งครอบคลุม 6 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา และ ลำพูน โดย สวทช. ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ผู้นำชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอพื้นเมือง ได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถที่จะนำไปถ่ายทอดต่อให้ชุมชนหรือเครือข่ายของตนเองได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกลุ่มได้ ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีผู้นำชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวน 20-25 คนต่อจังหวัด สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 8 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม เป้าหมายที่ 2 เพิ่มความสามารถในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการและคุณภาพชีวิตของประชาชน ตอบโจทย์เรื่องผลงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ถูกนำไปใช้ในการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับภาคการผลิตและบริการ และภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี พื้นที่จังหวัดลำพูนถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. และมีพื้นที่ประสบความสำเร็จแล้ว 2 พื้นที่ ในการนำงานวิจัยไปขยายผล ได้แก่ บ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง โดยผู้นำกลุ่มได้เข้าร่วมโครงการสร้างผู้นำถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีกับ สวทช. เพื่อแก้ปัญหาผ้าฝ้ายที่แข็งกระด้าง ให้นุ่มลื่น ช่วยป้องกันสีซีดจาง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองให้เป็นผ้าฝ้ายที่มีคุณสมบัติพิเศษ ทั้งสะท้อนน้ำ กันยูวี ป้องกันสีซีดจาง และเนื้อผ้านุ่มลื่นขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาผ้าฝ้ายได้ตรงจุด ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านหนองเงือก นำองค์ความรู้มาประยุกต์และสร้างผลิตภัณฑ์นาโนที่หลากหลาย สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เทศบาลตำบลแม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวหมู่บ้านหนองเงือก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีวิถิชีวิตและภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งเป็นหัวใจของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเปิดมุมมองใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือปฏิบัติ สัมผัสขั้นตอนการผลิตผ้าทอมือที่ประยุกต์เข้ากับนวัตกรรมวิจัยล้ำยุคได้อย่างลงตัว
สำหรับอีกพื้นที่เป็นพื้นที่ขยายผลจากชุมชนต้นแบบบ้านหนองเงือก ซึ่ง สวทช. ได้หารือร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน เพื่อต้องการจะพัฒนาชุมชนเป้าหมายในจังหวัดลำพูนนั้น คือ บ้านก้อทุ่ง อ.ลี้ โดย สท. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคเหนือตอนบน (ศวภ.1) และศูนย์วิชาการเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับเส้นใยฝ้ายทอมือให้มีขนาดที่เล็กลง ทำให้เส้นฝ้ายมีหลายสีผสมกัน เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดวัตถุดิบ ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าทึ่ง และสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งยังได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนกับผลิตภัณฑ์ผ้าทอยกดอกฝ้ายสีธรรมชาติให้มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มทอผ้าฯ อีกด้วย
“ทั้งสองหมู่บ้านยังได้นำเทคโนโลยีอื่นๆ ของ สวทช. ไปปรับใช้ในกระบวนการผลิต เช่น “เอนไซม์เอนอีซ (ENZease)” เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวัน ซึ่งผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center: TBRC) สวทช. โดยจุลินทรีย์นี้สามารถทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน คือ pH 5.5 และที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เอนไซม์เอนอีซมีจุดเด่นสำคัญคือ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพความแข็งแรงของผ้า สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยถนอมคุณภาพของผ้าฝ้ายให้คงคุณภาพสูง ผ้าไม่ถูกทำลายเหมือนการใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโนโลยีพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ ที่ สวทช. พัฒนาสีธรรมชาติให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการพิมพ์บนผ้าทอ แทนการใช้สีเคมี ด้วยการคิดค้นวิธีการเตรียมสีให้อยู่ในรูปสารละลายเข้มข้น หรือผงพร้อมใช้ โดยขั้นตอนการพัฒนาเริ่มจากการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ใบลำใย เปลือกต้นสะเดา ดอกดาวเรือง นำมาต้มสกัดในน้ำและทำการระเหยจนได้น้ำสีสารละลายเข้มข้น แต่หากต้องการเก็บไว้ใช้ในรูปของผงสี ก็เพียงนำสีสารละลายเข้มข้นมาผ่านลมร้อนในเครื่องสเปรย์ดราย ก็จะได้ผงสีพร้อมใช้ ” ผู้อำนวยการ สท. กล่าว
ผู้อำนวยการ สท. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามภายใต้โครงการ “การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับสิ่งทอพื้นเมือง” จะเห็นความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนด้วยองค์ความรู้งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3 เรื่อง คือ 1. การพัฒนาทักษะผู้ผลิต ด้วยการบริหารจัดการองค์ความรู้และแสวงหากลไก สร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการสื่อสารข้อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยี 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการปรับประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3. การพัฒนาชุมชน สังคม ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ผลิตที่มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจนสามารถออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งผลกระทบต่อรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่ม ของชุมชนและมีความยั่งยืนในอาชีพได้
นางมาลี กันทาทรัพย์ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือ-ผ้าฝ้ายนาโนบ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า บ้านหนองเงือกเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมผูกพันกับอาชีพทอผ้ามายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สภาพปัญหาการผลิตผ้าทอพื้นเมืองที่ผ่านมา มักจะมีปัญหาผ้าฝ้ายแข็งกระด้างผู้บริโภคไม่นิยมนำไปสวมใส่ แต่ส่วนมากจะนำไปใช้เป็นหัตถกรรมสิ่งทอในครัวเรือน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาในการผลิต วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายฯ จึงเริ่มจากการส่งแกนนำกลุ่มทอผ้าไปอบรมเทคโนโลยีกับ สวทช. แล้วนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาต่อยอดปรับใช้กับการผลิตผ้าทอพื้นเมืองบ้านหนองเงือก เช่น การใช้คุณสมบัติพิเศษจากนาโนเทคโนโลยี มาเคลือบผ้าฝ้ายและตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ช่วยแก้ปัญหาผ้าฝ้ายแข็งกระด้าง ให้มีความนุ่มลื่น ช่วยป้องกันสีซีดจาง สะท้อนน้ำ ยับยั้งแบคทีเรีย และมีกลิ่นหอมติดทนนาน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ช่วยแก้ไขปัญหาผ้าฝ้ายได้เป็นอย่างตรงจุด
ปัจจุบันกลุ่มผ้าทอบ้านหนองเงือกได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์และสร้างผลิตภัณฑ์นาโนที่หลากหลายช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลท่องเที่ยวประจำจังหวัดในงาน “ตำนานฝ้ายงามบ้านหนองเงือก” ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัดเข้ามาเลือกซื้อผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดลำพูน ส่วนลูกค้าที่สนใจผ้าทอที่เป็นนวัตกรรมนาโนก็เลือกซื้อผ้านาโนที่มีคุณสมบัติพิเศษ โดยราคาก่อนเคลือบขายตัวละ 1,000 บาท เมื่อผ่านการเคลือบคุณสมบัตินาโนแล้ว ขายราคาตัวละ 1,500 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้บ้านหนองเงือกได้รับคัดเลือกเป็นแกนนำหลักของเครือข่ายกลุ่มผ้าทอของจังหวัดลำพูนร่วมกับบ้านดอนหลวง ฝ้ายทอมือของหมู่บ้านหนองเหงือกยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิม ชาวหนองเงือกได้สืบสานการทอผ้าฝ้ายและกรรมวิธีจากบรรพบุรุษ และมากกว่านั้นชาวหนองเงือกมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำลวดลายดั้งเดิมมาประยุกต์ให้ทันยุคทันสมัยโดยการเพิ่มความสลับซับซ้อนและเล่นสีสันในลวดลาย เช่น ลายเกล็ดเต่าลูกอม ลายเกล็ดเต่าหมู่ ลายเกล็ดเต่าจิ๋ว ลายเกล็ดเต่าตา ลายดอกช้าง ลายดอกนก ลายดอกบัวเครือ ลายดอกขอลายไทย เป็นต้น ทำให้ลวดลายของฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือกจึงมีความหลากหลายและทันสมัยอยู่เสมอ
นางกัลยาณี เกตุแก้ว ฝ่ายการตลาดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่า บ้านก้อทุ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และกำลังจะเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ได้เข้ามาอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การปั่นเส้นด้ายฝ้าย โดยมีการปรับเส้นใยฝ้ายทอมือให้มีขนาดที่เล็กลง ทำให้เส้นฝ้ายมีหลายสีผสมกัน เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดต้นทุน ทำให้กลุ่มทอผ้าฯ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าพันคอ 3 สี จากเดิมขายราคา 200 บาท เพิ่มมูลค่าได้เป็นผืนละ 400 บาท และในอนาคตวางแผนไว้ว่าต้องการพัฒนาพื้นที่สำหรับปลูกฝ้ายสีออร์แกนิค เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนที่มีปัญหาสารเคมีตกค้าง และยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฤดูฝ้ายบานได้อีกด้วย
นอกจากนี้กลุ่มผ้าทอบ้านก้อทุ่งยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าทอยกดอกฝ้ายสีธรรมชาติซึ่งราคาขายเดิม 2,000 บาท/ผืน แต่หลังจากประยุกต์เทคโนโลยีนาโนเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเข้าร่วมกิจกรรมทดลองตลาดเคลือบผ้านาโนฟรีจำนวน 20 เมตร และเมื่อนำไปทดลองขายสามารถขายในราคา 4,000 บาท/ผืน ได้ผลตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความแปลกใหม่จากคุณสมบัติพิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปในผ้าทอ ทำให้ผ้าสีสันคมชัด สวยงามมากขึ้น ผิวสัมผัสนุ่มลื่นขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของสินค้าดีขึ้น นับเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้กลุ่มผ้อทอพื้นเมืองในจังหวัดลำพูน มีความภูมิใจและมีอาชีพที่เข้มแข็งที่จะสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองแห่งล้านนาให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นและคงอยู่สืบไป