หอมแขก (red onion) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Allium cepa จัดอยู่ในพืชตระกูลหอมใหญ่ (onion) ใบจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แผ่นใบแบนจีบตามยาว ใบกว้าง 2–4 เซนติเมตร และยาว 20 –40 เซนติเมตร เจริญเติบโตในดินแทบทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ของดิน ประมาณ 6.0-6.5 เพาะปลูกในพื้นที่อากาศเย็นในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ และอาจให้ผลผลิตไปถึงเดือนมีนาคม
หอมแขกเป็นพืชสองปี (biennial) โดยในปีแรกจะสร้างใบและหัว (buld) ซึ่งประกอบด้วยลำต้นสั้นๆ และกาบใบมีเปลืองหุ้มสีแดง ภายในมีกลีบสีม่วงแดงทำหน้าที่ในการสะสมอาหาร ที่ใจกลางของหัวเป็นจุดเจริญหรือจุดให้กำเนิด
การสร้างหัวจะขึ้นอยู่กับความยาวของวัน (day length) ได้แก่ พันธุ์วันสั้น (short day) ต้องการช่วงแสงวันละประมาณ 10-12 ชั่วโมง เป็นพันธุ์หอมแขกพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยและประเทศพม่า ส่วนพันธุ์วันยาว (long day) ต้องการช่วงแสงวันละประมาณ 14-15 ชั่วโมง เป็นพันธุ์หอมใหญ่ที่ปลูกในแถบภาคเหนือของสหรัฐอเมริกา (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ดนัย บุญเกียรติ, “หอมใหญ่”, ปี 2563, หน้า 1)
การสร้างหัวของหอมแขกขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ เมื่อเริ่มลงหัวจะหยุดสร้างใบใหม่ เมื่อหัวเริ่มแก่ ใบจะเริ่มแห้งตายจากปลายใบลงมา การแก่ของหัวสังเกตที่บริเวณคอจะเหี่ยวและพับลง ในขณะที่รากจะแห้งและตายไป
หอมแขกเป็นพืชในตระกูลเดียวกับหอมใหญ่ ซึ่งพืชในตระกูลหอมใหญ่สามารถแบ่งตามสีเปลือกชั้นนอกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีขาว (white) กลุ่มสีเหลือง (yellow) กลุ่มสีแดง (red) และกลุ่มสีแดงเข้ม (deep red)
(ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ดนัย บุญเกียรติ , “หอมใหญ่”, ปี 2563, หน้า 5)
หอมแขกที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพันธุ์วันสั้น ต้องการช่วงแสงวันละประมาณ 10-12 ชั่วโมง การสร้างหัวของหอมแขกขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 20-27 องศาเซลเซียส (Khalid Mohamud Khokhar, “Environmental and genotypic effects on bulb development in onion – a review”, 2017, 2)
การปลูกหอมแขกทำได้ 2 วิธี คือ เพาะปลูกจากกล้า หรือ เพาะปลูกจากหัวเซท (set) เกษตรกรสามารถเพาะปลูกหอมแขกทั้ง 2 วิธีนี้ได้ โดยวางแผนการผลิตก่อน 1 ฤดูกาล เพื่อเตรียมหัวเซทและเมล็ดพันธุ์สำหรับฤดูกาลปลูกในปีถัดไป