แม้จะมีทั้งสวนยางพาราและสวนส้มโอ แต่เมื่อต้องหันหลังให้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวงกลับมาดูแลพ่อที่เจ็บป่วย กิตติ ศิริรัตนบุญชัย กลับเลือกปลูก “พริกไทย” และต้องเป็น “พริกไทยตรัง” เท่านั้น
“ผมอยากให้คนตรังกินพริกไทยตรัง คนอายุ 70-80 ปี เขาภูมิใจพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรังมาก ด้วยรสชาติอร่อย เผ็ดร้อน กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ พริกไทยตรังเป็นพันธุ์ที่ดังไปถึงยุโรป แต่หากินไม่ได้แล้ว การปลูกพริกไทยถึงขายไม่ได้วันนี้ ผลผลิตก็ยังทำแห้งและเก็บไว้ได้นาน”
ไม่เพียงคิดฟื้นพริกไทยตรังให้กลับคืนมาในพื้นที่อำเภอวังวิเศษ จ.ตรัง แต่ ยังเลือกปลูกพริกไทยเพียงอย่างเดียวและมุ่งเป้าผลิตในเชิงพาณิชย์ ด้วยเชื่อว่า “ถ้าจะทำให้สำเร็จ ต้องทำอย่างเดียว” เขาศึกษาและหาข้อมูลแหล่งปลูกพริกไทยสายพันธุ์ตรังที่แท้จริง สอบถามปราชญ์ชาวบ้าน ตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเอกสารจดหมายเหตุ ควบคู่กับการลงเรียนด้านเกษตร โดยเฉพาะ “การปลูกส้ม” ไม้ผลที่ กิตติ มองว่า หากปลูกส้มได้จะปลูกพืชทุกอย่างได้
“ถ้าไม่สูงต้องเขย่ง ถ้าไม่เก่งต้องขยัน” ข้อความที่สะท้อนถึงความทุ่มเทของ กิตติ กว่า 4 ปี ที่ศึกษาข้อมูลและลองผิดลองถูกกับแปลงปลูกพริกไทยที่เริ่มจาก 24 ค้าง พัฒนารูปแบบการปลูกตั้งแต่ต้นพันธุ์ไปถึงการเก็บเกี่ยว ปัจจุบันขยายพื้นที่ปลูกขนาด 2 ไร่ มีต้นพริกไทย 800 ค้าง เกิดเป็นโมเดลการปลูกพริกไทยตรังในเชิงพาณิชย์ที่เกษตรกรและผู้สนใจลงทุนทำตามได้
“ต้นพันธุ์พริกไทย แต่ก่อนชาวบ้านใช้ไหลซึ่งใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะให้ผลผลิตและได้ปริมาณน้อย ผมจึงเปลี่ยนมาใช้ลำต้นที่สมบูรณ์ ปลูกราวปีเศษสามารถเก็บผลผลิตได้ พริกไทยออกดอกจากกิ่งข้าง ถ้ากิ่งข้างออกเร็วและต่อยอดใหม่ ผลผลิตจะมากขึ้น ส่วนค้างที่ใช้ปลูกก็ใช้เสาปูน ชาวบ้านบอกใช้ไม่ได้ มันร้อน พริกไทยจะไม่เกาะเสาค้าง แต่ผมพบว่าหากการจัดการดี พริกไทยเกาะเสาค้างปูนได้ดีและสามารถต่อยอดปลูกเชิงพานิชย์ได้”
ระหว่างที่ กิตติ เริ่มพัฒนารูปแบบการปลูก เป็นช่วงเดียวกับที่ ดร.นภัสวรรณ เลี่ยมนิมิตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) และทีมวิจัย ได้โจทย์จากพื้นที่ที่ต้องการอนุรักษ์พริกไทยตรังและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของพืชพื้นถิ่นนี้ ทำให้ได้รู้จัก กิตติ คนรุ่นใหม่ที่กล้าเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาการทำงานร่วมกัน ด้วยเป้าหมายปรับเปลี่ยนการจัดการแปลงพริกไทยแบบเดิมๆ ของเกษตรกร สู่การพัฒนาการผลิตพริกไทยตรังคุณภาพและเป็นพืชทางเลือกที่สร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านหลังกรีดยางพารา
“การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในด้านสังคมและเศรษฐกิจต้องเริ่มที่พัฒนาคน ถ้าคนในพื้นที่มีรายได้จากพริกไทยจะปลูกเองหรือรับจ้างเก็บเกี่ยวก็จะเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน เราเริ่มตั้งแต่พัฒนาคน โดยให้องค์ความรู้พื้นฐานและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อย่างเช่น ปุ๋ยไม่ใช่อาหารของพืช แต่เป็นตัวกระตุ้นให้พืชสร้างอาหาร อาหารของพืช คือ น้ำตาล ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง น้ำตาลเป็นสารตั้งต้นของสารทุกชนิดที่พืชสร้างขึ้น การส่งเสริมให้พืชสร้างน้ำตาลขึ้นจึงช่วยให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีขึ้น ในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยน เราทำความเข้าใจผ่านการอบรม แต่ปัญหาคือ เมื่ออบรมแล้วก็จบ ขาดความต่อเนื่อง หรือเกิดคำถามว่าเคยทำแบบนี้มาก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องปรับ เราจึงเกิดแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเรียนรู้จากความสำเร็จและสร้างแรงบันดาลใจ การมีต้นแบบที่ปฏิบัติจริง มีแปลงให้เข้ามาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติจริง และ มี คุณกิตติ ที่ให้ความรู้จากการปฏิบัติและทดลองจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวความคิด เปิดใจรับและปรับเปลี่ยนการปลูกแบบเดิมให้เป็นไปตามหลักวิชาการและความเข้าใจที่แท้จริง” ดร.นภัสวรรณ สะท้อนกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับ กิตติ เกษตรกรต้นแบบ โดยมีแปลงพริกไทยเป็น Hub หรือสถานีความรู้ให้เกษตรกร
ปริมาณปุ๋ยที่ใส่เพียง 100 กรัม/ต้น การปลูก 1 ต้น/ค้าง การปรับเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเพิ่มธาตุโพแทสเซียม การตัดแต่งทรงพุ่ม การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นสิ่งที่เกษตรกรได้เรียนรู้จากแปลงของ กิตติ แม้บางคนเห็นแย้ง แต่เมื่อได้ทดลองทำเปรียบเทียบกับวิธีเดิมแล้ว ต่างก็ยอมรับ
“ชาวบ้านมักคิดว่าปลูกพริกไทยต้องปลูก 2 ต้น/ค้าง จะได้จำนวนกิ่งเพิ่มขึ้นและได้ผลผลิตเยอะขึ้น แต่ความจริงแล้วทรงพุ่มที่แน่นและทึบทำให้แสงส่องผ่านไม่ได้ การสังเคราะห์แสงลดลง เกิดโรคและแมลงเพิ่มขึ้น หลายคนมองว่าผลผลิตออกตามข้อแล้วจะตัดแต่งทำไม แต่เขาลืมไปว่าส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต ทั้งขนาด ความสมบูรณ์ของช่อฝักและรสชาติ”
พริกไทยเป็นพืชที่ไวต่อปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น ปริมาณน้ำ การปลูกในเชิงพาณิชย์ต้องบริหารจัดการแปลงที่ดี กิตติ จึงให้ความสำคัญกับการปรับใช้เทคโนโลยี ซึ่ง ดร.นภัสวรรณ ได้แนะนำให้ใช้เครื่องวัดแรงดึงน้ำของดิน (tensiometer) ตรวจวัดและเก็บข้อมูล ก่อนต่อยอดใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ
“ค่าแรงดึงน้ำของดินจากเครื่อง tensiometer บอกถึงปริมาณน้ำที่พืชเอาไปใช้ประโยชน์ เป็นข้อมูลดิบ (raw data) ที่นำไปใช้บริหารจัดการน้ำในร่วมกับเทคโนโลยีระบบให้น้ำอัตโนมัติ หากไม่มีข้อมูลนี้ เทคโนโลยีระบบให้น้ำอัตโนมัติจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะการให้น้ำต้องให้อย่างเหมาะสมกับที่พืชต้องการ” ดร.นภัสวรรณ เล่าถึงการเก็บข้อมูลความต้องการน้ำของพริกไทยในแปลงของ กิตติ เพื่อเป็นข้อมูลปรับใช้กับเทคโนโลยี HandySense ของ สวทช. ซึ่งแปลงเรียนรู้พริกไทยของ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) ได้ติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวและอยู่ระหว่างทดลองนำข้อมูลไปปรับใช้ก่อนขยายผลเทคโนโลยีให้ กิตติ และเกษตรกรรายอื่นต่อไป
นอกจากมุ่งมั่นผลิตพริกไทยในเชิงพาณิชย์และเป็นแปลงเรียนรู้ให้เกษตรกรแล้ว กิตติ ยังเป็นสมาชิกกลุ่มพริกไทยแปลงใหญ่ พริกไทยตรัง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง จากความต้องการพริกไทยแห้งถึง 5 ตัน/ปี ของตลาดต่างประเทศ กิตติ ได้รับซื้อผลผลิตสดจากแปลงของสมาชิกกลุ่มฯ ที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และได้รับรองมาตรฐาน GAP คุณภาพเม็ดเต็มฝักหรือหากไม่เต็มฝัก ต้องฟันหลอไม่เกิน 30% ของช่อฝัก ราคารับซื้ออยู่ที่ 65-80 บาท/กก. ขึ้นกับคุณภาพผลผลิตที่นำมาขาย
“พริกไทยในประเทศมีราคาถูกและปลูกเองได้ แต่ต่างประเทศไม่ใช่ทุกประเทศที่ปลูกได้ ผมจึงหาตลาดที่เห็นคุณค่าพริกไทยของเรา สิ่งสำคัญและหน้าที่ผม คือ ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ทำให้ดี แห้ง เม็ดสวย สะอาดแล้วรวบรวมบรรจุส่ง”
สำหรับตลาดในประเทศ กิตติ เน้นกลุ่มร้านอาหารระดับบน ให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเม็ด ทำความสะอาดเม็ดด้วยระบบน้ำอาร์โอ (RO) การเก็บรักษาไปจนถึงบรรจุในถุงสุญญากาศปริมาณ 250 กรัม ที่สะดวกต่อการใช้งาน และยังคงคุณภาพของพริกไทยตรังที่มีกลิ่นหอม รสสัมผัสค่อยๆ เผ็ดร้อน กิตติ จำหน่ายพริกไทยดำราคากิโลกรัมละ 800 บาท พริกไทยขาว 1,200 บาท และพริกไทยแดง 1,500 บาท โดยเขามองว่า ของดีอยู่ถูกที่จะมีค่า
ผลผลิตตกเกรดหรือแม้แต่เศษก้านของพริกไทย กิตติ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ก้านพริกไทยแปรรูปเป็นธูปกันยุง พริกไทยที่หล่นจากการร่อนนำมาผลิตเป็นน้ำหมักไล่แมลง หรือแม้กระทั่งพริกไทยขาวที่ตกเกรดนำไปเป็นส่วนผสมของขนมกรอบเค็ม
ด้วยอัตลักษณ์ของพริกไทยตรังที่มีมูลค่าอยู่แล้วในตัวเอง จากเดิมราคา 300-400 บาท/กก. ขยับเป็น 800 บาท/กก. ขณะที่พริกไทยทั่วไปราคาเฉลี่ย 120-150 บาท/กก. แม้มีราคาจำหน่ายที่สูงและเป็นที่ต้องการของตลาด แต่พื้นที่ปลูกพริกไทยตรังของจังหวัดมีไม่มาก คาดการณ์กำลังการผลิตและปริมาณผลผลิตพริกไทยสดอยู่ที่ 9 ตัน/ปี หรือเป็นพริกไทยแห้งประมาณ 3 ตัน/ปี แต่ที่อำเภอวังวิเศษ อำเภอปะเหลียน และอำเภอนาโยง เป็นพื้นที่ผลิตพริกไทยมากสุด กลับมีผลผลิตพริกไทยแห้งรวมประมาณ 1.9 ตัน/ปี
แปลงเรียนรู้การปลูกพริกไทยตรังเชิงพาณิชย์ของ กิตติ และองค์ความรู้ที่ได้รับเสริมเพิ่มจาก ดร.นภัสวรรณ เป็นจุดขยายความรู้ให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนการจัดการแปลงและผลผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตพริกไทย จากเดิมที่เกษตรกรผลิตได้ประมาณ 250 กรัม/เสาค้าง หากจัดการได้ดีสามารถเพิ่มเป็น 1 กก./เสาค้าง หรือปริมาณเม็ดจากเดิม 55 เม็ด/ฝัก เพิ่มเป็นเฉลี่ย 90 เม็ด/ฝัก
ดร.นภัสวรรณ บอกว่า ถ้าทุกแปลงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการจัดการและการดูแลแปลงจะเพิ่มผลผลิตพริกไทยตรังได้ โดยเกษตรกรไม่ต้องเพิ่มจำนวนแปลง
“พริกไทยไม่สามารถปลูกได้ทั่วโลก แต่คนทั่วโลกกินพริกไทย เมื่อใดที่เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากถึงความต้องการของตลาดได้ นั่นคือความสำเร็จของผม ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ถ้าเกษตรกรเรียนรู้ ลงมือทำและพัฒนาไปพร้อมกับผมที่เป็นตลาดให้ด้วย” กิตติ กล่าวทิ้งท้าย
# # #
กิตติ ศิริรัตนบุญชัย
กลุ่มพริกไทยแปลงใหญ่พริกไทยตรัง ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง
โทรศัพท์ 086 7026514
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567)
สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) มีความร่วมมือพัฒนาสถานีเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร (Training Hub) ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นพื้นที่สาธิต ทดสอบและเรียนรู้การปรับใช้เทคโนโลยีเกษตร/เกษตรสมัยใหม่ ให้เกษตรกรได้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกษตร ยกระดับทักษะความรู้บุคลากรภาคการเกษตร พัฒนาเกษตรกรแกนนำ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อีกทั้งเป็นพื้นที่ขยายผลองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. สู่ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัยและผลิตสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยนำร่องในจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา