“ชาวบ้านใช้เวลาว่างจากการเลี้ยงโคขุนมาเลี้ยงไก่พื้นเมืองใต้เป็นอาชีพเสริม โดยเฉลี่ยเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองครอบครัวละ 20–30 ตัว การเลี้ยงไก่พื้นเมืองใช้ต้นทุนต่ำ ระยะเวลาเลี้ยงจนถึงจับขายสั้นกว่าการเลี้ยงโคขุน แม้ว่าจะเลี้ยงไก่เป็นอาชีพเสริม เราต้องมีความรู้และจัดการให้ดี ไม่อย่างนั้นจะขายไม่ได้ ไก่หนึ่งตัวก็มีค่า มีต้นทุนทั้งทรัพย์สินและเวลาของเรา การพัฒนาทักษะความรู้และต่อยอดให้มีรายได้เพิ่ม นั่นคือ อาชีพเสริม” วีรชัย นิ่มโอ เจ้าของพี่น้องเจริญฟาร์ม ต.ป่าบอนต่ำ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง แกนนำกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองจังหวัดพัทลุง และอดีตนักส่งเสริมการเกษตรของฟาร์มไก่บริษัทเอกชน สะท้อนแนวคิดการสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านนอกจากการทำสวนยางพาราและการเลี้ยงโคขุนที่เป็นอาชีพหลัก
“เราต้องการทำเป็นอาชีพและมีรายได้ ไม่ใช่เลี้ยงสะเปะสะปะ พ่อค้ามาเป็นคนกำหนดราคา เราไม่ต้องการแบบนั้น ถ้าจะขายเราต้องเป็นคนกำหนดราคา ตลาดต้องไปแบบนี้นะ ไม่ใช่ต่างคนต่างเลี้ยง ต่างคนต่างขายเหมือนเมื่อก่อน เราก็มาจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้การจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยง การให้อาหาร การให้วัคซีนจนถึงแปรรูป”
แม้จะคลุกคลีกับแวดวงฟาร์มไก่เอกชนมากว่า 10 ปี แต่ วีรชัย ยังต้องการเติมเต็มความรู้เพื่อให้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ได้จริง จึงเป็นจุดเริ่มให้เขาแสวงหาความรู้จากสถานีเรียนรู้ด้านการเกษตร (Training Hub) ในโครงการพัฒนาการผลิตไก่พื้นเมืองด้วยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) โดยได้ทดลองเลี้ยง “ไก่ขาวดอกแค” ที่ ดร.ณปภัช ช่วยชูหนู และทีมงาน คณะเกษตรศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์ไก่ศรีวิชัย ของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
“ไก่พื้นเมืองมีไขมัน คอเลสเตอรอลและสารพิวรีนต่ำ เหมาะที่จะเป็นอาหารสุขภาพ ไก่พื้นเมืองโดยทั่วไปเจริญเติบโตช้า แต่ไก่ขาวดอกแคที่เราปรับปรุงพันธุ์มีระยะเวลาเลี้ยงสั้นประมาณ 10-12 สัปดาห์ ก็ขายได้ เนื้อนุ่ม แน่น ไม่เหนียว เราตั้งเป้าให้เกษตรกรเลี้ยงแบบมืออาชีพ คือ เลี้ยงเป็นและขายเป็น”
วิธีการเลี้ยงลูกไก่แต่ละระยะ การให้อาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย สูตรอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น การจัดการเล้าไก่-ศัตรูธรรมชาติ วิธีเชือดชำแหละไก่ ไปจนถึงการคิดคำนวณต้นทุนการเลี้ยง การบันทึกข้อมูล การหาตลาดและกำหนดราคาขาย เป็นองค์ความรู้ที่ วีรชัย ได้เรียนรู้จากโครงการฯ และส่งต่อความรู้ให้สมาชิกกลุ่มฯ และยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้สนใจได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้พื้นที่บ้านของตนเองเป็น Hub ความรู้ที่ได้รับจาก ดร.ณปภัช และโครงการฯ
“นอกจากสอนให้เกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นแล้ว เราให้อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์ห่วงโซ่การผลิต จุดใดที่เกษตรกรเลี้ยงแล้วเขาจะได้เงิน เขาถึงจะอยู่ได้ อย่างการให้อาหาร ต้องให้อย่างมีศักยภาพ ให้แล้วไก่กินได้ ไม่ใช่สัตว์อื่นได้กิน ถึงระยะที่ต้องเชือด ไม่ต้องเสียดาย อย่าเลี้ยงเกิน เพราะต้นทุนการเลี้ยงจะสูงขึ้น”
ด้วยมีประสบการณ์จากฟาร์มไก่เอกชนเป็นทุนเดิมบวกกับความตั้งใจให้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เสริมอย่างแท้จริง หลังเข้าร่วมโครงการฯ กับ มทร.ศรีวิชัย วีรชัย ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยนำลูกไก่ไปเลี้ยงจนถึงขายได้และต่อยอดเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ผลิตลูกไก่เอง ลงทุนเพิ่มซื้อตู้ฟักไข่ รวมไปถึงเครื่องปั่นขนและอุปกรณ์บรรจุหลังชำแหละ
“ผมเริ่มตั้งแต่ต้นทางก่อน เราจะไปหวังจากอาจารย์อย่างเดียวไม่ได้ ผมต้องมีพ่อแม่พันธุ์ มีตู้ฟัก ถ้ารอลูกไก่จากมหาวิทยาลัย บางทีไม่ทันจะกระทบตลาดที่วางแผนไว้ และยังช่วยสมาชิกลดต้นทุนค่าเดินทางไปรับลูกไก่ด้วย ส่วนอุปกรณ์ที่ลงทุนเพิ่มเพื่อจะได้แปรรูปไก่เมื่อไก่ได้อายุ แต่ขายไม่ได้ ต้นทุนค่าอาหารก็จะหยุด เราสามารถเลี้ยงไก่ชุดใหม่ได้ จากที่ทดลองเลี้ยงไว้ถึง 18 สัปดาห์ ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น แล้วเนื้อไก่ไม่นุ่มอย่างที่เราโฆษณาไว้ อกเริ่มแข็ง กล้ามเนื้อต้นขาเริ่มลีบ ปุ่มขนเริ่มใหญ่ขึ้น ตราบใดที่เราขายไม่ได้ ค่าอาหารก็เพิ่ม คอกก็จะไม่ว่าง จะเป็นวงจรที่ติดพันกัน ก็เลยตัดปัญหา ลงทุนเองทั้งหมด ไม่ต้องการหวังกำไรจากสมาชิก แต่เพื่อป้องกันต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้นจากการเลี้ยงเกินระยะเวลา”
ดร.ณปภัช เสริมว่า เกษตรกรในปัจจุบันต้องรู้จักวิเคราะห์ตัวเลขต้นทุนให้ได้ จะได้รู้ว่าจุดไหนที่ต้องจ่ายเงินเยอะ จุดไหนที่ทำแล้วได้เงินเพิ่มและตัวเกษตรกรอยู่ในช่วงไหนของห่วงโซ่การผลิต ถ้าคนเดียวถือทั้งห่วงโซ่การผลิต ต้องรับความเสี่ยงสูง ระบบการผลิตปัจจุบันต้องแบ่งกันทำตามความถนัดเป็นการจัดการความเสี่ยงให้นกิจการอยู่รอดได้ ในมิติของกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องขายหรือทำตลาดกันทุกคน ไม่ต้องเพาะฟักลูกไก่กันทุกคน ต่างคนต่างทำหน้าที่ให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันก็จะขับเคลื่อนได้ ที่สำคัญคือการพัฒนาทักษะความรู้อยู่เสมอเมื่อเกิดปัญหาก็ยังสามารถแก้ไขและรักษาตลาดได้
ปัจจุบันกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองจังหวัดพัทลุงมีสมาชิก 14 คน มีสมาชิกที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองส่งเข้ากลุ่มฯ แล้ว 5 คน โดย วีรชัย จะไปให้ความรู้การเลือกพื้นที่สร้างคอกเลี้ยง เน้นใช้วัสดุที่มีอยู่แล้ว ส่วนรูปแบบคอกเลี้ยงขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละพื้นที่ จำนวนไก่ประมาณ 6-8 ตัว/ตารางเมตร ส่วนจุดคุ้มทุนการเลี้ยงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ราคาลูกไก่ อาหาร อัตราการแลกเนื้อ เป็นต้น
“ทำในพื้นฐานของสิ่งที่เขามี เขาถึงจะไปได้ เลี้ยงแล้วขายได้ก็ขายเลย ถ้าขายไม่ได้ ผมรับซื้อ ผมมีข้อมูลต้นทุนที่อาจารย์ช่วยทำ ก็เอาข้อมูลมาแนะนำให้สมาชิกเพื่อตัดสินใจ ให้ความรู้ทำอย่างไรถึงจะลดต้นทุน อย่างเรื่องอาหาร อาจารย์ช่วยปรับสูตรโปรตีนโดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด หรือการใช้อาหารเสริม เช่น จอก แหนแดง สาหร่ายหางกระรอก ใช้ 10-15% ถ้าใช้มากคุณภาพไก่จะเปลี่ยน อกแหลม เนื้อน้อยและเหนียว หรือการใช้หนอนแมลงวันลายเสริมโปรตีนและลดต้นทุนการผลิต ที่เป็นองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับถ่ายทอดจาก สวทช. ก็เอามาพูดคุยกับสมาชิกให้ได้รู้ ทุกอย่างต้องมีความรู้ก่อน ถ้าไม่มีความรู้ก็ไปต่อไม่ได้ ตอบคนอื่นไม่ได้ ก็ไม่เกิดกลุ่มฯ” วีรชัย สะท้อนการทำงานและส่งต่อความรู้ให้สมาชิกกลุ่มฯ
“ไก่พื้นเมืองแดนใต้” ไม่เพียงเป็นชื่อเพจเฟซบุ๊ก (facebook) ที่ ดร.ณปภัช ตั้งใจให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับการผลิตไก่พื้นเมืองคุณภาพ หาก วีรชัย ยังใช้เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่ ด้วยเนื้อที่นุ่มแน่น ไม่เหนียว ใช้เวลาปรุงสุกน้อย โดยราคาจำหน่ายไก่พื้นเมืองชำแหละของกลุ่มฯ อยู่ที่ 140 บาท/กก.
“ถ้าจะทำเพื่อตัวเอง ผมไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มแล้ว ผมเดินได้แล้ว แต่ถ้าชาวบ้านต้องการมีรายได้เสริม ก็เข้ามาร่วมกัน ทำแบบมีความรู้ เลี้ยงไก่พื้นเมืองไม่ได้ทำให้รวย อย่างน้อยก็ทำให้เรามีกิน ลูกเราได้กินไก่ที่ปลอดภัยกว่า”
# # #
วีรชัย นิ่มโอ
พี่น้องเจริญฟาร์ม ต.ป่าบอนต่ำ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง
โทรศัพท์ 088 392694
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567)
สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) มีความร่วมมือพัฒนาสถานีเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร (Training Hub) ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นพื้นที่สาธิต ทดสอบและเรียนรู้การปรับใช้เทคโนโลยีเกษตร/เกษตรสมัยใหม่ ให้เกษตรกรได้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกษตร ยกระดับทักษะความรู้บุคลากรภาคการเกษตร พัฒนาเกษตรกรแกนนำ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อีกทั้งเป็นพื้นที่ขยายผลองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. สู่ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัยและผลิตสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยนำร่องในจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา