“ในระยาวเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่แค่ปลูกผักผลไม้ แต่ต่อยอดไปเรื่องท่องเที่ยวได้” มุมมองของ นที มูลแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนสะเมิงออร์แกนิค อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ จากประสบการณ์ที่ได้ขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ในอำเภอสะเมิงมากว่า 5 ปี ซึ่งอำเภอสะเมิงเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวเชียงใหม่ “Winter of CNX เมียงมองลอง (แอ่ว) เชียงใหม่ในมุมใหม่” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ และผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมในเชียงใหม่*

*กิจกรรมภายใต้โครงการการส่งเสริมกระบวนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรชุมชน เพื่อขับเคลื่อน BCG สาขาท่องเที่ยว

แม้เส้นทางอาชีพจะเป็นสายงานวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ด้วยความชอบด้านเกษตร นที ศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ควบคู่ไปด้วย จนมาลงหลักปักฐานที่บ้านภรรยาในอำเภอสะเมิง 

“กลุ่มเรารวมตัวจากที่นายทุนเข้ามาซื้อที่มากขึ้น คนทำเกษตรลดน้อยลง พวกเราที่เป็นคนรุ่นใหม่เห็นว่าเราต้องใช้ประโยชน์จากพื้นที่แทนที่จะขายให้นายทุน ก็มองกันที่การทำเกษตรอินทรีย์ เพราะรู้อยู่แล้วเกษตรเคมีไม่ดีต่อทั้งคนปลูกและคนกิน เริ่มหาเครือข่ายคนทำเกษตรอินทรีย์ จากที่ต่างคนต่างทำเกษตรก็มาทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายให้คนทำเกษตรอยู่ในพื้นที่ได้ด้วยเกษตรอินทรีย์”

วิสาหกิจชุมชนสะเมิงออร์แกนิค มีสมาชิก 18 คน โดยมีสมาชิก 7 รายเป็นผู้ผลิตผักในระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม TOAF PGS ชนิดผักที่ปลูก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี แตงกวาญี่ปุ่น คะน้าฮ่องกง มี “ธรรมธุรกิจ” เป็นตลาดรับซื้อหลักทั้งผักและผลไม้สัปดาห์ละ 2 ตัน และจัดส่งเองให้ร้านอาหารในตัวเมืองเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มฯ ยังได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีกล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ Water Fit Simple จากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ช่วยให้การปลูกผักบนที่สูงของพวกเขาสะดวกขึ้น

“เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับสภาพพื้นที่เพาะปลูกเพราะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เราสามารถตั้งเวลารดน้ำแปลงผักได้แทนที่จะขับรถไปกลับ 7 กิโลเมตร เพื่อรดน้ำผัก”

นอกจากพืชผักเมืองหนาวที่เป็นผลผลิตของกลุ่มฯ แล้ว “อะโวคาโด” เป็นไม้ผลที่ปลูกในพื้นที่มากว่า 10 ปี แต่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ที่ชัดเจนได้ ชาวบ้านจึงเรียกเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งไม่เป็นที่นิยมเท่าสายพันธุ์บูธ 7 (Booth-7) บัคคาเนียร์ (Buccaneer) หรือแฮส (Hass)

“ต้นที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่อายุมากแล้วเอาต้นใหม่มาเสียบไม่ได้ แต่ยังให้ผลผลิต ก็เก็บผลผลิตหรือรอตัดทิ้ง  ซึ่งผลผลิตขายได้ปริมาณหนึ่ง ราคาแพงสุดประมาณ 35-40 บาท/กก. ช่วงที่ออกเยอะมาก ราคาประมาณ 20 บาท ขายไม่ได้ก็ต้องทิ้ง”

เมื่อต้นอะโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองยังคงให้ผลผลิต แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่คุ้มค่าได้ กลุ่มฯ ได้รับคำแนะนำและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยียกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์* จาก สท. โดยสกัดน้ำมันอะโวคาโดเพื่อใช้ผลิตเครื่องสำอาง เช่น โลชั่น สบู่เหลว แชมพู ครีมนวดผม

“อะโวคาโดเป็นซูปเปอร์ฟู้ด (super food) ทานสดได้ สกัดน้ำมันทานได้และนำไปเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เรารับซื้อจากสมาชิกแล้วเอามาตากแห้งก่อนสกัดเป็นน้ำมัน ซึ่งอะโวคาโด 100 กิโลกรัมแห้งสกัดได้น้ำมัน 1 ลิตร ตอนนี้เราอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อขอมาตรฐาน อย.” 

*กิจกรรมภายใต้โครงการการส่งเสริมกระบวนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรชุมชน เพื่อขับเคลื่อน BCG สาขาท่องเที่ยว  

การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นวิธีที่ นที ใช้จัดการผลผลิตที่ตกเกรดหรือมากเกินความต้องการตลาด และยังเพิ่มมูลค่า สร้างราคาและรายได้ให้สมาชิกกลุ่มฯ ผักและผลไม้หลากชนิดของสมาชิก เช่น อะโวคาโด เสาวรส บีทรูท เคล มันม่วง นำมาแปรรูปเป็นส่วนผสมในไอศกรีมรสชาติต่างๆ ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 14 รสชาติ  วางจำหน่ายที่ร้านกาแฟเล็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นสถานที่พบปะพูดคุยของสมาชิกรวมถึงจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มฯ ด้วย นอกจากนี้ นที และสมาชิก ยังทดลองปลูกข้าวสาลี ซึ่งสะเมิงเป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตข้าวสาลีสูงกว่าพื้นที่อื่น กลุ่มฯ มุ่งเน้นผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลีอินทรีย์และมองถึงการต่อยอดผลผลิตข้าวสาลีเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ

การนำเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักอินทรีย์ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การเชื่อมโยงตลาดอินทรีย์ ไปจนถึงการเป็นจุดหมายหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวเชียงใหม่ “Winter of CNX เมียงมองลอง (แอ่ว) เชียงใหม่ในมุมใหม่” ที่มีทุ่งข้าวสาลีอินทรีย์เหลืองทอง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสลิ้มลอง เหล่านี้เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กลุ่มฯ มุ่งหวังให้ “เกษตรอินทรีย์วิถีสะเมิง” สามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้คนทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ได้นั่นเอง

# # #

วิสาหกิจชุมชนสะเมิงออร์แกนิค
ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์ 081 7512191
www.at-samoeng.com/organic
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

มีอาชีพ มีรายได้ที่บ้านเกิด ด้วย ‘เกษตรอินทรีย์วิถีสะเมิง’