“แต่ก่อนไม่มีรายได้จากผัก เดี๋ยวนี้ได้วันละ 40-50 บาท บางวันได้ 100-200 บาท ผักที่เราปลูกเองกินอร่อยกว่า ไม่ต้องซื้อผักจากตลาดแล้ว” วันเพ็ญ บุญเชิด เล่าด้วยรอยยิ้มระหว่างที่รดน้ำแปลงผักน้อยๆ ของเธอ

วันเพ็ญ เป็นสมาชิกกลุ่มปลูกผักบ้านบุตาโสม ต.เมืองบัว อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เธอได้รับจัดสรรพื้นที่ขนาด 1.5×7 เมตร เป็นหนึ่งในแปลงผักนับสิบแปลงบนพื้นที่เกือบ 1 ไร่ ด้านหลังโรงเรียนบ้านบุโสม จากพื้นที่รกร้าง สภาพดินที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นแปลงผักเขียวขจีเต็มพื้นที่ ด้วยความตั้งใจของ เสมอ กระจ่างจิต ผู้ใหญ่บ้านบุตาโสม ที่ต้องการให้ลูกบ้านได้รับประทานผักปลอดภัย

“ชาวบ้านพบสารเคมีตกค้างในเลือดกันทุกคน เราทำนาปีละครั้ง การรับสารเคมีอาจไม่เยอะเท่าผักที่เราซื้อกินทุกวัน วิธีที่เราพอจะป้องกันได้ก็คือ ปลูกผักกินเอง”

เสมอ ใช้เวลากว่า 2 ปี ปรับปรุงพื้นที่บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และขี้วัว ก่อนจะแบ่งพื้นที่ให้สมาชิกรุ่นบุกเบิก 10 คน ได้จับจองปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเอง

“ปีแรกใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 1 งานกว่าๆ แบ่งพื้นที่กัน รับผิดชอบแปลงตัวเองเป็นหลัก ปลูกผักที่อยากกิน ปลูกได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้นไม่ใหญ่ ไม่งาม บางทีก็ยืนต้นตาย”

ช่วงปี พ.ศ. 2565 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ลงพื้นที่สร้างความร่วมมือและขยายผลการทำงานในตำบลเมืองบัว เสมอ มีโอกาสเข้าร่วมประชุมและได้นำเสนอปัญหาการผลิตผักของกลุ่มฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่ สท./สวทช. ได้เข้าถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กลุ่มฯ

“เราปลูกแบบรู้ แต่รู้ไม่จริง ไม่ได้ศึกษาดิน ปุ๋ยหรือการใช้สารชีวภาพต่างๆ ปลูกแน่นไปเพราะอยากได้เยอะ ดูแลก็ไม่ถูกวิธี อยากให้ผักงามก็ใส่แต่ปุ๋ยและน้ำหมัก พอ สท./สวทช. ลงมาให้ความรู้ตั้งแต่การเตรียมแปลง การเพาะกล้า ระยะปลูก รวมไปถึงการคิดต้นทุน-กำไรการผลิต เราเห็นความเปลี่ยนแปลง ผักโตและงาม คนมาเห็นก็อยากซื้อ จากที่ปลูกกินเอง สมาชิกก็ได้ขายด้วย” 

นอกจากองค์ความรู้การปลูกพืชผักแล้ว สมาชิกกลุ่มฯ ยังได้เรียนรู้การใช้ “โรงเรือนปลูกพืช” อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้พวกเขาปลูกผักได้ทุกฤดู

“ที่ผ่านมาเรามีปัญหาหน้าฝนปลูกผักไม่ได้ ผักไม่โต การมีโรงเรือนจะช่วยเราได้ แล้วเรายังได้รู้วิธีที่จะใช้โรงเรือนให้คุ้มค่า วิธีคำนวณพื้นที่ปลูก จำนวนต้นที่จะปลูก การคิดต้นทุนและกำไรเป็นตารางเมตร เราเริ่มเรียนรู้มากขึ้นและมองไปถึงอนาคตว่าถ้าจะปลูกขายเชิงตลาด ก็น่าจะเป็นไปได้”

โรงเรือนปลูกพืชโครงสร้างไม้ไผ่ขนาด 2.5×11.6×2.5 เมตร จำนวน 2 หลัง และโรงเรือนปลูกพืชโครงสร้างเหล็กขนาด 3x6x2.5 เมตร (ดัดแปลงจากโครงเต็นท์เก่า) จำนวน 1 หลัง ตั้งเรียงอยู่ริมพื้นที่ เป็นโรงเรือนที่  เสมอ เขียนโครงการ “หมู่บ้านนำร่องปลูกผักปลอดภัย” ขอรับสนับสนุนงบประมาณจาก อบต.เมืองบัว จำนวน 20,000 บาท และได้รับสนับสนุนพลาสติกคลุมโรงเรือนจาก สท./สวทช.

“เราใช้รูปแบบโรงเรือนของ สท./สวทช. สร้างโรงแรกเสร็จก็ล้ม เพราะเราอ่านแบบผิด ก็ทำกันใหม่ ส่วนไม้ไผ่ในพื้นที่หายาก ที่มีอยู่ไม้ก็ไม่ตรง ต้องซื้อจากพื้นที่อื่น ตอนนี้ก็ปลูกไม้ไผ่ไว้เองแล้ว ต่อไปจะได้เอามาทำโรงเรือน”

เมื่อได้เติมเต็มความรู้ ผลผลิตผักที่งอกงาม เป็นแรงดึงดูดให้ชาวบ้านสนใจเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น จาก 10 คน ขยับเป็น 19 คน ขณะที่พื้นที่มีจำกัด ยรรยง ปลาเงิน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต้องจัดสรรแบ่งพื้นที่ให้เพียงพอ รวมไปถึงพื้นที่ในโรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำ

“การปลูกผักเปลี่ยนวิถีคนในชุมชนไปเยอะ ชาวบ้านเริ่มไม่กินผักตลาด เริ่มเข้าใจผักตลาดกับผักที่ปลูกเองต่างกันอย่างไร แล้วการปลูกผักยังสร้างความสามัคคีในชุมชน ลูกบ้านที่เคยทะเลาะกัน จับมาปลูกผักแปลงใกล้กัน คุยกันไปคุยกันมา เดี๋ยวก็ดีกันเอง”

ช่วงเช้าและเย็นของทุกวัน สมาชิกกลุ่มฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจะเข้ามาดูแลรดน้ำแปลงผักของตนเองและแปลงข้างเคียง ตัดเก็บผลผลิตที่พร้อมบริโภค หากมีเหลือเกินความต้องการ นำไปแบ่งขายราคาถูกให้ชาวบ้าน

“ราคาขายถูกกว่าท้องตลาดและได้ปริมาณเยอะกว่า เช่น สลัด ตลาดขาย 30 บาท/กอ แต่เราขาย 10 บาท เราไม่กำหนดชนิดผักที่ปลูก แต่ไม่ให้ซ้ำกันมากไป เพราะถ้าเหลือขายจะขายไม่หมด หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเล็ก ก็เริ่มมีสมาชิกไปขายต่างหมู่บ้านบ้างแล้ว พอเริ่มมีรายได้ ก็เริ่มขยันดูแลผักดีกว่าที่ผ่านมา คนที่ขยันมีรายได้จากผักเดือนละ 2-3 พันบาท จากเดิมที่ปลูกแล้วเก็บกินได้ก็เก็บกิน ถ้าตาย ก็แล้วไป แต่หลังจากได้รับความรู้และมีรายได้จากการขายผัก การดูแลเอาใจใส่ดีขึ้นเยอะ”

การเกิดขึ้นของแปลงผักปลอดภัยในชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อสุขภาพ รายได้และความสามัคคีของชาวบ้าน ซึ่ง เสมอ ตั้งใจให้พื้นที่ปลูกนี้เป็นแปลงเรียนรู้ให้ชุมชน

“จุดนี้เป็นแปลงสาธิตให้คนสนใจมาเรียนรู้ มาลองทำฝึกฝีมือ ทำเก่งแล้ว รู้จักคำนวณแล้วไม่ขาดทุน ได้กำไร พอมองเห็นอนาคต ก็ขยายไปใช้พื้นที่นาตัวเอง ขยับเป็นรายได้เสริมต่อไปได้”

ยรรยง เสริมว่า รายได้ต่อครัวเรือนของชาวบ้านไม่เกิน 150,000 บาท/ปี รายได้จากผักเอาไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถ้าจะให้ปลูกผักเป็นรายได้หลักของครอบครัว ต้องเรียนรู้แล้วไปทำในพื้นที่ตัวเองและมีมาตรฐานรับรอง

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2567 เสมอ เป็นตัวแทนกลุ่มไปศึกษาดูงานการผลิตพืชผักในระบบเกษตรอินทรีย์ที่สวนจิราภาออร์แกนิคและสวนปันบุญ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เครือข่ายการทำงานของ สท./สวทช. ที่นั่นได้จุดประกายความคิดและความฝันให้ เสมอ ต้องการขับเคลื่อนการปลูกผักของกลุ่มฯ ไปถึงการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand และสามารถส่งจำหน่ายโรงพยาบาลในพื้นที่

“ตอนนี้ต้องทำให้เก่งก่อน ใช้ประโยชน์จากแปลงสาธิตที่เรามีอยู่ ศึกษาและฝึกฝนให้ถ่องแท้ ปลูกผักต้องใส่ใจ ดูแลสภาพดิน น้ำเป็นอย่างไร มีอะไรมารบกวนผัก เราจะจัดการอย่างไร ต้องรู้วิธี พัฒนาตัวเอง ถ้าเราได้มาตรฐาน จะยกระดับผักเราได้ เวลาไปขาย ก็สร้างความเชื่อมั่นได้” เสมอ ทิ้งท้าย

# # #

กลุ่มปลูกผักบ้านบุตาโสม
ต.เมืองบัว อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์
โทรศัพท์ 096 6414630
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

ผักแซ่บๆ ปลูกด้วยความรู้ ดีต่อกาย ดีต่อรายได้