“เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยหลักของเกษตรกร ถ้าขายแต่ข้าวให้โรงสี เกษตรกรอยู่ไม่รอด เพราะราคาอยู่ที่เขาจะกำหนด แต่เมล็ดพันธุ์เรากำหนดราคาได้ เป็นรายได้ที่เกษตรกรสามารถทำได้” ธนากรณ์ พาโคมทม  ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ บอกเล่าถึงการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกร

ชีวิตที่เติบโตมากับผืนนาข้าวในตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่เป็นแหล่งปลูกพันธุ์ข้าวหอมมะลิเลื่องชื่อ ก่อนโยกย้ายไปทำงานมนุษย์เดือนและตัดสินใจคืนถิ่นมาช่วย ประสาน พาโคมทม ผู้เป็นแม่ ขับเคลื่อนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐาน Organic Thailand

เมื่อมองเห็นโอกาสสร้างรายได้จากเมล็ดพันธุ์ ธนากรณ์ จึงชักชวนสมาชิกวิสาหกิจฯ รวมกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยอบรมเติมความรู้จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดและสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. จนสามารถยกระดับเป็นศูนย์ข้าวชุมชนวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ เป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอปทุมรัตต์ และจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2564 เพื่อจำหน่ายข้าวอินทรีย์และเมล็ดพันธุ์ข้าวของกลุ่มฯ

“สท./สวทช. และศูนย์ข้าวฯ เข้ามาให้ความรู้และผลักดันให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ สมาชิกก็สนใจเพราะขายได้ราคาสูง จากเดิมไม่เคยขาย เก็บไว้ใช้เองหรือแลกเปลี่ยนในเครือญาติ ก็ขายให้ศูนย์ข้าวฯ ราคา 17-18 บาท/กก.”

จากที่เคยหว่านและเก็บพันธุ์ข้าวโดยคัดรวงต่อรวง สมาชิกเริ่มต้น 20 รายได้เรียนรู้กระบวนการผลิตตั้งแต่การหยอด การปักดำ การตัดพันธุ์ปนและการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพ นอกจากองค์ความรู้แล้ว กลุ่มฯ ยังได้ใช้เทคโนโลยีเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวและเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวจาก สวทช. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“แต่ก่อนเป็นลักษณะเก็บเกี่ยวมือมากอง แล้วคัดเลือกเป็นรวง กว่าจะคัดได้ใช้เวลาหลายวัน ข้อดีคือ พันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ 100% ใช้สำหรับปลูกปีต่อไป แต่ทำในเชิงธุรกิจไม่ได้ การมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีทำให้การจัดการง่ายขึ้น นาหยอดลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์และจัดการพันธุ์ปนได้ง่ายกว่า เครื่องหยอดใช้เมล็ดพันธุ์ 8-9 กก./ไร่ แต่ถ้าหว่านต้องใช้เมล็ดพันธุ์ถึง 25-30 กก./ไร่ ส่วนปักดำใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กก./ไร่ แต่เพิ่มขั้นตอนและแรงงานถอนกล้าและปักดำ ผลผลิตที่ได้จากนาหว่านและนาดำสูสีกัน แต่ถ้าพื้นที่ไหนบำรุงดินดี ปักดำแตกกอได้ดี ก็ให้ผลผลิตสูงกว่า”

ปัจจุบันมีสมาชิก 30 รายที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิเป็นหลัก พื้นที่ปลูกคนละ 3 ไร่ โดยเป็นแปลงนาหยอดหรือนาดำที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามหลักวิชาการ เมื่อสมาชิกเก็บเกี่ยวแล้วจะส่งข้าวมาให้ ธนากรณ์ ตรวจคุณภาพ ข้าวต้องไม่มีข้าวแดงหรือข้าวพันธุ์อื่นปนและมีความชื้นไม่เกิน 14% หลังตกลงรับซื้อแล้ว ธนากรณ์ จะนำผลผลิตมาคัดและทำความสะอาด ก่อนบรรจุจำหน่ายผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัด วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ กิโลกรัมละ 24-25 บาท เป็นราคาที่จำหน่ายตลาดข้าวทั่วไป ไม่ได้เจาะกลุ่มตลาดอินทรีย์ ในแต่ละปี ธนากรณ์ รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวจากสมาชิกได้ 30-40 ตัน ซึ่งปีการผลิต 2565/2566 จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้กว่า 20 ตัน สร้างรายได้กว่า 9 แสนบาท (รวมเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่)  

“ราคาตลาดแต่ละปีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ถ้าราคาข้าวทั่วไปขึ้น ราคาเมล็ดพันธุ์ก็จะขึ้นไปด้วย แต่เราจะประกันราคารับซื้อจากสมาชิกไว้ไม่ต่ำกว่า 16 บาท สำหรับเกรด A คือ เมล็ดสวย ผิวเปลือกสวย ไม่มีพันธุ์ปน”

เมื่อหันมารับบทบาทการตลาดให้กลุ่มฯ ธนากรณ์ รับรู้ถึงแนวโน้มสายพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะหอมมะลิ 105 “หอมมะลิมีปลูกแทบทุกจังหวัด แต่ความต้องการของตลาดคือจากพื้นที่ทุ่งกุลา” เมล็ดพันธุ์ข้าวจาก หจก.วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ จึงมียอดสั่งจองล่วงหน้าและจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่กี่เดือน

“เราให้สมาชิกผลิตคนละ 3 ไร่ ผลผลิตประมาณ 400 กก./ไร่ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด แต่ถ้าให้สมาชิกทำเยอะขึ้นจะควบคุมคุณภาพการผลิตไม่ได้ โดยเฉพาะการลงแปลงตัดพันธุ์ปน 3 ระยะ (แตกกอ ออกรวง โน้มรวง) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ส่วนการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นก็จะขยายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ไปกลุ่มอื่นและกลุ่มเครือข่ายที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้จำหน่ายให้เรา เดี๋ยวนี้มีเกษตรกรจำนวนมากสนใจจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพราะราคาเป็นแรงจูงใจ แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจแปลงของเราก่อน”

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายไม่เพียงสร้างรายได้ให้สมาชิก หากยังดึงดูดให้ ธนากรณ์ สนใจที่จะเรียนรู้การผลิตข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มากขึ้น แปลงนาของเขาจึงเป็นที่ทดลองปลูกพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ก่อนขยายผลให้สมาชิกปลูก

“อยากลอง อยากเรียนรู้ว่าแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร อย่างสายพันธุ์น่าน 59 ของไบโอเทค สวทช. ก็เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะต้นไม่ล้ม ให้ผลผลิตสูง กลิ่นหอมและนุ่ม ปีที่แล้วทดลองทำ 6 ไร่ ได้ผลผลิต 3 ตันกว่า เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคมก็ขายหมด ความต้องการของตลาดยังสูง วางแผนให้สมาชิกปลูกในปีนี้ แต่ต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม คือ ดินมีคุณภาพและใกล้แหล่งน้ำ เพื่อประกันความเสี่ยงหากเกิดแล้ง”

กว่า 7 ปีที่คลุกคลีกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เปิดโอกาสให้ ธนากรณ์ ได้เรียนรู้และเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพิ่มให้สมาชิกกลุ่มฯ ที่ต่างมีรายได้จากแปลงนาเป็นหลัก

“เสน่ห์ของการทำเมล็ดพันธุ์ คือ ราคา เกษตรกรอีสานส่วนมากทำนาได้ปีละครั้ง จึงมุ่งทำเมล็ดพันธุ์ซึ่งให้ผลผลิตที่ได้ราคา ไม่ใช่ทำนาทั้งปี ไปขายข้าวไม่ได้ราคา ทำนาแทบตาย แต่ขายข้าวไม่ได้เงิน การทำเมล็ดพันธุ์ข้าวมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกมาก ด้วยราคาเป็นตัวจูงใจ แต่ก็ต้องมีองค์ความรู้จะทำเพื่อให้ได้คุณภาพ”

# # #

ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้
ต.โพนสูง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
โทรศัพท์ 085 7610855
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ผลผลิตที่ได้ราคา