“เริ่มแรกเลยเราทำนาอินทรีย์ซึ่งทำยาก คนเฒ่าคนแก่หลายคนก็ท้อ ได้แต่บอกว่าให้ทำต่อ อดทน ทำนาอินทรีย์มันยากแต่เราได้บุญ ทำผักอินทรีย์ ผักที่ไม่มียา มันก็ได้บุญ” คือที่มาที่ไปของชื่อ “สวนปันบุญ” แห่งบ้านดอนแคน ต.ฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ แหล่งผลิตข้าวและผักอินทรีย์ซึ่งคนปลูกเชื่อมั่นว่าคือสิ่งดีๆ ที่อยากแบ่งปันนับตั้งแต่ก้าวแรกของการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันบุญตั้งแต่ปลายปี 2555
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านคุ้นชินกับการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และสารกำจัดศัตรูพืชในแปลงนาจนล้มป่วยด้วยโรคผิวหนัง สะเก็ดเงิน และโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดัน และมะเร็งซึ่งคร่าชีวิตคนในหมู่บ้านไปทีละน้อย กลายเป็นคำถามที่ สุจารี ธนสิริธนากร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันบุญ ต้องการหาทางออกเพื่อเป็นทางเลือกทางรอดให้ชาวบ้านนับตั้งแต่ตัดสินใจลาออกจากการทำงานในกรุงเทพฯ เธอลงมือค้นหาคำตอบผ่านการทำงานวิจัยไทบ้านร่วมกับคู่ชีวิตและชาวบ้านที่สนใจ คำตอบที่ได้ในวันนั้น คือ การกลับมาทำนาแบบโบราณ หรือ การทำเกษตรอินทรีย์ เลิกการใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง
แม้ทุกคนจะรู้ว่าดี แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม สุจารี ยอมสละที่นาตัวเองให้เพื่อนสมาชิกทดลองปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี ผลที่ได้มากกว่าเงินจากการขายข้าว คือ สมดุลธรรมชาติที่หวนคืน ผักพื้นบ้านที่เคยสูญหายเริ่มกลับมา พร้อมกับลมหายใจและความสุขของผู้คนที่อยู่รอบข้าง
แนวคิดการทำนาอินทรีย์ถูกขยายผลไปยังกลุ่มเด็กและผู้ปกครองผ่าน “โรงเรียนชาวนาน้อย” ด้วยความทุ่มเทและตั้งใจทำให้มีหน่วยงานภายนอกเห็นความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ปันบุญ พร้อมๆ กับการเริ่มต้นปลูกผักอินทรีย์เพื่อบริโภคตามฤดูกาลบนพื้นที่ 5 ไร่เศษของครอบครัว กระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือ Organic Thailand ทั้งข้าวและผักตั้งแต่ปี 2558
ชื่อเสียงของวิสาหกิจชุมชนปันบุญเป็นที่รู้จักมากขึ้นพร้อมรางวัลการันตีในฐานะผู้ชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนดีเด่นจังหวัดกาฬสินธุ์และรางวัลลำดับที่ 2 ของเขต แต่ สุจารี ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้
“เราพยายามเรียนรู้ หาความรู้ มาพัฒนาการปลูกผักให้ได้ผล คือเราอาจจะทำแล้วยังไม่เก่ง ไม่ดีพอ ผักยังไม่งาม พอมีโรคมาแล้วเราไม่สามารถจัดการได้ ก็ไปเรียนรู้ในที่ต่างๆ จนมีโอกาสได้รู้จักโรงเรือนของ สวทช.”
ปลายปี 2560 ความพยายามที่จะปลูกผักขายให้ได้ตลอดทั้งปีเริ่มเป็นผล เมื่อสวนปันบุญได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนพลาสติกสำหรับการผลิตพืชผักคุณภาพ ขนาด 6x24x4.8 เมตร และด้วยอุปนิสัยใฝ่รู้ ชอบตั้งคำถาม ขยันหาคำตอบ สุจารีและสมาชิกเดินทางไปเรียนรู้ดูงานตามที่ต่างๆ แม้ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาด้วยทุกครั้ง คือ แนวคิดดีๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้กับสวนปันบุญอยู่เสมอ
“อย่างที่สวนแก้วพะเนาว์ จ.มหาสารคาม เราได้แนวคิดเรื่องการจัดการแปลง แบ่งแปลงกันทำ เมื่อก่อนเราใช้วิธีการทำรวมกันหมดแล้วเอาเงินมาแบ่งปันกัน แต่มีปัญหาคนทำมากทำน้อยไม่เท่ากัน ตอนหลังมาแบ่งเป็นล็อค บางคนบอกว่าไม่มีแรงทำแล้ว แต่พอเห็นคนอื่นทำได้ เราก็อยากทำได้”
โลกอินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นเสมือนครูให้สุจารี ทั้งเป็นแบบอย่างให้สมาชิกผู้สูงวัยหันมาแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องอายุและทลายกำแพงการเข้าถึงเทคโนโลยีของชาวบ้านไปได้
“พวกป้าๆ นี่เปิดยูทูปดูแล้วทำน้ำหมักสูตรนั่นสูตรนี่ตาม เขาสนใจการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะเขาเหนื่อย เมื่อก่อนปลูกผักต้องใช้สายยางรดน้ำ ใช้เวลารดครึ่งวันก็ไม่เสร็จ พอเปิดน้ำที่หนึ่งอีกที่หนึ่งก็ไม่ไหลเพราะน้ำไม่พุ่ง แต่ทุกวันนี้ใช้ระบบน้ำที่เปิดเป็นโซน รดทีเดียวได้ครั้งละ 5-6 แปลง ทำได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ชาวบ้านหลายคนกล้าที่จะซื้อสายน้ำพุ่งแล้วทำระบบน้ำ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องไปดูแล แม้แต่การมีเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มหรือระบบคอนโทรลต่างๆ เข้ามา เขาก็พร้อมจะเปลี่ยน”
บนที่ดินของครอบครัว สุจารี แบ่งปันพื้นที่บางส่วนให้สมาชิกปลูกผักโดยไม่เสียค่าเช่า แถมมีรายได้จากการปลูกผักอินทรีย์ส่งขาย เมื่อผู้ปลูกเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องหาลูกค้าเพิ่มตาม จากเดิมส่งให้โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ทุกสัปดาห์ เธอเดินหน้าหาลูกค้ารายใหม่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตบนห้างชั้นนำทั้งในจังหวัดตัวเองและใกล้เคียง สร้างหลักประกันและความภาคภูมิใจในอาชีพและรายได้แก่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนปันบุญ ซึ่งวันนี้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรปันบุญ มีสมาชิกผู้ถือหุ้นกว่า 50 คนกระจายอยู่ในพื้นที่หลายหมู่บ้านของอำเภอฆ้องชัย
“การที่เรามีโรงเรือนนี่แหล่ะเป็นจุดเปลี่ยน คือเราปลูกผักได้ตลอดทั้งปี เป็นที่แรกในกาฬสินธุ์ที่มีโรงเรือนแบบนี้ ประกอบกับได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตร พอนักท่องเที่ยวมาจะไปโรงเรือนปลูกผักแล้วถ่ายเซลฟี่ นี่เป็นเสน่ห์ เป็นจุดขาย และจุดเปลี่ยนของสวนปันบุญ คนก็มาเรียนรู้ หน่วยงานก็สนใจ”
ด้วยระยะเวลาไม่ถึงสิบปี ความภาคภูมิใจของชาวสวนปันบุญในวันนี้มีมากกว่าการปลูกผักส่งขาย เพราะได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์แก่ผู้สนใจจากทั่วสารทิศ เช่นเดียวกับความเพียรที่ทำให้ “สวนปันบุญ” ยังยืนหยัดอยู่ได้บนเส้นทางเกษตรอินทรีย์และจะยึดมั่นในการแบ่งปันสิ่งดีๆ เพื่อทุกคนต่อไป
# # #
หนังสือ วิทย์พลิกชีวิต: เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี