เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2563 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาคภาคใต้ (ศวภ.3) คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และกลุ่มเครือข่ายชาวนาวิถีวิทย์ 12 กลุ่ม ใน 11 อำเภอของจังหวัดสงขลา จัดงาน ‘เสริมแกร่งชาวนาสงขลา’ ด้วย ‘วิถีวิทย์’ ณ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา โดยได้รับเกียรติจากนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน
งาน ‘เสริมแกร่งชาวนาสงขลา’ ด้วย ‘วิถีวิทย์’ เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษเรื่อง “การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี” การเสวนาเรื่อง “กว่าจะเป็น…เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของชุมชน” “ข้าวพื้นเมืองใต้สำคัญอย่างไร” การประกวดการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี (ข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวพาณิชย์) นิทรรศการพันธุ์ข้าวจากกลุ่มเครือข่ายชาวนาวิถีวิทย์ และกิจกรรมถอดบทเรียนการดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของ สท.
จากการทำงานของ สวทช. ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ที่ได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับการผลิตข้าวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวอินทรีย์จังหวัดยโสธร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและรายได้ สร้างกลไกการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์ในระดับกลุ่มและเครือข่าย จนเกิดคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์จังหวัดยโสธร เป็นต้นแบบการปลูกข้าวอินทรีย์แบบครบวงจร และเกิดการขยายผลในพื้นที่ต่างๆ รวมถึง 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ รัตภูมิ และจะนะ ต่อมาในปีพ.ศ. 2562 สท. ได้ยกระดับการผลิตข้าวในจังหวัดสงชลา ผ่านการดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตข้าวแบบครบวงจรด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่จังหวัดสงขลา” โดยร่วมกับ ศวภ.3 คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ความสำคัญของดินและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพให้กลุ่มเครือข่ายชาวนาวิถีวิทย์ 12 กลุ่ม ใน 11 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการเพิ่มพูนและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกร เสริมสร้างศักยภาพการผลิตข้าวคุณภาพตรงตามพันธุ์ การบริหารจัดการแปลงที่ดีนำไปสู่การได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural practices) รวมถึงการเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชหลังนา การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าจากวัสดุในท้องถิ่น ตลอดจนการฟื้นฟู อนุรักษ์และขยายเชื้อเห็ดตับเต่าในพื้นที่ป่าพรุ
# # #