ยิ่งเราทำบ่อยก็ยิ่งเชี่ยวชาญ ดูคุณภาพจากสปอร์ฟุ้ง ไม่มีเส้นใย ส่งตรวจมีปริมาณสปอร์ตามมาตรฐานที่ได้รับถ่ายทอดจาก สวทช.

“ไม่ได้มองว่าชีวภัณฑ์ที่เราผลิตจะเป็นรายได้หลัก แต่การส่งเสริมให้คนใช้ เป็นสิ่งที่ต้องทำมากกว่า” คำบอกเล่าจาก สุนทร ทองคำ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บ่งบอกความตั้งใจของเขาบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ที่มี ‘ชีวภัณฑ์’ เป็นอาวุธสำคัญ

สุนทร เติบโตในครอบครัวชาวนา เห็นความยากลำบากในงานเกษตรมาแต่เล็ก เขาจึงปฏิเสธที่จะเดินตามอาชีพของครอบครัว มุ่งสู่ชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่เอื้อความสะดวกสบาย แต่เมื่อภาระงานประจำที่ถาโถม ทำให้เขาเริ่มหวนคิดถึงห้องทำงานในธรรมชาติ

ตอนนั้นมองทุกอาชีพ ถ้าไปขายของ ก็มองความแน่นอนไม่มี ถ้าจะไปรับจ้าง แล้วเราจะลาออกมาทำไม พรสวรรค์ตัวเองก็ไม่มี ก็เลยมองว่าเกษตรนี่ล่ะน่าจะตอบโจทย์ตัวเองที่สุด”

สุนทร วางแผนและเตรียมตัวก่อนลาออกจากงานอยู่ 2 ปี เริ่มต้นเป็น “เกษตรกรวันหยุด” เรียนรู้การทำเกษตรบนพื้นที่ 2 ไร่ของแม่ อาศัยความรู้จากยูทูปปลูกมะนาว พริกไทย ฝรั่ง เพาะเห็ด พอมีผลผลิตไปขายเพื่อนที่ออฟฟิศได้      

“ตอนแรกที่ทำก็ไม่ได้มีเป้าหมายว่าต้องทำอินทรีย์ ยังฉีดยาเคมีกำจัดพวกโรคและแมลง แต่พอเริ่มป่วย ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเราใช้เคมีหรือเพราะการทำงานที่ออฟฟิศ ก็ตัดสินใจเลิกใช้สารเคมี ตำบลที่เราอยู่ไม่มีใครทำอินทรีย์ ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์แทบไม่มี พอไม่ใช้สารเคมี ก็ใช้น้ำหมัก ใช้สมุนไพรหรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

หลังจากผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวในช่วงปี 2561 สุนทร นำผลผลิตจากสวนไปวางขายเองที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี และเป็นจุดเริ่มให้เขาเข้าสู่แวดวงคนทำเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดปราจีนบุรี นำไปสู่การจัดตั้ง “กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังท่าช้าง” และเข้าร่วมอบรมผู้ตรวจแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้เป็นผู้ตรวจแปลงฯ ภายใต้ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

แม้ได้เติมเต็มความรู้ความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ แต่ในเรื่องชีวภัณฑ์ที่คนทำอินทรีย์มักคุ้น สุนทร กลับไม่ได้ใช้อย่างจริงจังทำให้ไม่เห็นผล จนเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับ สวทช. เมื่อปี 2562

“ตอนที่ สวทช. พาไปดูงานที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็ทำให้เริ่มคิดจะกลับมาใช้อย่างจริงจัง และพอได้มาอบรมการผลิตบิวเวอเรียที่ สวทช. จัดให้สมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรี ผมมีความรู้และถนัดเรื่องทำเห็ดที่ต้องเกี่ยวกับการหยอดเชื้อ การบ่มเชื้ออยู่แล้ว ก็ทำให้สนใจที่จะทำและใช้จริงจัง”

หลังอบรมการผลิตบิวเวอเรียกับ สวทช. สุนทร ลงแรงกั้นห้องขนาด 2×5 เมตร เพื่อผลิตบิวเวอเรียไว้ใช้เอง พร้อมๆ กับส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มฯ ได้ผลิตไว้ใช้ แต่ห้องผลิตบิวเวอเรียนี้กลับกลายเป็นอีกแหล่งรายได้ให้เขา

“เกษตรกรที่ทำอินทรีย์รู้จักไตรโคเดอร์ม่า เมตาไรเซียม บิวเวอเรีย แต่ใช้ไม่จริงจัง ใช้ไม่ถูกวิธีบ้าง ทำให้ไม่เห็นผล ส่วนวิธีทำ เขารู้ว่าต้องทำอย่างไร อบรมกันมาหมด แต่ไม่อยากทำ อยากซื้อใช้มากกว่า บางคนก็มีหน้างานหลายอย่าง ไม่สะดวกทำ บางคนก็ว่ายุ่งยาก”

ในช่วงแรกของการผลิตบิวเวอเรีย สุนทร ประสบปัญหาการปนเปื้อน เนื่องจากสภาพห้องยังไม่ได้มาตรฐาน เขาจึงตัดสินใจปรับปรุงห้องใหม่ตามคำแนะนำจาก สวทช. ปูพื้นกระเบื้อง ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จัดวางชั้นวางและตู้เขี่ยเชื้อให้เหมาะสม     

“ยิ่งเราทำบ่อยก็ยิ่งเชี่ยวชาญ จะตรวจสอบคุณภาพดูด้วยสายตาก่อน มีความฟุ้งของสปอร์ ไม่มีเส้นใย และทุกรอบผลิตจะส่งตรวจกับ สวทช. ก็มีปริมาณสปอร์ 109 เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับถ่ายทอดจาก สวทช.”

“ทักษะและความใส่ใจ” ทำให้บิวเวอเรียและเมตาไรเซียมที่ สุนทร ผลิตได้มีคุณภาพและได้รับความเชื่อถือจากคนทำเกษตรอินทรีย์ทั้งในจังหวัดปราจีนบุรีและต่างพื้นที่ที่สั่งซื้อไปใช้อย่างต่อเนื่อง  

“การใช้ชีวภัณฑ์ของเกษตรกรมักไม่ชอบวางแผน ชอบความสะดวกสบาย ซื้อแล้วใช้เลย แต่ผมผลิตอย่างนั้นไม่ได้ มันมีต้นทุน ผมมีกรุ๊ปไลน์สำหรับคนที่ต้องการใช้ชีวภัณฑ์ ใครต้องการก็แจ้งเข้ามา แล้วจะรวมจำนวนเพื่อผลิต ในแง่หนึ่งทำให้ได้ออเดอร์ที่ชัดเจน แต่อีกด้านเกษตรกรได้รู้จักวางแผนการใช้ด้วย เขาต้องคิดแล้วว่าต้องสั่งเมื่อไหร่เพื่อให้ได้ของไปใช้ตามกำหนด”

สุนทรและภรรยา รับหน้าที่หยอดเชื้อในถุงข้าว ควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต และจ้างงานสมาชิกกลุ่มฯ เตรียมวัตถุดิบ กำลังการผลิตสูงสุดที่ทำได้อยู่ที่ 1,050 ถุง ใช้เวลาทำ 3-4 วัน โดยใช้ซึ้งนึ่ง 2 ชุด ผลิตได้วันละ 300-450 ถุง ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 25 บาท/ถุง นอกจากสั่งโดยตรงผ่านกรุ๊ปไลน์แล้ว เขายังขายที่แผงผักและวางจำหน่ายที่ตู้แช่ผักของสหกรณ์ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สมาชิกสหกรณ์ฯ

“สหกรณ์เกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรีมีสมาชิก 15 กลุ่มใน 14 ตำบล แต่ก็ยังไม่ใช้ชีวภัณฑ์กันทั้งหมด ผมพยายามให้องค์ความรู้ตลอด ที่สำคัญคือ ความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรเอง แนะนำวิธีใช้ให้ได้ผล และมีของให้สมาชิกเข้าถึงได้สะดวก อย่างช่องทางสหกรณ์ฯ สมาชิกซื้อเดือนนี้จ่ายเดือนหน้าและได้ปันผลจากสหกรณ์ฯ ด้วย หรือทุกตลาดที่ผมไปขายผัก จะมีชีวภัณฑ์ไปขายด้วย ก็ได้ลูกค้าตลอด เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ หมอ พยาบาลที่ทำผักทำสวน ผมมองว่าให้ความรู้ ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องขายให้ได้”

สุนทร ผลิตชีวภัณฑ์จำหน่ายในกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรมาแล้ว 2 ปี มีรายได้หลังหักต้นทุนแล้วอยู่ที่ 10,000บาท/เดือน

ที่ผ่านมามีคนสั่งจำนวนเยอะ ก็แนะนำให้ทำเองเลย ถ้าไม่รู้จะสอนให้ เพราะไม่อยากให้ซื้อใช้ ไม่ใช่ว่าผมไม่ต้องการเงิน แต่มีช่องทางหาจากทางอื่นได้ การส่งเสริมให้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีคู่แข่งแล้วต้องกลัว เพราะงานนี้ต้องทำด้วยใจรักและผลิตให้ได้ตามคุณภาพ”

จิตรา มหาจันทร์ สมาชิกกลุ่มฯ และเป็นลูกค้าประจำที่สั่งบิวเวอเรียจากสุนทรเพื่อมาใช้ในแปลงลำไยอินทรีย์ที่เธอเริ่มทำได้ 3 ปี ด้วยมองถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ อยากอยู่ให้นานและแข็งแรง”

“เคยอบรมผลิตบิวเวอเรียแล้วเอาทดลองใช้กับต้นมะละกอที่ถูกเพลี้ยแป้งระบาด ฉีดพ่นอยู่ 3 ครั้งก็เห็นผลว่าจัดการเพลี้ยแป้งได้ ก็เลยมาใช้กับลำไยต่อ”

จิตรา ใช้บิวเวอเรียกับแปลงลำไย 2 ไร่ โดยใช้บิวเวอเรีย 10 ถุง ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นตั้งแต่หลังดอกบาน ในช่วงแรกจะฉีด 2-3 วัน และเว้นระยะห่างขึ้น 10-15 วัน

“ใช้บิวเวอเรียมา 2 ปีแล้ว มองเรื่องสุขภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อเรา แล้วก็ยังลดต้นทุน ถ้าใช้สารเคมีต้องผสมหลายตัว ต้นทุนก็เพิ่ม แต่ถ้าใช้บิวเวอเรีย 8 ถุง เมตาไรเซียม 2 ถุง ราคาก็ยังเท่าเดิม (4 ถุง 100 บาท) ให้ผลิตเอง ก็ไม่ไหว ไม่สามารถทำเองได้ทุกอย่าง อาศัยสั่งซื้อมาเยอะหน่อย แล้วมาแช่เก็บไว้”

ความแตกต่างของผลผลิตลำไยที่ได้ จิตรา บอกว่า ไม่แตกต่างมาก แต่ลูกค้าชอบ เพราะปลอดภัย คนทำก็ชอบ

“ก็จะใช้บิวเวอเรีย เมตาไรเซียมไปเรื่อยๆ แปลงที่เหลือก็จะเข้าระบบอินทรีย์ทั้งหมด รายได้ถึงไม่มากเท่า แต่สุขภาพดีกว่า”

# # #

ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลวังท่าช้าง
ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
โทรศัพท์ 089 2465268

(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565)

“ชีวภัณฑ์” ผลิตใช้เอง ผลิตให้ชุมชน เสริมรายได้