“ป่าฮาลา-บาลา” ผืนป่าดืบชื้นบนพื้นที่เกือบ 4 แสนไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลาและนราธิวาส ขึ้นชื่อว่าเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากแห่งหนึ่งของประเทศทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ด้วยอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ ไม่เพียงการรักษาสิ่งมีชีวิตในพื้นป่าให้คงอยู่ หากการพัฒนาชีวิตผู้คนในพื้นที่ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
การเกิดขึ้นของ “หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลา-บาลา” โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อเกือบ 20 ปี คือจุดเริ่มต้นของการส่งเสริม สนับสนุนงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ป่า และขยายสู่การทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่ของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ในชุมชนรอบพื้นที่ป่าบาลา ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้จากทรัพยากรท้องถิ่นโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ชุมชนรอบพื้นที่ป่าบาลาเป็นพื้นที่ทำงานเชิงพื้นที่ของ สท. ในระดับ 2 ดาว ที่มีจุดเด่นในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ แต่ชุมชนยังประสบปัญหาด้านอาชีพและรายได้ และด้วยบริบทของพื้นที่ที่อิงแอบกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า หากเกิดการเรียนรู้และรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างเข้าใจ จะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนเคียงคู่กับการมีอยู่อย่างสมบูรณ์ของป่าผืนใหญ่แห่งนี้ได้
“ต้นสาคู” พืชท้องถิ่นที่พบมากในพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่เพียงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและเป็นวัตถุดิบทำขนมให้ชาวบ้าน หากยังสัมพันธ์กับการสร้างเครือข่ายการเลี้ยงเป็ดและการเกิดขึ้นของ “กลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่ออนุรักษ์ป่าสาคู” ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงเป็ด เกิดเป็นอาชีพและรายได้ให้ชุมชน พร้อมๆ กับการคงอยู่ของป่าสาคู จากการใช้แป้งสาคูเป็นส่วนผสมหนึ่งในอาหารเลี้ยงเป็ดซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้ เช่นเดียวกับ “ดาหลา” อีกหนึ่งพันธุ์พืชที่พบมากในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา ถูกนำมาต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูป เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งน้ำพริก ชาและขนมที่สร้างรายได้เสริมให้กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ได้ไม่น้อย ขณะเดียวกันด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ชาวบ้านยังได้เรียนรู้และต่อยอดการใช้ประโยชน์จาก “ผึ้ง-ชันโรง” ทั้งการรวบรวมข้อมูลสายพันธุ์ การเลี้ยงอย่างถูกวิธีและการแปรรูป จนเกิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งและชันโรง
นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแล้ว การต่อยอดพัฒนา “หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลา-บาลา” ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพ เป็นอีกบทบาทสำคัญของการดำเนินงานพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีฐานเรียนรู้ต่างๆ เช่น การเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงไส้เดือนดิน การเลี้ยงผึ้งและชันโรง การใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือการปลูกมันสำปะหลัง (พิรุณ 4) เป็นต้น
ไม่เพียงมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้แล้ว การสร้างนวัตกรชุมชนให้มากขึ้นเพื่อเป็นผู้นำความรู้และประยุกต์ใช้ความรู้สู่การใช้จริง เป็นอีกภารกิจที่สำคัญที่ สท. ยังคงเดินหน้าทำงานในพื้นที่แห่งนี้ เช่นเดียวกับการยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ได้ทั้งคุณภาพและมาตรฐานด้วยความรู้และเทคโนโลยี สร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้ชุมชน และนำมาสู่การสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงบนฐานของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
# # #