บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)

สท. และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) มีความร่วมมือในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่การดำเนินงานของบริษัทฯ อาทิ การถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกกาแฟ การแก้ปัญหามอดกาแฟและการแปรรูป การทำเกษตรในระบบอินทรีย์ การเชื่อมโยงเครือข่ายและศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปแมคคาเดเมียอย่างครบวงจร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือเผยแพร่ชุดความรู้เทคโนโลยีด้านเกษตรของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ผ่านแอปพลิเคชั่น Por-Pieng ที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นช่องทางขยายองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจ

สวทช. หนุนนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผ้าทอล้านนา

สวทช. หนุนนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผ้าทอล้านนา

กลุ่มผ้าทอฯ ลำพูน ประยุกต์ใช้งานวิจัย สร้างจุดเด่นให้กับผ้าทอล้านนาตั้งแต่กระบวนการผลิตเส้นฝ้ายสู่ผ้าทอมือพื้นเมืองคุณภาพ ภายหลังจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) หน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัย 3 เทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีเอนไซม์ เทคโนโลยีพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ และเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ช่วยกลุ่มผ้าทอจังหวัดลำพูน ต่อยอดการผลิตผ้าทอล้านนาจากภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์ลวดลายเฉพาะตัวให้มีจุดเด่นทั้งในด้านคุณภาพของเส้นใย เนื้อผ้าที่ละเอียด การพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ และคุณสมบัติพิเศษด้านนาโนฯ เพื่อดูแลผลิตภัณฑ์ผ้าทอล้านนาให้เหมาะกับการใช้งานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า สร้างรายได้ให้กลุ่มผ้าทอฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัว ช่วยส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้น ด้าน สนง.พาณิชย์จังหวัดลำพูน เล็งหนุนตราสินค้า “ลำพูน แบรนด์” (Lamphun Brand) เพื่อให้ผ้าทอพื้นเมืองลำพูนที่ผสมผสานนวัตกรรมวิจัยสุดล้ำ ด้านหัตถอุตสาหกรรมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)

บ้านหนองเงือก “หมู่บ้านสิ่งทอนาโน”

บ้านหนองเงือก “หมู่บ้านสิ่งทอนาโน”

คงเอกลักษณ์ “ผ้าพื้นเมือง” เพิ่มมูลค่าด้วย “เทคโนโลยี” สู่ท่องเที่ยววิถีชุมชนผ้าทอพื้นเมือง ในวันที่โลกก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยี แต่งานหัตถกรรมผ้าทอที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษของ “ชุมชนบ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน” มิได้เลือนหาย แต่กลับเพิ่มมูลค่าผ้าทอพื้นเมืองด้วยการเปิดรับเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ จนกลายเป็น “หมู่บ้านสิ่งทอนาโน” แห่งแรกของภาคเหนือ และเสริมเติมด้วยเทคโนโลยีของ สวทช. ได้แก่ การใช้เอนไซม์ ENZease (เอนอีซ) ในกระบวนการเตรียมผ้าฝ้าย เทคโนโลยีการผลิตสีผงธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่นและการเตรียมแป้งพิมพ์สีธรรมชาติจากวัสดุในท้องถิ่น และการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษผ้าทอพื้นเมืองด้วยนาโนเทคโนโลยี จนปัจจุบัน “ชุมชนบ้านหนองเงือก” ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวตำราชุมชนผ้าทอพื้นเมือง” เรียนรู้วิถีชุมชน สัมผัสกระบวนการผลิตผ้าทอพื้นเมืองที่ยังคงเอกลักษณ์ประจำถิ่น แต่เพิ่มมูลค่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม   สื่อ/กิจกรรมประชาสัมพันธ์ วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองเงือก: ชุมชนนวัตกรรมสิ่งทอ สวทช. หนุนนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผ้าทอล้านนา

“บ้านนางอย-โพนปลาโหล” ชุมชนพึ่งพาตนเองในสถานการณ์ Covid-19

“บ้านนางอย-โพนปลาโหล” ชุมชนพึ่งพาตนเองในสถานการณ์ Covid-19

บ้านนางอย-โพนปลาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ชุมชนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎร และทรงดำเนินการพระราชทานแนวทางเพื่อยกระดับและเปลี่ยนชีวิตผู้คน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น สามารถรักษาสภาพการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีต่อไปได้ด้วยกลุ่มชาวบ้านเอง ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2523 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 40 ปี หลายหน่วยงานได้สืบสานพระราชดำริของพระองค์ท่าน ส่งผลให้แม้ในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) คนทั่วโลกได้รับผลกระทบ แต่คนในชุมชนแห่งนี้สามารถฝ่าวิกฤตได้ด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “การพึ่งพาตนเอง” ตั้งแต่ปี 2551 “ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนอำเภอเต่างอย” เป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมให้คนในอำเภอเต่างอย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชุมชน เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชและแปรรูป การฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ก่อให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชุมชนชนบท: บ้านนางอย-โพนปลาโหล อ.เต่างอย จ.สกลนคร

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชุมชนชนบท: บ้านนางอย-โพนปลาโหล อ.เต่างอย จ.สกลนคร

หลังจากที่ได้มีการก่อตั้ง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 เต่างอย” ในปี 2526 โดยมีบทบาทส่งเสริมการปลูกพืชในระบบเกษตรอุตสาหกรรมและเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เพื่อแปรรูปและจำหน่าย ส่งผลให้ลดการอพยพของชาวบ้านไปหางานทำนอกพื้นที่ได้ เกิดกลไกการสร้างและสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว และลดการย้ายพื้นที่ปลูก โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับการจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมทั้งส่งผลต่อการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชน ในช่วงปี 2538-2550 โรงงานหลวงฯ เต่างอย เปลี่ยนการดำเนินงานมาอยู่ภายใต้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยจัดตั้งเป็น “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ดำเนินงานโดยใช้กลไกทางธุรกิจเป็นแนวทาง ส่งผลให้ความร่วมมือกับเกษตรกรสมาชิกและชุมชนลดลง และผลการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบ จึงมีแนวพระราชดำริให้ดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน โดยให้ใช้โรงงานหลวงฯ เต่างอย เป็นกลไกการพัฒนาพื้นที่ หารูปแบบและวิธีที่เหมาะสมเพื่อสร้างความสามารถให้กับชุมชนเป็นผู้ดำเนินการโรงงานหลวงฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนอำเภอเต่างอย”

มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นอีกหน่วยงานพันธมิตรที่สำคัญของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) โดยดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านเกษตร สู่สังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรอินทรีย์ สมุนไพร เกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น ทั้งนี้ สวทช. ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการ “การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรและเกษตรอัจฉริยะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน” เพื่อร่วมพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตร แหล่งเรียนรู้ และความร่วมมือวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคการเกษตรไทย ฐานเรียนรู้ สื่อความรู้ กิจกรรม ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน ฐานเรียนรู้ “ฐานเรียนรู้การผลิตผักอินทรีย์” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ฟาร์ม 907 ไร่) ประกอบด้วยฐานเรียนรู้ 10 ฐานย่อย