ที่แปลงสาธิตการจัดการแปลงผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพ ตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ย กำจัดมอดเจาะผลกาแฟและเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดความเสียหายของผลผลิตจากมอดเหลือเพียง 0.75% จากเดิมเสียหาย 33.4%
ด้วยสภาพภูมิประเทศและความสูง 950 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เอื้อต่อการปลูกกาแฟของชาวบ้านเลาสูซึ่งเป็นชนเผ่าเมี่ยนและชนเผ่าอาข่า ต.ปงดอน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ขณะเดียวกันที่นี่ยังเป็นต้นน้ำแม่วัง หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือ
ซานฟุ แซ่จ๋าว ผู้ใหญ่บ้านเลาสู และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านเลาสู เล่าว่า ที่นี่ปลูกกาแฟกันมานานมีทั้งหน่วยงานรัฐและพ่อค้ามาส่งเสริมให้ปลูก ปัจจุบันชาวบ้านปลูกกันเกือบทุกครัวเรือน มากบ้างน้อยบ้าง พันธุ์ที่ปลูกเป็นอาราบิก้า สายพันธุ์คาร์ติมอร์ ชาวบ้านปลูกขายให้พ่อค้าคนกลางและกลุ่มวิสาหกิจฯ เอาไปแปรรูป
แม้จะปลูกกาแฟกันมานาน แต่การจัดการแปลงปลูกที่ส่งผลต่อคุณภาพเมล็ดกาแฟยังเป็นปัญหาสำคัญของชาวบ้าน ดังที่ ผู้ใหญ่ซานฟุ บอกว่า ปัญหาที่เจอหลักๆ คือ มอด ถ้ามอดเยอะ เมล็ดกาแฟจะลอยน้ำมาก โรงงานก็ไม่อยากรับซื้อ ชาวบ้านเองก็ขายได้ราคาถูกลง
“แต่ก่อนก็ใช้สารเคมีฉีดพ่น ฉีดตั้งแต่เมล็ดยังเล็กๆ ก็ช่วยได้ แต่ถ้าเมล็ดโต มอดเข้าแล้ว ก็จะไม่เห็นผล แต่ราคาสารเคมีก็สูงและเดี๋ยวนี้ไม่มีขายแล้ว ก็มาใช้สารล่อมอดร่วมกับตัดแต่งกิ่งและจัดการแปลง การกำจัดมอดให้หมดเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าทำให้ปริมาณมันลดลง สำคัญที่สุดคือช่วงเก็บเมล็ด ต้องเก็บให้หมด อย่าให้เหลือเมล็ดคาต้น”
การใช้สารล่อมอดเจาะผลกาแฟ CMU C1 ร่วมกับการบริหารจัดการแปลง เป็นหนึ่งในความรู้และเทคโนโลยีที่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านเลาสู ได้รับจาก ผศ.ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการการจัดการศัตรูกาแฟร่วมกับการเพิ่มศักยภาพการผลิตกาแฟคุณภาพ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟคุณภาพให้กลุ่มเกษตรกรบ้านเลาสู หนึ่งในพื้นที่การทำงานสร้างความสมบูรณ์ป่าต้นน้ำของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “กาแฟรักษ์ป่า”
“ใช้สารล่อมอดเห็นผล แต่ต้องร่วมใจกันทำ มอดจะลดลง ถ้าแปลงติดกัน แปลงหนึ่งใช้ อีกแปลงไม่ใช้ แปลงที่ใช้จะมีมอดเยอะกว่า” ผู้ใหญ่ซานฟุ บอกถึงการใช้สารล่อมอดเจาะผลให้ได้ประสิทธิภาพ
ต้นกาแฟที่บ้านเลาสูอายุ 18 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 525.47 กก./ไร่ เกษตรกรประสบปัญหามอดเจาะผลกาแฟระบาด ทำให้ผลผลิตของบางรายเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่แปลงสาธิตขนาด 2 ไร่ บริเวณโรงแปรรูปของกลุ่มฯ พบความเสียหายผลผลิตกาแฟกะลา 33.4% แต่หลังจากใช้ที่นี่จึงเป็นแปลงสาธิตการจัดการแปลงผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพ ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง การให้ปุ๋ย การกำจัดมอดเจาะผลกาแฟและการเก็บเกี่ยวผลผลิต สามารถลดความเสียหายเหลือเพียง 0.75%
“มีชาวบ้านที่ไม่เชื่อเรื่องการแต่งกิ่ง แต่พอเห็นจากแปลงสาธิตก็ยอมเปลี่ยนมาแต่งกิ่ง เพราะได้ผลผลิตเยอะ เวลาเก็บก็ง่ายขึ้น การแต่งกิ่งช่วยบริหารจัดการเรื่องโรคและปุ๋ยด้วย แต่งกิ่งดี ต้นได้กินปุ๋ยเต็มที่ ก็ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไปด้วย ถ้าแต่งไม่ดี ปุ๋ยก็ไปเลี้ยงกิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ที่ไม่มีลูก”
สำหรับผลผลิตที่ได้จากการตัดแต่งกิ่ง ผู้ใหญ่ซานฟุ บอกว่า ดูด้วยสายตาอาจไม่เยอะ แต่เมล็ดกาแฟที่ได้มีขนาดใหญ่ น้ำหนักดี ถ้าแต่งกิ่งดี ใส่ปุ๋ยถูก จะได้ผลผลิต 38-39 กก./กระสอบ แต่ถ้าไม่แต่งกิ่ง ปล่อยรก ใส่ปุ๋ยเท่าเดิมหรือใส่ไม่เต็มที่ เมล็ดกาแฟน้ำหนักน้อย จะได้ผลผลิต 35-36 กก./กระสอบ ส่วนคนที่ไม่แต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยไม่ถูก จะได้เพียง 30-31 กก./กระสอบ
สมาชิกกลุ่มฯ และชาวบ้านที่ได้ร่วมเรียนรู้จากแปลงสาธิตผืนนี้ต่างเชื่อมั่นในความรู้ที่ได้รับ แต่ยังมีที่ไม่ทำตาม ด้วยเหตุผลไม่มีเวลา ซึ่ง ผู้ใหญ่ซานฟุ บอกว่า การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนต้องใช้เวลา ถ้าเราใส่ใจจริง ก็ไม่ยุ่งยากที่จะดูแลตามความรู้ที่ได้รับมา
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านเลาสู เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านเลาสูเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกาแฟ แก้ปัญหาการกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันมีสมาชิก 18 ราย มีพื้นที่ปลูกกาแฟรวม 242 ไร่ โดยกลุ่มฯ รับซื้อเมล็ดกาแฟเชอรี่สุกแดง ทดสอบเมล็ดจม-ลอย และให้ราคามากกว่าพ่อค้าคนกลาง 4 บาท หลังจากนั้นจะนำไปเข้าเครื่องสีกาแฟแล้วจึงนำไปตากให้แห้ง โดยกลุ่มฯ จำหน่ายกาแฟในรูปแบบกาแฟกะลา กาแฟสารและกาแฟคั่ว ซึ่งในปีการผลิต 2564/2565 กลุ่มฯ จำหน่ายกาแฟกะลาได้ 409,050 บาท
“วิถีชาวบ้านเขาก็มองว่าปลูกกาแฟยังไงก็ได้ขาย แต่เราต้องการเมล็ดกาแฟคุณภาพ เวลาชาวบ้านมาขาย เรามีเครื่องถ่วงวัดเมล็ดให้ชาวบ้านเห็น ถ้าเมล็ดจมน้ำ เรารับซื้อ ก็ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าคุณภาพที่เราต้องการคือแบบไหน” สัญญา โลมากุล สารวัตรกำนันตำบลปงดอน และที่ปรึกษากลุ่มฯ บอกเล่าถึงการคัดเลือกเมล็ดกาแฟคุณภาพของกลุ่มฯ
จากที่เคยขายกาแฟเชอรี่ให้พ่อค้าคนกลางไปสร้างเป็นแบรนด์ตัวเอง ความฝันหนึ่งที่กลุ่มฯ ต้องการคือ “อยากให้คนรู้จักกาแฟเลาสู และอยากมีแบรนด์เป็นของกลุ่มเอง” มาวันนี้ กลุ่มฯ มีผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วภายใต้ชื่อ “กาแฟบ้านเลาสู” ออกวางจำหน่ายมาได้เกือบ 2 ปี โดยได้รับการส่งเสริมด้านการตลาดจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเคยได้รางวัลเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (very good) คะแนนชิม (Cupping score) 81.60 จากการประกวดสุดยอดกาแฟไทย เมื่อปี 2564
“กาแฟเลาสูคั่วระดับกลางเข้ม รสชาติไม่เปรี้ยวติดปาก กลิ่นหอมละมุน บางคนว่าเหมือนกลิ่นถั่ว เราขายที่กิโลกรัมละ 800 บาท เราจะคั่วให้หมดในฤดู ไม่มีสต๊อกข้ามปี” สัญญา บอกถึงจุดเด่นของกาแฟคั่วบ้านเลาสู
นอกจากมีแบรนด์กาแฟเป็นของกลุ่มฯ แล้ว เป้าหมายต่อไปคือการมีหน้าร้านกาแฟของกลุ่มฯ เพื่อทำให้กาแฟเลาสูเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผู้ใหญ่ซูฟาน บอกว่า เราอยากให้คนในพื้นที่ได้รู้จักกาแฟดีของเลาสู เราส่งคนในชุมชนไปอบรมบาริสต้าแล้ว และกำลังพูดคุยกับหน่วยงานที่จะสนับสนุนการทำร้านกาแฟของพวกเรา
การสร้างคุณภาพเมล็ดกาแฟตั้งแต่ในแปลงปลูกด้วยการเปิดรับความรู้และปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต ทำให้สามารถยกระดับกาแฟ สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ แต่เหนืออื่นใดคือความภาคภูมิใจของชาวเลาสูที่ผลิต กาแฟดี กาแฟคุณภาพ
สวทช. สนับสนุนทุน ผศ.ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยและพัฒนาสารล่อมอดเจาะผลกาแฟ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟแบบผสมผสานให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ สำหรับสารล่อมอดเจาะผลกาแฟ CMU C1 ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทเอกชนผลิตจำหน่าย
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านเลาสู
ต.ปงดอน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
โทรศัพท์ 082 954 4252
www.facebook.com/Banlaosucoffee
(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565)