เรารู้จัก “ผึ้ง” ในฐานะแมลงผสมเกสรที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่ภายใต้เหล็กไนที่เป็นอาวุธประจำกาย แมลงตัวเล็กนี้ยังสัมพันธ์กับระบบนิเวศ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน หรือแม้แต่งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของประเทศ โดยมี “งานวิจัย” ที่เชื่อมโยงและสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่ามหาศาลของ “ผึ้ง”

– – – – – – – – – – – – – –

 

พื้นที่แปลงสับปะรด 25 ไร่ ถูกแปลงสภาพเป็นพื้นที่เกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ผลไม้ดอก พืชผัก เลี้ยงเป็ด วัว ฯลฯ ซึ่ง แมนรัตน์ ฐิติธนากุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.บ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ หวังช่วยปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างสับปะรดให้ชาวบ้าน

“ลูกบ้านเดินมาหาผมบอกว่ามีเงินเหลือติดตัว 600 บาท อีก 6 เดือนกว่าจะเก็บผลสับปะรดได้ เขาจะอยู่ได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาของคนที่นี่ สุดท้ายไปกู้เงิน แล้วก็หนี ผมพยายามหาอะไรก็ได้ที่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากทำสับปะรดที่พอได้เงินมาก็จ่ายค่าปุ๋ยหมด พอสับปะรดราคาตก ชาวบ้านก็แย่”

แม้มีเสียงค่อนขอดและสายตาไม่เป็นมิตรจากคนในพื้นที่ แต่เขายังมุ่งมั่นที่จะทำให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีทางเลือกทางรอดให้ชาวบ้าน จนมีโอกาสเข้าร่วมอบรม “เลี้ยงผึ้งพื้นเมือง” ที่อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี แม้เริ่มต้นด้วยความกลัว แต่เมื่อได้เรียนรู้ผึ้งอย่างเข้าใจ เขากลับพบว่าผึ้งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและกลับเป็นความหวังที่จะช่วยให้เขาพาลูกบ้านหลุดพ้นจากวังวนเกษตรเชิงเดี่ยว

“ตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าผึ้งจะช่วยอะไร ไปเรียนเพื่อเอามาเลี้ยงติดไร่ไว้ แต่พอมาคลุกคลีก็มองว่าการเลี้ยงผึ้งช่วยได้ น้ำผึ้งและปริมาณที่ได้น่าจะช่วยชาวบ้านได้ ผึ้งเหมาะกับที่นี่ แต่ทำอย่างไรให้ชาวบ้านยอมรับด้วย”

กล่องรังผึ้ง 14 กล่องที่เขาประกอบขึ้นเพื่อเลี้ยงผึ้งโพรงถูกจัดวางในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ เรียกความสนใจใคร่รู้จากเด็กๆ ในชุมชนที่แวะเวียนมาเที่ยวเล่น เด็กๆ เหล่านี้หาน้ำผึ้งป่าเป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว เมื่อรับรู้ในสิ่งที่ผู้ใหญ่แมนรัตน์กำลังทำ พวกเขาจึงยิ่งสนใจ

“เด็กๆ หาน้ำผึ้งตามธรรมชาติกันอยู่แล้ว น้ำผึ้งที่ได้มาเด็กๆ เอาไปขาย 250-300 บาท ผมก็บอกเขาว่าน้ำผึ้งเอามาจากป่าได้ แต่ต้องเอาผึ้งมาเลี้ยงด้วย ขอให้เขาเอามาเลี้ยงที่บ้าน ไม่ทำลายรัง เขาก็ยอม ผมก็สอนวิธีการตีผึ้งที่ไม่ทำลายรัง วิธีย้ายลงกล่องมาเลี้ยงที่บ้าน วิธีการกรีดน้ำผึ้ง การจับนางพญา มีเด็กๆ 10 กว่าคนที่มาร่วม แรกๆ ใช้วิธีจ้างมาช่วยทำกล่องรัง หลังๆ เด็กเริ่มอยากเอากลับไปไว้ที่บ้าน ก็ให้เขาเอากลับบ้าน พอเขาได้น้ำผึ้งก็มาส่งผม ได้เงิน 400 บาท/กิโลกรัม แล้วผมก็ส่งต่อให้ห้องแล็บผึ้ง ทำให้เด็กๆ มีแรงจูงใจที่จะเลี้ยงผึ้งอย่างถูกวิธี”

ห้องแล็บผึ้งที่ผู้ใหญ่แมนรัตน์พูดถึง คือ ห้องปฏิบัติการวิจัยผึ้งพื้นเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี ที่นี่ไม่เพียงเป็นหน่วยงานวิจัยเรื่องผึ้งพื้นเมือง หากยังมีส่วนร่วมสร้างธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) โดยรับน้ำผึ้งจากเครือข่ายเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งพื้นเมือง โดยให้ราคา 450 บาท/กิโลกรัม นำไปตรวจสอบคุณภาพและจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า Bee Sanc และ Bee Leaf

“ผึ้งช่วยผมเยอะ เปลี่ยนความคิดคนในบ้านผมเยอะมาก น้องชายจากที่ทำสวนฝรั่ง ฉีดยาเยอะมาก แต่พอลองเลี้ยงผึ้ง ได้น้ำผึ้ง เดี๋ยวนี้แทบจะไม่ฉีดยาเลย ตอนนี้ผึ้งเป็นความหวังของผม อยากให้เป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านให้ได้ และที่สำคัญถ้ามีผึ้ง การใช้สารเคมีในแปลงเกษตรน้อยลงแน่นอน การใช้เงินซื้อสารเคมีก็จะลดลงตามไปด้วย ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเข้ามาถามทำได้จริงเหรอ เพราะเด็กๆ ทำแล้วได้เงิน ก็เอาไปอวดพ่อแม่ ทุกวันนี้บางคนรายได้ดีกว่าพ่อแม่ อาทิตย์นึงได้ 4,000-5,000 บาทจากการขายน้ำผึ้ง”

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

เรื่องราวของผู้ใหญ่แมนรัตน์เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มาเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองจากผศ.ดร.อรววรณ ดวงภักดี และอาจารย์ปรีชา รอดอิ่ม สองผู้เชี่ยวชาญวิจัยด้านชีววิทยาผึ้ง ห้องปฏิบัติการวิจัยผึ้งพื้นเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี หลักสูตรการอบรมที่เกิดจากความต้องการส่งต่องานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้คน

“ผึ้งพื้นเมืองของไทยมีอยู่ธรรมชาติทั้งผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม ผึ้งโพรง หรือชันโรง ต้นทุนการได้มาต่ำมาก พืชอาหารของผึ้งเหล่านี้มีมากมาย ขณะที่ผึ้งพันธุ์เป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ ต้นทุน 3,500 บาท/รัง และมีพืชอาหารจำกัด เราอยากให้การเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองเป็นอาชีพเสริมและเลี้ยงผึ้งเหมือนการหยอดกระปุก ค่อยๆ สะสมไป ชาวบ้านมีงานประจำอยู่แล้ว ทำเกษตรหรือรับจ้างรายวัน ถ้าพื้นที่ของชาวบ้านมีพืชอาหารพอ ตั้งกล่องรังไว้ 2-3 รัง ไม่ต้องให้อาหารอะไร ผึ้งก็ทำงานผสมเกสร ผึ้งโพรง 1 รังมีประชากรผึ้งประมาณ 30,000 ตัว ถ้าตั้งทิ้งไว้ในพื้นที่ปลูกพืชผัก จะได้น้ำผึ้ง 5-10 กิโลกรัม/ปี” ผศ.ดร.อรวรรณ บอกเล่าถึงภารกิจการนำงานวิจัยสู่ชุมชน

 

 

อาจารย์ปรีชา เสริมต่อว่า เราไม่ใช่ศูนย์ส่งเสริม แต่เป็นแล็บวิจัยที่ศึกษาองค์ความรู้ใหม่ๆ และมาปรับใช้เรื่องเทคนิค เช่น การจัดการไม่ให้ผึ้งทิ้งรัง การเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง การจัดการผึ้งในธรรมชาติโดยไม่ทำลายตัวอ่อน ดังเช่นงานวิจัยวงจรชีวิตของผึ้งมิ้มพบว่าตัวอ่อนถูกทำลายไป 7,200 ตัวต่อการตีผึ้ง 1 ครั้ง และผึ้งที่จะผลิตไขสำหรับสร้างรังใหม่เป็นผึ้งอายุน้อยที่ถูกตัดทิ้งรังไป ซึ่งจากงานวิจัยนี้นำไปสู่การสอนให้ชาวบ้านตีผึ้งถูกวิธี

งานวิจัย “พืชอาหาร” เป็นอีกงานวิจัยที่ไม่เพียงทำให้รู้จักแมลงผสมเกสรนี้มากยิ่งขึ้น หากยังช่วยวางแผนการเลี้ยงผึ้งเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำผึ้งและรสชาติที่ต้องการได้ หรือเรียกว่า “ออกแบบน้ำผึ้ง” ได้ และยังเชื่อมโยงกับงานวิจัย “ภาษาผึ้ง” ที่ช่วยอธิบายพฤติกรรมการหาอาหารของผึ้ง และต่อยอดสู่ “เทคโนโลยีรังผึ้งอัจฉริยะ (smart hive)” ที่ช่วยให้การเลี้ยงผึ้งง่ายขึ้นผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งผศ.ดร.อรวรรณ ขยายความว่า ชนิดของพืชอาหารเชื่อมโยงกับการผสมเกสรของผึ้ง ปริมาณน้ำหวานของพืชแต่ละชนิดสามารถนำมาใช้กำหนดปริมาณน้ำผึ้งที่ต้องการได้ โดยผึ้งจะจัดระดับประเภทพืชอาหาร (level) ซึ่งผึ้งไทยมีสัญชาตญาณการจัด level อาหารชัดเจน  level อาหารเกรดเอของผึ้ง เช่น ฟักทอง มะพร้าว ฝรั่ง โดยผึ้งที่ออกไปหาอาหารเป็นผึ้งที่มีประสบการณ์สูงจะกลับมาเต้นส่งสัญญาณบอกสมาชิกที่รัง ผึ้งที่เต้นเก่ง หาอาหารและผสมเกสรเก่ง ถ้าแหล่งอาหารอยู่ไม่ใกล้ ผึ้งจะเต้นเป็นรูปวงกลม ถ้าอยู่ไกลจะเต้นเป็นเลขแปดและส่ายตัวอยู่นาน ถ้าพบแหล่งอาหารเกรดเอ ผึ้งจะส่ายตัวแรง หรือถ้าจะทิ้งรังเพราะแหล่งอาหารไม่พอ จะต้องมีประชากรผึ้งที่ออกไปหาอาหาร 75% เต้น ถึงจะย้ายรังได้

ความรู้จากงานวิจัยทั้งพฤติกรรมผึ้ง การตีผึ้งอย่างถูกวิธี การเลือกชนิดพืชอาหาร หรือการเก็บน้ำผึ้ง ถูกถ่ายทอดผ่านการอบรมให้เกษตรกรและผู้สนใจมาเกือบสิบปี สร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรทั้งจากการขายน้ำผึ้งที่มีคุณภาพและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากบทบาทการถ่ายทอดอบรมความรู้ยังได้ขยายไปสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่เพียงแก้ปัญหาด้านการตลาดให้เกษตรกร แต่ยังมีเป้าหมายให้เป็นรูปแบบการเลี้ยงผึ้งครบวงจรของประเทศไทย ตั้งแต่การอบรมให้ความรู้ บริการตรวจสอบคุณภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงช่องทางการจำหน่าย

ด้วยมองเห็นว่าตลาดของน้ำผึ้งไปได้ คนที่ต้องการน้ำผึ้งแท้มีจำนวนมาก แต่ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้เลี้ยงผึ้งยังมีอยู่น้อย ผศ.ดร.อรวรรณ และอาจารย์ปรีชา จึงพยายามสร้างวิทยากรและศูนย์เรียนรู้ให้เกิดขึ้นตามภูมิภาค เพื่อเป็นการขยายกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง ดังเช่นที่ผู้ใหญ่แมนรัตน์ที่กำลังลงมือทำในพื้นที่ของตน

อาจารย์ปรีชา บอกว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่แมนรัตน์ทำอยู่เป็นการปรับเปลี่ยนความคิดของคน ซึ่งจะกลายเป็นลูกโซ่ที่ส่งต่อในการทำเกษตรไร้สาร ถ้าเลี้ยงสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ มันจะช่วยผสมเกสร ติดดอกออกผลเหมือนเดิมและอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ แต่ที่สำคัญคือลดการใช้เคมี

“เด็กๆ ในชุมชนเองแม้เขาจะได้เรียนไม่มาก แต่ความรู้จากการไม่ฉีดยาเคมีจะติดตัวเขาไป จะช่วยเปลี่ยนทั้งระบบการทำเกษตร หรือแม้แต่งบประมาณของประเทศที่ต้องเสียไปกับการรักษาคนเจ็บป่วยจากสารเคมี แต่เริ่มจากตรงนี้อีก 30 ปีได้ผล ก็ไม่เป็นไร” ผศ.ดร.อรวรรณ ทิ้งท้ายผลกระทบจากการเลี้ยงผึ้งที่ได้มากกว่าน้ำผึ้ง

# # #

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AGRITEC) สนับสนุนทุนวิจัยให้ ผศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี
ในโครงการ “การพัฒนาเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งไทยระดับท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมอาชีพผลิตน้ำผึ้งเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย”

อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี
โทรศัพท์ 032-726510-13
www.http://ratchaburi.kmutt.ac.th/bee-park/

“เลี้ยงผึ้ง” ที่ได้มากกว่า “น้ำผึ้ง”