“ผลิตเองดีกว่าในแง่ต้นทุนและมั่นใจที่มาของเชื้อ” วิฑูรย์ ปรางจโรจน์ เกษตรกรวัย 65 ปี ให้เหตุผลที่ผลิตเชื้อราบิวเวอเรียไว้ใช้เอง หลังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์จากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. จนพัฒนาเป็นอีกหนึ่ง “จุดเรียนรู้ชุมชนการผลิตใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพ” ของ สท.

จากเคยเป็นเซลล์ขายอุปกรณ์การเกษตรคลุกคลีในแวดวงปุ๋ยเคมี สารเคมีและปัจจัยการผลิตต่างๆ ทำให้ วิฑูรย์ พอรู้จักชีวภัณฑ์อยู่บ้าง เมื่อตัดสินใจกลับมาทำเกษตรกับอุไรพร เบ็ญพาด ภรรยา ที่ ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เขาเลือกปลูกผักด้วยความชอบบริโภคผักเป็นทุนเดิมและต้องการมีผักปลอดภัยไว้กินเอง

สภาพพื้นที่เปิดโล่ง ลมพัดถ่ายเทสะดวก วิฑูรย์ ปลูกผักบนโต๊ะในพื้นที่ 1 ไร่ เริ่มจากผักสลัดเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว  ด้วยเป็นของแปลกและละแวกนั้นไม่มีใครปลูกได้ เขาเริ่มต้นจากปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ แต่รสชาติไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาปลูกลงดิน ก่อนมาลงตัวที่โต๊ะปลูกผักที่ทำขึ้นเอง พร้อมกับศึกษาหาข้อมูลอย่างหนักและทดลองปลูก   จนได้ผลผลิตคุณภาพที่ใครได้ลิ้มลองต่างติดใจในรสชาติ “หวาน กรอบ” และยังเก็บไว้ได้นานของผัก “บ้านปู่ฑูรย์”

“ปลูกกลางแจ้ง การจัดการโรคแมลงง่ายกว่าในโรงเรือน มีลมพัดผ่าน แสงแดดส่องได้เต็มที่ โอกาสไข่แมลงฟักตัวน้อยลง ช่วงฤดูฝนถ้าฝนเม็ดไม่ใหญ่ ไม่ถึงกับสร้างความเสียหาย มีใบช้ำบ้างแต่ไม่ถึง 10%”

สภาพพื้นที่ช่วยลดปัญหาโรคพืชและแมลงศัตรูพืชไปได้ระดับหนึ่ง แต่การใช้สารป้องกันศัตรูพืชยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ วิฑูรย์

“น้ำหมักมีอายุการใช้งาน อย่างน้ำหมักบอระเพ็ดมีอายุ 3-4 เดือน น้ำหมักยาสูบหรือใบเสือหมอบ อายุ 1-2 สัปดาห์ แล้วคุณภาพได้ไม่เท่ากันทุกรอบและถ้าเก็บรักษาไม่ถูกต้องอีก ฉีดแล้วก็หวังผลยาก จะใช้น้ำหมักเป็นหลักไม่ได้ ก็เลยศึกษาการใช้ชีวภัณฑ์เพิ่มและหาซื้อมาทดลองใช้”

แม้จะรู้ว่าการเลือกซื้อชีวภัณฑ์ต้องพิจารณาจากการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องด้วย แต่ วิฑูรย์ กลับไม่มั่นใจเมื่อรู้ว่ารูปแบบเชื้อที่ผลิตจำหน่ายทางการค้าไม่ใช่เชื้อสด

“โดยส่วนตัวเชื่อว่าเชื้อสดมีประสิทธิภาพกว่า ก็ตามหาจนมาเจอเชื้อสดของ สวทช. ได้หัวเชื้อจากแหล่งที่ได้มาตรฐานมาขยายใช้ต่อ”

วิฑูรย์ และอุไรพร มีโอกาสเข้าร่วมอบรมกับ สท. ในโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสู่เกษตรกร เรียนรู้ทั้งทฤษฎี ฝึกปฏิบัติผลิตชีวภัณฑ์ (บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม ไส้เดือนฝอย) และทดสอบวิธีกำจัดศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์เปรียบเทียบกับวิธีของตนในแปลงผักกวางตุ้ง ผลลัพธ์ที่ได้ทั้งแมลงศัตรูพืชลดน้อยลง ผลผลิตสมบูรณ์และได้น้ำหนัก ทำให้เขาเชื่อมั่นการใช้ชีวภัณฑ์จากเชื้อสดยิ่งขึ้น เขายังแบ่งสรรพื้นที่แปลงปลูกและใช้เงินส่วนตัวกว่า 2 แสนบาท สร้างอาคารประชุมและห้องผลิตขยายชีวภัณฑ์ 3 ห้อง ได้แก่ ห้องผลิตขยายเชื้อราบิวเวอเรีย ห้องผลิตขยายเชื้อราเมตาไรเซียมและห้องผลิตขยายไส้เดือนฝอย

“เริ่มจากสร้างอาคารให้ทีมงาน สวทช. ได้หลบแดดก่อน แล้วก็คิดว่าถ้าหมดจากการทดลองกับ สวทช. แล้ว เราจะหาชีวภัณฑ์จากที่ไหนมาใช้ ก็เลยตัดสินใจสร้างห้อง ไม่ได้ห่วงเรื่องต้นทุน ห่วงว่า สวทช. จะไม่มีสถานที่ถ่ายทอดความรู้และเราเองก็ต้องใช้ชีวภัณฑ์อยู่แล้ว”  

อุไรพร รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตชีวภัณฑ์ให้สอคล้องกับแผนการผลิตผักที่ วิฑูรย์ วางไว้ เธอสามารถผลิตเชื้อราบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมได้อย่างมีคุณภาพ มีสปอร์ไม่ต่ำกว่า 109 สปอร์/กรัม และเปอร์เซ็นต์การงอกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 95%

“การผลิตไม่ยาก ทำได้ทุกคนแต่สำคัญที่การดูแล ต้องใส่ใจ เช่น อุณหภูมิ ความสะอาดในห้อง ที่ทำมามีปนเปื้อนน้อยมาก ต้นทุนอยู่ประมาณ 25 บาท/ถุง ใช้ทั้งบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมเพื่อป้องกันตั้งแต่หลังหว่านเมล็ดได้ 1 สัปดาห์ หรือย้ายกล้าลงแปลง แต่ถ้ามีแมลงระบาด จะดูว่าแมลงตัวไหนระบาดหนักก็จะเลือกใช้ชีวภัณฑ์ที่จัดการแมลงตัวนั้น แล้วฉีดถี่ขึ้น” อุไรพร เล่าถึงการใช้ชีวภัณฑ์ที่เธอผลิตเอง  

วิฑูรย์ บอกว่า จากประสบการณ์ต้องฉีดบิวเวอเรียตั้งแต่ยังเป็นกล้า เพราะหนอนเริ่มมากินแล้ว เมื่อย้ายลงแปลงก็ฉีดประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์

“ถ้าแมลงไม่เยอะจริง เราจะไม่เห็น จะเห็นก็เมื่อเขาทำลายแล้ว เราจึงฉีดป้องกัน ถ้าหักลบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแล้วต้องไถทิ้งเพื่อปลูกใหม่ อันไหนต้นทุนแพงกว่ากัน ผมคิดว่าต้นทุนของผมถูกกว่าเยอะ เมื่อเราป้องกันไว้ โอกาสที่จะได้ผลผลิตมีเกิน 80% กับปล่อยให้แมลงมาจนเราเห็นตัว แล้วค่อยฉีด จะแก้ไม่ได้แล้ว”

ขณะที่ อุไรพร ให้ความใส่ใจการผลิตชีวภัณฑ์ วิฑูรย์ เองให้ความสำคัญกับการดูแลโต๊ะปลูกผักที่มีอยู่ 80 โต๊ะ หมุนเวียนผลิตผักสลัดเป็นหลัก ผลผลิตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 130 กก./สัปดาห์ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เขายังมีแผนผลิตผักชนิดอื่น เช่น ผักบุ้ง ผักโขมเขียว คะน้า กวางตุ้ง ซึ่งตลาดต้องการและยังลดความเสี่ยงผักสลัดล้นตลาดในช่วงหน้าหนาว

“ทำเกษตรแบบปราณีต เราต้องอยู่กับผัก ดูแลรดน้ำ สังเกตผักของเราเป็นอย่างไร มีแมลงมีโรคมั้ย แล้วใช้ชีวภัณฑ์ให้ถูกเวลา ถูกวิธี ตอนนี้เราเป็นแหล่งผลิตเพื่อใช้เองและแบ่งปันให้คนที่สนใจ เราดูคุณภาพเองก่อน ไม่มีปนเปื้อนและมีความฟุ้งของสปอร์ แล้วจึงส่งตรวจคุณภาพกับ สวทช. อีกที” 

จากความเชื่อการใช้ชีวภัณฑ์รูปแบบเชื้อสดดีกว่า นำมาสู่การเติมเต็มความรู้ ลงมือทำและทดลองใช้จนเห็นผล สร้างความเชื่อมั่นการใช้ชีวภัณฑ์เป็นเครื่องมือผลิตผักปลอดภัย ซึ่ง วิฑูรย์ มองว่า ความสำคัญของการทำอินทรีย์ คือ ความปลอดภัยของคนกินและคนปลูก เมื่อเราทำได้ ยิ่งมีความสุข เป็นความสุขที่ได้ผลิตของดีๆ

ปัจจุบัน วิฑูรย์ เป็นวิทยากรให้ความรู้การผลิตผักอินทรีย์คุณภาพและการใช้ชีวภัณฑ์แก่เกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรีและผู้สนใจ นอกจากนี้ยังได้รวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักอินทรีย์จัดตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนผักสุมหัว สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตผักอินทรีย์ตลอดจนการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพจากจุดเรียนรู้ระดับชุมชนแห่งนี้

# # #

วิฑูรย์ ปรางจโรจน์
วิสาหกิจชุมชนผักสุมหัว
ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
โทรศัพท์ 087 0910171

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

จากการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสู่เกษตรกรนำไปสู่การพัฒนา “จุดเรียนรู้ชุมชนการผลิตใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพ” เป็นแหล่งผลิตและใช้ชีวภัณฑ์คุณภาพตามหลักวิชาการของ สวทช. ปัจจุบันมี 3 แห่ง

  • วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวังท่าช้าง ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โทรศัพท์ 089 2465268
  • ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตรอกนอง ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี โทรศัพท์ 081 5906611
  • วิสาหกิจชุมชนผักสุมหัว ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โทรศัพท์ 087 0910171
ผลิต-ใช้ ‘ชีวภัณฑ์คุณภาพ’ ด้วยความรู้และใส่ใจ