การเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรของชุมชนในภาคเหนือส่งผลต่อปัญหาหมอกควัน เพื่อช่วยลดและแก้ปัญหาดังกล่าว ทางชุมชนบ้านสันติสุข ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีเตาชีวมวลเชื้อเพลิงซังข้าวโพด หรือเตาชีวมวลปั้นมือสำหรับครัวเรือน ให้ประชาชนบ้านสันติสุขและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งครัวเรือนกว่า 40% ในชุมชนใช้เตาชีวมวลอยู่แล้ว จากการเรียนรู้นี้ชาวบ้านสามารถนำความรู้ไปพัฒนาการผลิตเตาชีวมวลปั้นมือไว้ใช้ในครัวเรือนและจำหน่าย
เตาชีวมวลเชื้อเพลิงซังข้าวโพดไม่เพียงช่วยลดปัญหาการเผาทำลายซังข้าวโพด แต่ด้วยคุณสมบัติที่โดนเด่นของเตาสามารถให้พลังงานความร้อนได้มากกว่าเตาทั่วไป จึงช่วยลดการใช้ฟืนได้กว่าครึ่งหนึ่ง ชุมชนบ้านสันติสุขจึงได้จัดตั้ง “กลุ่มเตาชีวมวลปั้นมือบ้านสันติสุข” เพื่อผลิตเตาจำหน่าย
ในระยะเพียงไม่ถึงสองเดือนหลังจากการได้รับความรู้จากการฝึกอบรม กลุ่มฯ ได้พัฒนาทักษะการปั้นเตาจนชำนาญ สามารถปั้นเตาได้อย่างสวยงามและมีคุณภาพ จนมีผู้สนใจสั่งซื้อหลายสิบใบ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาต่อยอดให้มีหูจับเตาเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ทาสีเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ สวยงาม แม้ว่าราคาขายจะใกล้เคียงกับเตาอั้งโล่ในท้องตลาด แต่การใช้งานดีกว่าเนื่องจากอุณหภูมิความร้อนคงที่กว่า โดยเฉพาะใช้งานประเภทต้ม ปิ้งย่าง นึ่งข้าวเหนียว
นายประวิต บุญมา หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมอบรมเทคโนโลยีเตาชีวมวลเชื้อเพลิงซังข้าวโพด สร้างรายได้จากการปั้นเตาชีวมวลจำหน่ายให้ผู้สนใจทั้งในและนอกชุมชน เขาเล่าว่า หลังจากได้รับการอบรมและเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเตาชีวมวลปั้นมือบ้านสันติสุข ได้พัฒนาทักษะเรียนรู้การปั้นเตาจนชำนาญ เริ่มสอนชาวบ้านปั้นเตาสำหรับนำไปใช้งานในครัวเรือนของตนเองก่อน จากนั้นมองเห็นช่องทางการสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว โดยช่วงเช้าก่อนออกไปทำเกษตร ใช้เวลาประมาณแค่ครึ่งชั่วโมงเพื่อปั้นเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้ถูกแสงแดด 8 ชั่วโมง ตอนเย็นก็แกะแบบตกแต่งและหุ้มเตาให้มีความสวยงามพร้อมใช้งานและจำหน่ายได้ สามารถผลิตได้วันละ 1 เตา ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 150 – 200 บาท ขายในหมู่บ้านเตาละ 300 บาท แต่ถ้าขายนอกหมู่บ้านราคาเตาละ 350 บาท การปั้นเตาเป็นอาชีพเสริม ทำได้ง่าย รายได้งาม
“ปั้นเตาใช้ดินจอมปลวก ใช้ปูนธรรมดา ไม่ใช่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ อัดส่วนผสมให้แน่นๆ” ประวิต บอกถึงเทคนิคการปั้นเตาชีวมวล ประหยัดเชื้อเพลิง ควรหมักดินเหนียวก่อนนำจะนำไปปั้นเตา ใช้ดินที่มีอยู่ทั่วไปตามบ้านหรือดินจอมปลวกที่ขึ้นตามบ้าน (ดินแดง) เพราะปลวกจะขุดดินจากใต้พื้นดินขึ้นทำจอมปลวกถือว่าเป็นดินดีเหมาะนำมาใช้งานได้ดี ปูนควรใช้ปูนธรรมดาทั่วไปไม่ใช้ปูนเทถนน (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) เนื่องจากแข็งตัวและแห้งเร็วทำให้แกะแบบยาก จากนั้นนำดินเนียวผสมทราย ปูน และแกลบ นวดผสมกับน้ำให้เข้ากัน จนมีความเหนียวพอเหมาะ นำส่วนผสมที่เตรียมไว้พอกกับแบบเตาจนเต็ม ควรกดให้แน่นๆ โดยเฉพาะฐานและตัวคอของเตาที่รองรับการใช้งาน ที่สำคัญก่อนลงมือปั้นเตาต้องทาน้ำมันหล่อลื่นตรงแบบเตาก่อนทุกครั้ง เพื่อให้แกะแบบพิมพ์ออกได้ง่าย นอกจากนี้แสงแดดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ถ้าทำตอนเช้ามีแสงแดดตั้งทิ้งไว้ ตอนเย็นก็แกะแบบได้เลย ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือเตามีรอยแตก เนื่องจากการอัดส่วนผสมไม่แน่น “หากตัวเตามีความเสียหาย แตกไม่ควรนำไปขาย”
ประวิต บอกว่า ประสิทธิภาพของเตาชีวมวลปั้นมือ คือประหยัดเชื้อเพลิงดีกว่าเตาอั้งโล่ที่ขายตามท้องตลาด ยิ่งใช้เชื้อเพลิงจากซังข้าวโพดจะประหยัดมาก ตนเองทดสอบใช้งานกับเตาชีวมวลที่ปั้นโดยซื้อซังข้าวโพดกระสอบละ 10 บาทสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ 10 วัน ถือว่าประหยัดเชื้อเพลิงมาก แต่หากไม่มีซังข้าวโพดก็สามารถใช้กิ่งไม้ที่ตัดจากต้นลำไย ต้นมะม่วงที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง ช่วยปลูกฝังการลดการเผาในชุมชน นำเศษไม้มาทำเชื้อเพลิงดีกว่านำไปเผาให้เกิดหมอกควันและมลพิษในชุมชน “เปลี่ยนพฤติกรรมการเผามาเป็นการเก็บเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทน ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน”
กว่า 3 ปีแล้วที่ประวิตปั้นเตาชีวมวลสำหรับครัวเรือนเป็นอาชีพเสริม และเขายังตั้งใจที่จะทำอาชีพเสริมนี้ต่อไป เช่นเดียวกับการร่วมเป็นวิทยากรให้ สวทช. จัดอบรมให้ความรู้เพื่อขยายผลและต่อยอดการปั้นเตาให้ชุมชนอื่นในพื้นที่ภาคเหนือ “ลงพื้นที่แต่ละครั้งกับ สวทช. ได้แลกเปลี่ยน แบ่งปั้นความรู้ และประสบการณ์กับชาวบ้าน ยินดีสอนให้ ไม่หวงความรู้ ทำแล้วมีความสุข” ประวิต กล่าวทิ้งท้าย
# # #
“เตาชีวมวลเชื้อเพลิงซังข้าวโพด หรือเตาชีวมวลปั้นมือสำหรับครัวเรือน” เป็นอุปกรณ์หุงต้มประหยัดพลังงานที่ชุมชนหรือครัวเรือนสามารถผลิตใช้งานเองได้ ใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในท้องถิ่นเป็นเชื้อเพลิง การทำงานของเตาอาศัยหลักการเผาไหม้เชื้อเพลิงให้เกิดความร้อนเกิดการเร่งปฏิกิริยาต่อเนื่องอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็งให้เป็นเชื้อเพลิงแก๊ส มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดเชื้อเพลิง ผลิตง่ายและมีต้นทุนไม่สูง คุณสมบัติเด่น คือ ควันน้อย ให้ความร้อนสูงกว่าเตาอั้งโล่ ใช้ซังข้าวโพดหรือเศษชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง หุงต้มได้ประมาณ 30 นาที เตามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30.5 ซม. สูง 36 ซม. น้ำหนัก 22 กิโลกรัม รองรับการใช้ปริมาณซังข้าวโพดเฉลี่ยวันละ 2 กิโลกรัมต่อครัวเรือน หรือ 730 กิโลกรับต่อปี