“โรงเรือนปลูกพืช” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการเกษตรที่เกษตรกรให้ความสนใจมากขึ้น ด้วยตอบโจทย์ปลูกพืชได้ทุกฤดูกาล ซึ่งรูปแบบโรงเรือนปลูกพืชมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับชนิดพืชและเงินทุนของเกษตรกร

วิรัตน์  โปร่งจิต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักสดและผลไม้แปรรูปบ้านหนองทราย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรที่เห็นความสำคัญของการใช้โรงเรือนปลูกพืช ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3 ไร่ของเขา ติดตั้งโรงเรือนปลูกพืช 5 หลัง โดยเป็น “โรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพ” ของ สวทช. ถึง 4 หลัง สร้างรายได้จากการปลูกผักต่อเดือน 30,000-40,000 บาท/เดือน จากเดิมที่ได้ไม่ถึง 20,000 บาท/เดือน

“แต่ก่อนไม่มีโรงเรือน ปลูกผักหน้าฝนไม่ค่อยได้ผลผลิต อย่างผักบุ้งเจอโรคราสนิม แต่พอปลูกในโรงเรือน ไม่เจอปัญหาและยังได้ราคาดีด้วย”

โรงเรือนปลูกพืชหลังแรกของวิรัตน์เป็นโรงเรือนทรงหลังคาฟันเลื่อย หรือที่เรียกว่า หลังคา ก.ไก่ ซึ่งได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น และในปี 2561 เขาได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สวทช. เพื่อสร้างโรงเรือนพลาสติกปลูกพืชแบบโครงสร้างหลังคา 2 ชั้น ขนาด 6x24x4.8 เมตร หลังจากติดตั้งโรงเรือนแล้ว เขาพบว่า พืชผักที่ปลูกในโรงเรือนได้คุณภาพดี สวยงาม ลดระยะเวลาปลูก และที่สำคัญปลูกผักได้ไม่น้อยกว่า 8 รอบ/ปี

“ผักโตเร็ว ต้นใหญ่ น้ำหนักดี และใช้เวลาปลูกน้อยลง เช่น ผักกาดขาวไดโตเกียว จากที่เคยปลูกนอกโรงเรือนใช้เวลา 30 วัน แต่พอย้ายปลูกในโรงเรือน ใช้เวลาเพียง 25 วัน น้ำหนักได้ถึง 3 ขีด/ต้น หรือหอมแบ่ง จากที่ใช้เวลา 40 วัน เหลือเพียง 30 วัน”

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากคุณภาพผลผลิตที่ได้แน่นอน ลดความเสียหายหรือความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ วิรัตน์ เขียนโครงการของบประมาณสร้างโรงเรือนเพิ่มอีก 2 หลังจากหน่วยงานรัฐ และลงทุนเองอีกหนึ่งหลัง โดยโรงเรือนทั้งหมดเป็นรูปแบบของ สวทช. ซึ่งเขาบอกว่า ตั้งใจใช้โรงเรือน สวทช. เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกพืชในระบบโรงเรือน

 

พื้นที่กว่า 3 ไร่แห่งนี้ไม่เพียงมีแปลงพืชผักของสมาชิกในครอบครัว ทั้งผักสด หม่อน มะม่วงหาวมะนาวโห่ และเป็นที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักสดและผลไม้แปรรูปบ้านหนองทราย หากยังเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ให้ความรู้การปลูกพืชระบบเกษตรอินทรีย์ การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์ ไปจนถึงการแปรรูปผลผลิตที่ได้รับมาตรฐาน กลุ่มฯ ใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System-PGS) ผลผลิตของกลุ่มฯ จำหน่ายที่ตลาดสีเขียวโรงพยาบาล ตลาดเกษตรกร ปั๊มน้ำมัน และส่งประจำทุกสัปดาห์ให้โรงพยาบาลพนมสารคาม ผลิตเป็นเมนูอาหารให้ผู้ป่วย

“ที่นี่มีตลาดจำหน่ายทุกวัน สมาชิกไปขายเอง ตลาดโมเดิร์นเทรดมีติดต่อมาหลายราย แต่เงื่อนไขก็มีมาก อีกอย่างสมาชิกกลัวทำไม่ได้ตามออเดอร์ เพราะยังไม่มีโรงเรือนด้วย”

 

การติดตั้งโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพของ สวทช. นอกจากเกษตรกรได้เรียนรู้การผลิตพืชผักในระบบโรงเรือนแล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงโครงสร้าง วัสดุอุปกรณ์ และการประยุกต์ใช้งานโรงเรือน

ด้วยทักษะและประสบการณ์ด้านงานช่าง ทำให้ วิรัตน์ รู้จักการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ แม้โรงเรือนปลูกพืชหลังแรกที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. เขาใช้วัสดุและอุปกรณ์ตามแบบทุกอย่าง ด้วยเกรงเรื่องการตรวจรับงานตามข้อตกลง แต่โรงเรือนหลังต่อๆ มา เขาได้ประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์และการติดตั้ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างโรงเรือนปลูกพืช

“ผมเคยสร้างโรงเรือนแบบ ก.ไก่ มาแล้ว ก็พอรู้ว่าตรงไหนที่ปรับลดต้นทุนได้ เหล็กแทนที่จะเป็นเหล็กกลมดำพ่นกันสนิม ก็ใช้เป็นเหล็กแป๊บประปา (เหล็กกัลวาไนซ์) ทนกว่า คลิปล็อก เจอลมแรงบ่อยเข้า เด้งหลุด ก็ใช้ท่อพีวีซีผ่าครึ่งแล้วยิงน็อตยึดกับพลาสติกคลุมโรงเรือน”

วิรัตน์ บอกว่า โรงเรือนหนึ่งหลังมีค่าใช้จ่ายคลิปล็อกประมาณ 4,000-5,000 บาท หากใช้รางวายล็อค ค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท แต่ถ้าเป็นท่อพีวีซี ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000 บาท “การคำนวณขนาดเหล็กที่ต้องใช้” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ วิรัตน์ ให้ความสำคัญ เพื่อใช้เหล็กแต่ละเส้นให้คุ้มค่า “มีเศษเหล็กเหลือทิ้งน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย”

“คนงานส่วนใหญ่ดูแปลนแล้วก็จะตัดตามขนาดเป็นชุดๆ ไป เช่น ใช้เหล็กยาว 1.10 เมตร ก็จะตัด 1.10 เมตร ทำให้มีเศษเหล็กเหลือเป็นท่อนๆ สั้นบ้างยาวบ้าง แต่ถ้าเราดูขนาดเหล็กที่ต้องใช้ทั้งหมดของโรงเรือน แล้วคำนวณว่าเหล็ก 1 เส้นยาว 6 เมตร เราจะตัดได้กี่ขนาดถึงจะมีเศษเหลือน้อยหรือไม่มีเลย อย่างในแปลนต้องใช้เหล็กยาว 3.90 เมตร 1.10 เมตร 1 เมตร เราก็ตัดครั้งเดียว ใช้เหล็กได้ทั้งเส้น ไม่มีเศษเหลือ”

นอกจากนี้ วิรัตน์ ยังได้ประยุกต์รูปแบบการติดตั้งโรงเรือนสองหลังเข้าด้วยกัน กลายเป็นโรงเรือนหนึ่งหลังขนาดใหญ่ที่กว้างขวาง มุ้งขนาดความถี่ 32 ตาที่ไม่ได้ติดแนบกับเสาข้างโรงเรือน ทำให้มีพื้นที่ด้านข้างสำหรับเดินดูแปลง และยังมีบ่อน้ำตรงกลางโรงเรือนขนาด 1.50x20x0.80 เมตร ความจุ 2 หมื่นลิตรเป็นแหล่งจ่ายน้ำและปุ๋ยให้พืชผักในพื้นที่กว่า 3 ไร่นี้ นอกจากนี้เขายังติดตั้งเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ในโรงเรือน 3 หลัง มีทั้งรูปแบบสั่งการให้น้ำที่ไม่ซับซ้อน เกษตรกรสั่งรดน้ำผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่าย และรูปแบบที่มีอุปกรณ์ติดตามสภาวะแวดล้อม มีการเก็บข้อมูลในระบบ นำมาวิเคราะห์เพื่อสั่งการให้น้ำ

สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการปรับประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่อลดต้นทุน คือการดูแลรักษาโรงเรือน ซึ่ง วิรัตน์ บอกว่า ต้องล้างฝุ่นที่มุ้ง เอาน้ำฉีดจากด้านในโรงเรือนอย่างน้อยทุก 10 วัน หรือถ้าล้างได้ทุกอาทิตย์ยิ่งดี พลาสติกคลุมโรงเรือนก็เช่นกัน ทำความสะอาดฉีดล้างเดือนละครั้ง ปีนบันได ต่อด้ามไม้เอาฟองน้ำถู ล้างคราบที่เกาะ จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้

เมื่อปลูกผักได้ตลอดทั้งปีและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จากเดิมที่มีสมาชิกปลูกผักเพียง 7 คน สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 24 คน และมีรายได้เฉลี่ยคนละ 10,000-15,000 บาท/เดือน วิรัตน์ ได้ขยายผลการใช้โรงเรือนปลูกพืช 9 หลังให้สมาชิกของกลุ่มฯ โดยเขารับหน้าที่ติดตั้งและยังสนับสนุนพลาสติกคลุมโรงเรือนให้ด้วย

“กลุ่มฯ ได้รับสนับสนุนพลาสติกจาก สวทช. 3 ม้วน ผมก็ให้เพิ่มอีก 3 ม้วน ซึ่งก็อาจใช้กับโรงเรือนได้มากกว่า 9 หลัง ขึ้นอยู่กับขนาดโรงเรือนที่สมาชิกแต่ละคนต้องการ โรงเรือนขนาด 6x24x4.8 เมตร ไม่รวมมุ้ง ผมทำให้สมาชิกฯ ราคาไม่เกิน 50,000 บาท เป็นค่าเหล็ก ค่าท่อพีวีซีแทนคลิปล็อก และค่าแรงงานอ๊อกเหล็ก ส่วนตอนขึ้นโรงเรือน สมาชิกมาช่วยกันอยู่แล้ว”

นอกจากรับหน้าที่หลักติดตั้ง “โรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพ” ให้สมาชิกแล้ว วิรัตน์ ยังได้รับการว่าจ้างให้ติดตั้งโรงเรือนนี้ในพื้นที่อื่นอีกด้วย โดยเขาคิดราคาที่ 100,000 บาทต่อหลัง ซึ่งรวมวัสดุอุปกรณ์ ค่าแรง และค่าเดินทาง

คำถามที่ วิรัตน์ มักได้ยินเมื่อเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการใช้โรงเรือน คือ การคืนทุน เขาจะยกตัวอย่างและคำนวณให้เห็นตัวเลขเป็นแนวทาง ซึ่งเขามองว่าสิ่งสำคัญกว่าเม็ดเงินที่ลงทุนหรือที่จะได้คืนจากการมีโรงเรือนปลูกพืช คือ เกษตรกรต้องรู้จักตัวเองก่อน

“เกษตรกรต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อน มีความรู้ปลูกพืชหรือยัง รู้จักผักที่จะปลูก วางแผนการปลูกได้ ปัจจัยการผลิตอย่างปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ทำเองได้หรือเปล่า ในพื้นที่มีวัตถุดิบมั้ย ฯลฯ โรงเรือนปลูกพืชเป็นเครื่องมือ เกษตรกรต้องมีความรู้การทำเกษตร แล้วถึงใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีมาช่วย”

# # #

หนังสือ วิทย์ชิดชุมชน : เข้าใจ เปิดรับ ปรับเปลี่ยน

ใช้เป็น ใช้จริง ใช้ “โรงเรือนพลาสติกปลูกพืช” อย่างมีความรู้