ด้วยรสชาติและคุณภาพ “ทุเรียนไทย” ทำให้แนวโน้มความต้องการบริโภคทุเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดูแลเอาใจใส่และบริหารจัดการแปลงปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ (มากกว่าปริมาณ) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรชาวสวนไม่อาจมองข้าม แต่จากสภาพอากาศที่แปรปรวน การแพร่ระบาดของโรคและแมลง รวมถึงต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนประสบ ซึ่ง “การควบคุมทรงพุ่มต้นทุเรียน” เป็นอีกหนึ่งทางออกของปัญหาให้เกษตรกรได้
ลดค่าแรง-โรคระบาด-ความเสียหาย
ดร.ยศพล ผลาผล อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ได้ศึกษาวิจัยการควบคุมทรงพุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน พบว่า การควบคุมทรงพุ่มมีความสัมพันธ์ต่อทั้งต้นทุนแรงงาน โรคแมลง และสภาพภูมิอาศ
“ปัจจุบันต้นทุนแรงงานสูงขึ้น แรงงานที่มีทักษะในสวนทุเรียนหายากขึ้น และในอนาคตพื้นที่ปลูกทุเรียนจะเพิ่มขึ้น การแย่งชิงแรงงานที่มีทักษะก็จะมากขึ้น หรือแม้แต่การกลับคืนถิ่นของแรงงานเพื่อนบ้าน เป็นอีกแนวโน้มด้านแรงงานในสวนทุเรียนที่เกษตรกรเจ้าของสวนจะต้องพบเจอ เมื่อควบคุมทรงพุ่ม ต้นจะมีขนาดเล็กลง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกทุเรียนก็จะลดลง เช่น การโยงผล การตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งดอกหรือผล การเก็บเกี่ยว เมื่อต้นเล็กลง ทำให้ใช้แรงงานน้อยลง และแรงงานก็ทำงานได้ง่ายมากขึ้น การตัดแต่งทรงพุ่มยังช่วยเรื่องการถ่ายเทอากาศ ลดการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์และการระบาดของโรค รวมทั้งยังลดแรงเสียดทานกับลมพายุหรือลมฝนที่รุนแรงได้อีกด้วย”
เข้าใจหลักการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
แม้ปัจจุบันเกษตรกรสวนทุเรียนจะเริ่มให้ความสำคัญกับการตัดแต่งทรงพุ่มมากขึ้น แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง
เกษตรกรตัดแต่งแบบเล็กน้อย ไม่ได้ดูความสูงหรือทรง การตัดแต่งต้องมีหลักการ เข้าใจลักษณะทรงต้นทุเรียน ความสูงความกว้าง ทุเรียนมีลักษณะเป็นทรงปิรามิด ลักษณะเหมือนต้นสน ต้องตัดแบบไล่ระดับขึ้นไป ตัดตรงไม่ได้ เพราะด้านล่างไม่ได้รับแสง”
หลักการตัดแต่งทรงพุ่มที่สำคัญคือเรื่องแสง ควบคุมให้มีแสงเข้าในทรงพุ่มมากขึ้น โดยตัดแต่งกิ่งในทรงต้น ควบคุมไว้ประมาณ 20-25 กิ่ง ทำให้กิ่งได้อาหารมากขึ้น กิ่งจะใหญ่ กิ่งหนึ่งมี 4 ลูก 1 ต้นจะได้ผลผลิตประมาณ 80-100 ลูก นอกจากนี้เมื่อจัดการทรงพุ่มให้มีขนาดเล็กลงได้จะสามารถเพิ่มจำนวนต้นต่อไร่ จากเดิม 16 ต้น ในระยะปลูก 10×10 เมตร หลังจัดการทรงต้นสามารถเพิ่มเป็น 20 หรือ 25 ต้นได้
ทรงต้นทุเรียนยุคใหม่
จากการศึกษาวิจัยของ ดร.ยศพล พบรูปแบบการตัดแต่งทรงพุ่มต้นทุเรียนมี 2 รูปแแบบที่เหมาะสม คือ แบบดั้งเดิมประยุกต์ เหมาะสำหรับต้นทุเรียนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ควบคุมเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 7 เมตร หรือความยาวกิ่งแขนงหลัก 3.5 เมตร ความสูงของต้น 5 เมตร และแบบใหม่ เหมาะกับทุเรียนที่เพิ่งปลูกใหม่ มีอายุไม่เกิน 8 ปี ควบคุมเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 5 เมตร ความยาวกิ่งแขนงหลัก 2.5 เมตร เกษตรกรสามารถเริ่มคัดเลือกกิ่งที่มีความสมบูรณ์ตั้งแต่อายุ 1 ปี หรือมีความสูงตั้งแต่ 1.5 เมตรขึ้นไป กิ่งที่สมบูรณ์มีลักษณะใหญ่ แข็งแรง เว้นระยะห่างระหว่างกิ่ง 30 ซม. โดยคัดจากด้านล่างต้น
“การควบคุมทรงพุ่มแบบดั้งเดิมประยุกต์แนะนำให้ควบคุมความสูงก่อน โดยปีแรกให้เริ่มที่ตัดยอดก่อน ปีถัดไปจึงตัดด้านข้าง ไม่ตัดพร้อมกันทีเดียว เพราะจะทำให้ใบของต้นเหลือน้อย ปริมาณพื้นที่ใบต่อต้นควรอยู่ที่ 80% ไม่แน่นทึบ”
นอกจากนี้การตัดแต่งทรงพุ่มควรดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 เดือนหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต และเกษตรกรควรไว้ยอด 1-2 ยอด เพื่อค้ำยันหรือยึดโยงกับกิ่งและเพิ่มพื้นที่ใบให้กับทรงพุ่ม ในกรณีที่ตัดแต่งช่วงที่มีฝน เกษตรกรควรฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อราเพื่อควบคุมโรค
จากการศึกษาวิจัยของดร.ยศพล ยังพบว่าการควบคุมทรงพุ่มต้นทุเรียนช่วยลดการระบาดของโรคใบติดได้ถึง 20-30% ขณะที่ปริมาณการออกดอกทุเรียน 80-90% และผลผลิตต่อต้นประมาณ 90 ลูก
“การควบคุมทรงพุ่มต้นทุเรียน” จึงเป็นวิธีที่เกษตรกรสวนทุเรียนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน ลดการเกิดโรคระบาด ลดต้นทุนการผลิตทั้งค่าแรงงาน ค่าปุ๋ยหรือสารเคมี และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
# # #