“การทำอาหารให้ได้คุณภาพ วัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้นทางวัตถุดิบมาจากการทำเกษตรที่ดี” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอัตลักษณ์อันโดดเด่นด้านอาหารมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นโรงเรียนการเรือนจวบจนกระทั่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหารออกสู่สังคมโดยคำนึงความอร่อย คุณค่าและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ จากแนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อน โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ หรือ หอมขจรฟาร์ม บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ที่วิทยาเขตสุพรรณบุรี เพื่อดำเนินงานส่งเสริมคุณค่าห่วงโซ่การผลิตอาหารปลอดภัยจากต้นน้ำไปจนกระทั่งถึงปลายน้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการและชุมชน
“เราไม่ได้ต้องการทำเกษตรดั้งเดิม แต่จะนำเทคโนโลยีมาบูรณาการกับการเกษตรที่ดีและความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปที่เป็นมาตรฐานของมหาวิทยาลัย” รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงความตั้งใจของมหาวิทยาลัยต่อการขับเคลื่อนโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ ที่ไม่ใช่แค่การดำเนินงานเพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยเท่านั้น หากยังบูรณาการการดำเนินงานของแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะเป็นฐานการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้บุคคลทุกช่วงวัย ทั้งนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ เกษตรกรและผู้ประกอบการในจังหวัดสุพรรณบุรี
โรงเรือนเพาะปลูกพืชขนาด 6x20x5.6 เมตร จำนวน 3 โรงเรือนตั้งเรียงตระหง่านบนพื้นที่หอมขจรฟาร์ม เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีเป้าหมายเพื่อ “พัฒนางานวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน” ซึ่งทั้งสามโรงเรือนดังกล่าวมีความต่างเรื่องโครงสร้าง อุปกรณ์ ฟังก์ชั่นการใช้งานและราคา ที่สามารถใช้ในการดำเนินการวิจัยและสาธิตการผลิตพืชมูลค่าสูง และเป็นตัวอย่างของโรงเรือนปลูกพืชให้แก่เกษตรกรในการเรียนรู้และประยุกต์ให้เหมาะกับตนเอง
เฉลิมชัย แสงอรุณ ผู้จัดการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะและผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน เล่าว่า ที่ผ่านมาหอมขจรฟาร์มได้ทดลองปลูกเมลอนมาแล้วจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทิเบต พันธุ์กาเรีย และพันธุ์ออเร้นจ์แมน โดยปลูกในโรงเรือน 3 รูปแบบได้แก่ โรงเรือนอัจฉริยะ เป็นโรงเรือนที่มีระบบเซนเซอร์สำหรับวัดความชื้นดิน อุณหภูมิ ความชื้นอากาศ และความเข้มแสง มีระบบสเปรย์หมอก สามารถควบคุมการให้น้ำหรือลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ผ่านทางมือถือได้ โรงเรือนกึ่งอัตโนมัติ เป็นโรงเรือนที่ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยได้ผ่านมือถือ แต่ไม่มีระบบสเปรย์หมอก และโรงเรือนที่ติดตั้งเฉพาะเซนเซอร์ เพื่อดูค่าสภาวะแวดล้อมแต่ไม่สามารถควบคุมหรือสั่งงานได้
“ระบบในโรงเรือนอัจฉริยะบริหารจัดการปัญหาได้ดีพอสมควร ในหน้าหนาวไม่ค่อยเจอปัญหา แต่หน้าร้อนที่มี เพลี้ยไฟ ไรแดงระบาด สามารถใช้สเปรย์หมอกช่วยได้ รวมทั้งกรณีที่สังเกตเห็นเซนเซอร์อุณหภูมิเตือนว่าอากาศอบอ้าว ก็สามารถสั่งให้สเปรย์หมอกทำงาน หรือสั่งให้พัดลมระบายอากาศทำงาน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่อย่างไรก็ตามการทำเกษตร นอกจากจะมีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีช่วยแล้ว เกษตรกรต้องมีความรู้ในการดูแลพืช แม้จะสามารถสั่งงานผ่านแอพได้ แต่ก็ควรต้องไปคลุกคลีสังเกตในโรงเรือนอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน”
รศ.ดร.ชนะศึก เล่าถึงผลผลิตเมล่อนที่ได้จากโรงเรือนปลูกพืชของ สวทช. เมื่อบวกกับการวางแผนการตลาดและความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปของมหาวิทยาลัย จะเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้มองเห็นถึงการผลิตที่เน้นทำในปริมาณน้อยแต่มีคุณภาพ สามารถสร้างมูลค่าให้แก่ผลผลิตและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรได้
“ผลผลิตเมล่อนจากทั้งสามโรงเรือนได้รับรองมาตรฐาน GAP และจำหน่ายภายใต้แบรนด์หอมขจร ซึ่งเมล่อนเกรดพรีเมี่ยม (น้ำหนักเกิน 3 กก. ร้อยละ 85 ของผลผลิต) จัดส่งขายที่ตลาด อตก. ราคาลูกละ 399 บาท เกรด B วางขายที่ปั๊มปตท. จังหวัดสุพรรณบุรี ราคาลูกละ 250 บาท (น้ำหนัก 2-3 กก. ร้อยละ 10 ของผลผลิต) ส่วนเกรด C (น้ำหนักต่ำกว่า 2 กก. ร้อยละ 5 ของผลผลิต) นำไปแปรรูปเป็นไอศกรีมและเครื่องดื่มขายในโรงแรมสวนดุสิตเพลส และเรายังนำผลอ่อนหรือลูกที่คัดทิ้งไปทำเมนูเมล่อนผัดไข่ ซึ่งกลายเป็น signature ของโรงแรมที่ถูกพูดถึง”
รศ.ดร.ชนะศึก และ เฉลิมชัย ได้วางแผนการปลูกเมล่อนทั้ง 3 สายพันธุ์ ให้ครบทุกฤดูกาลในวงรอบ 1 ปี เพื่อเรียนรู้ถึงสภาวะแวดล้อมและการจัดการเมล่อนในแต่ละช่วงฤดูได้อย่างเหมาะสม และรวบรวมองค์ความรู้จากการผลิตเมล่อนในระบบโรงเรือนส่งต่อให้เกษตรกรได้นำไปปรับใช้ได้จริงในชุมชน นอกจากเมล่อนแล้วยังได้วางแผนปลูกพืชมูลค่าสูงอื่นๆ ที่ต้องการดูแลพิเศษในโรงเรือน เช่น ไม้ดอก มะเขือเทศ ในอนาคตอีกด้วย
“โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ เป็นการทำงานในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรต่อกัน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรสู่ชุมชนโดยไม่หวังผลกำไร ยกตัวอย่างเช่น โรงเรือนของ สวทช. ที่ได้กล่าวถึงนั้น ก็ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต หากแต่ทั้ง สวทช. และมหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีเจตนารมย์ร่วมกันที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกร ซึ่งจะพัฒนาหลักสูตรจัดอบรมร่วมกันต่อไป” รศ.ดร.ชนะศึก กล่าวทิ้งท้าย
# # #
ข้อมูลจากหนังสือ วิทย์พลิกชุมชน: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (ปี 2564)