“เราเริ่มเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าแบบติดลบด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่รู้คือเป็นศูนย์ แต่ติดลบคือเราเข้าใจผิด ทำให้เราทำหลายๆ อย่างไม่ถูกต้อง” นุจรี โลหะกุล ถอดบทเรียนที่ได้จากการต่อยอดงานวิจัย “ไรน้ำนางฟ้า” สู่ธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงของครอบครัว
หลังอบรมและเรียนรู้การเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี นุจรี กลับมาทดลองและฝึกฝนการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าในบ่อวงซีเมนต์ขนาด 90 ซม. ที่บ้านพักย่านสมุทรปราการ ควบคู่ไปกับธุรกิจเลี้ยงไส้เดือนดินที่จำหน่ายในชื่อ “เพื่อนดิน”
“มีลูกค้าที่ซื้อไส้เดือนเป็นประจำเพื่อเอาไปเป็นอาหารให้ปลาหมอสี ลองตักไรน้ำให้เขาไปลองใช้ เขาใช้อยู่ 2 เดือน เห็นว่าลูกปลาขึ้นหัวโหนกเร็ว สีและรูปทรงปลาสวยมาก หลังจากนั้นก็ขอซื้อและกลายเป็นลูกค้าประจำ”
เสียงตอบรับจากลูกค้าที่ได้ใช้ไรน้ำนางฟ้าในฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา จุดประกายให้ นุจรี มองเห็นโอกาสที่จะสร้างธุรกิจใหม่ให้ตัวเองได้ และจากการสำรวจตลาดจำหน่ายในไทย เธอพบว่ายังไม่มีอาหารสัตว์น้ำที่มีโปรตีนสูงและยังมีตัวเร่งสีในธรรมชาติเหมือนไรน้ำนางฟ้า
ปี 2559 นุจรี ตัดสินใจขยับขยายพื้นที่การเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไปที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา บนพื้นที่ 3.5 ไร่ โดยใช้พื้นที่เริ่มต้น 1 ไร่ ออกแบบโรงเลี้ยง บ่อเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าและบ่อเลี้ยงคลอเรลล่า (สาหร่ายสีเขียว) เอง ใช้ความรู้จากที่อบรมมาบวกกับประสบการณ์ที่ทดลองเลี้ยงที่บ้านพัก โดยมีอภิรักษ์ โล่ห์ชิตกุล สามี และธนโชติ โล่ห์ชิตกุล ลูกชาย ร่วมผลักดัน “ฟาร์มไรน้ำนางฟ้า Big & Bright” ธุรกิจใหม่นี้ไปด้วยกัน
“ลักษณะฟาร์มที่นี่ผิดหมดเลย บ่อเลี้ยงไรน้ำทำเป็นวงกลม สูงเกินไป น้ำไม่วน ดูดเก็บตะกอนยาก ตั้งโรงเลี้ยงกั้นบ่อเลี้ยงคลอเรลล่า ทำบ่อสูงอีก แดดลงไม่ถึง น้ำไม่ค่อยเขียว หรือแม้แต่ระบบน้ำที่วางก็ไม่เหมาะสม น้ำทิ้งเยอะ” นุจรี บอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างต่างๆ ในฟาร์ม รวมถึงสภาพแหล่งน้ำและสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ทำให้ช่วงสองปีแรกนุจรีและสมาชิกครอบครัวต้องรับมือและหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้สัตว์น้ำตัวเล็กๆ เหล่านี้อยู่รอด ซึ่งนั่นก็หมายถึงความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวด้วย
“ท้อจนถึก” ธนโชติ บอก ขณะที่ นุจรี เสริมว่า ตอนแรกทำเกินกำลัง จนลูกและสามีคอยดึงให้ทำเท่าที่ทำได้ ไปช้าๆ เมื่อเจอปัญหาค่อยๆ คิดหาทางแก้ และเราต้องพร้อมที่จะปรับตัว การรู้ทฤษฎีเป็นสิ่งสำคัญมากที่เป็นจุดเริ่มต้น แต่เราต้องปรับตัวตามสภาพพื้นที่ ที่ยังอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะยอมที่จะปรับตัว แรกๆ ไม่อยากทำ แต่พอเราเริ่มปรับตัว เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้บ่อที่มีอยู่แต่ปรับวิธีการเลี้ยงใหม่ ทุกอย่างไม่ต้องเหมือนที่วิทยาลัยฯ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้
“การนำงานวิจัยไปทำธุรกิจต้องเข้มงวดกับทฤษฎีมาก ในการเริ่มต้นไม่ควรดัดแปลงอะไร จนกระทั่งเราทำไปสักระยะ รวบรวมปัญหาและวิเคราะห์หาสาเหตุ จากนั้นปรับตัว ทฤษฎีที่เรียนมาเป็นเหมือนเสาเข็มเป็นหลักให้เรา ถ้าไม่มีหลัก เราจะไม่รู้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนตรงไหนเพื่อให้ได้ผล”
การผลิตไรน้ำนางฟ้าของฟาร์มเดินหน้าไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาต่างๆ เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า เมื่อ ธนโชติ ใช้ช่องทาง Digital Marketing เพื่อเข้าถึงผู้ใช้งานไรน้ำนางฟ้าตัวจริง
“ตอนแรกเน้นไปที่ฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงาม แต่พบว่าไม่เหมาะกับเรา ฟาร์มต้องการไรน้ำเยอะ แต่เราทำเล็กๆ แบบครอบครัว ก็เลยเปลี่ยนมาที่ผู้ใช้งานจริง คือ คนเลี้ยงปลาสวยงามตามบ้าน ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น และมีลูกค้าประจำ 80% ที่สั่งไรน้ำจากเราทุกเดือน”
เฟซบุ๊ค “HT Fairy Shrimp Farm ไรน้ำนางฟ้าเพื่อปลาสวยงาม” ไม่เพียงเป็นช่องทางจำหน่ายไรน้ำนางฟ้าไทยและไรน้ำนางฟ้าสิรินธร หากยังให้ข้อมูลวิชาการจากงานวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ซึ่งไม่เพียงลูกค้าในประเทศ ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศทั้งเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบราซิลที่ให้ความสนใจสั่งซื้อทั้งแบบเป็นตัวแช่แข็งและแบบไข่ ซึ่ง นุจรี กำลังดำเนินการขึ้นทะเบียนฟาร์มและขอใบอนุญาตส่งออก
แม้ปัญหาจากโครงสร้างของฟาร์มจะได้รับการแก้ไขพร้อมๆ กับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า แต่พวกเขาบอกว่า ถ้าเปรียบเหมือนเด็ก ตอนนี้รอดตายแล้ว แต่จะให้เติบโตแข็งแรง ต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะการทำเป็นธุรกิจที่ต้องมีหลักการของตัวเองที่ชัดเจน ซึ่งพวกเขาใช้หลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทาง
“คำว่าความพอเพียง หมายความว่า แต่ละขั้นตอนที่เดินไป เรามีเงินทุนเท่าไหร่ เราจะปรับเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน เรามีกำลังคนเท่าไหร่ และที่สำคัญตลาดมีเท่าไหร่ ถ้าเรามีตลาดน้อย แต่เราไปโหมผลิตเยอะ มันไม่ใช่ล่ะ แต่ถ้าการผลิตโตไปพอๆ กับการขาย พอๆ กับตลาดที่เรามี เรามองว่าเรามีความสุข แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่แค่ตรงนี้ เราอยากโต เราอยากขยาย เพียงแต่ว่าแต่ละก้าว เราไม่ทุ่มอย่างบ้าคลั่ง เราไปอย่างมั่นคง ช้าๆ และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”
จากวันที่รู้จัก “ไรน้ำนางฟ้า” จนมาถึงวันนี้ นุจรี ยังคงเรียนรู้ ทดลอง และเปิดรับเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง การขนส่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงคิดต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยหลักวิชาการจากงานวิจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งตัวเธอและผู้บริโภค
“เราไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตรมาก่อน อย่างไรน้ำนางฟ้า คนถามบ่อยมากว่า มีโรคมั้ย เอาไปเลี้ยงปลาแล้วปลาจะตายมั้ย จะเอาโรคไปติดต่อกันมั้ย เราเป็นคนเลี้ยงก็ต้องบอกว่าดี แต่ถ้ามีงานวิชาการที่ทำวิจัยมาแล้วรองรับว่าไม่มีโรคและไม่ติดต่อ เราสามารถพูดได้ ความน่าเชื่อมี ตรงนี้งานวิจัยช่วยได้มาก”
# # #
สวทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้ศ.ดร.ละอองศรี เสนาะเมือง และดร.นุกูล แสงพันธ์ ศึกษาวิจัย “ไรน้ำนางฟ้าชนิดใหม่ และการเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจ” ซึ่งไรน้ำนางฟ้าไทยมีโปรตีน 65% มีสารเร่งสีสูง ขณะที่ไรน้ำนางฟ้าสิรินธรมีโปรตีน 75% มีสารเร่งสีน้อยกว่า
ฟาร์มไรน้ำนางฟ้า Big & Bright www.facebook.com/HTFairyshrimpfarm