“เราไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตรมาก่อน อย่างไรน้ำนางฟ้า คนถามบ่อยมากว่า มีโรคมั้ย เอาไปเลี้ยงปลาแล้วปลาจะตายมั้ย มันจะเอาโรคไปติดต่อกันมั้ย เราเป็นคนเลี้ยงก็ต้องบอกว่าดี แต่ถ้ามีงานวิชาการที่ทำวิจัยมาแล้วรองรับว่าไม่มีโรคและไม่ติดต่อ เราสามารถพูดได้ ความน่าเชื่อมี ตรงนี้งานวิจัยช่วยพี่มากๆ”
ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินภายใต้แบรนด์ “เพื่อนดิน” เป็นธุรกิจแรกของคุณนุจรี โลหะกุล หรือคุณเจี๊ยบ ที่ต่อยอดจากการเข้าร่วมอบรมเรียนรู้จนสามารถผันชีวิตจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว “ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน” ยังพาคุณเจี๊ยบให้รู้จักกับ “ไรน้ำนางฟ้า” อีกหนึ่งงานวิจัยด้านเกษตรที่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจของผู้หญิงเก่งคนนี้อีกเช่นกัน
จากงานออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เพื่อนดิน” ในงานประชุมวิชาการของ สวทช. คุณเจี๊ยบได้รู้จักกับงานวิจัย “ไรน้ำนางฟ้า” ด้วยความน่าสนใจของสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงและยังให้สารเร่งสีสำหรับสัตว์น้ำด้วย คุณเจี๊ยบจึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรมเรียนรู้การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าเมื่อปี 2555
“อบรมกลับมาก็ไม่คิดจะทำเป็นธุรกิจ เพราะไรน้ำนางฟ้าเลี้ยงยากมาก เรายังไม่มีความรู้มากพอ ไข่ที่ได้มาจากการอบรมก็แช่ไว้ในตู้เย็นอยู่หลายเดือน จนพอมีเวลาว่างจากฟาร์มไส้เดือน ก็เอาไข่ที่ได้มาลองเลี้ยงในกะละมัง ทำตามที่เรียนมา แล้วทดลองให้เป็นอาหารปลาที่เลี้ยงไว้ที่บ้าน ก็เริ่มเห็นผลว่าปลาชอบ ปลาสีสวย วันนึงมีลูกค้ามาขอซื้อไส้เดือนไปเป็นอาหารปลาหมอสี พี่ก็เลยลองตักไรน้ำนางฟ้าที่เลี้ยงไว้ให้เขาไปทดลองใช้ ปรากฏว่าหลังจากนั้นกลายเป็นลูกค้าประจำ”
จากทดลองเลี้ยงในกะละมัง คุณเจี๊ยบได้ขยายการเลี้ยงลงในบ่อวงซีเมนต์ขนาด 90 ซม. จำนวน 12 บ่อภายในบ้าน และเริ่มสำรวจตลาดจำหน่ายที่จตุจักรซึ่งเป็นตลาดใหญ่ คุณเจี๊ยบพบว่า ในตลาดยังไม่มีอาหารสัตว์น้ำที่มีโปรตีนสูงและยังมีตัวเร่งสีในธรรมชาติเหมือนไรน้ำนางฟ้า ตลาดจำหน่ายไรน้ำนางฟ้าจึงมีโอกาสสูง แต่เมื่อมองกำลังการผลิตจากบ่อวงขนาดเล็กที่บ้าน เห็นว่าไม่สามารถผลิตส่งขายตลาดใหญ่ได้เพียงพอ คุณเจี๊ยบจึงตัดสินใจซื้อที่ดินที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีม เพื่อทำฟาร์มไรน้ำนางฟ้า โดยใช้บ่อวงใหญ่ขนาด 2 เมตร จำนวน 16 บ่อ ปัจจุบันขยายบ่อวงเป็นขนาด 4 เมตร ช่วยให้อัตราการไหลทิ้งของอาหารน้อยลง และไรน้ำกินอาหารได้ทั่วถึงมากขึ้น
“ไรน้ำนางฟ้าเลี้ยงยากมาก มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องควบคุมให้ดีทั้งคุณภาพน้ำและอาหารของไรน้ำนางฟ้าคือ คลอเรลลา (สาหร่ายสีเขียว) แม้จะเพาะเองได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้คลอเรลลาคงที่ มีโจทย์ให้เรียนรู้ให้แก้ปัญหาตลอดในการเลี้ยงไรน้ำ แต่ก็ยังสนุกที่จะเรียนรู้ ไรน้ำนางฟ้ายังใหม่มากสำหรับเมืองไทย และตลาดไรน้ำนางฟ้าในประเทศยังเล็ก ถ้าคนรู้และทดลองใช้ เขาจะกลายเป็นลูกค้าประจำเพราะจะเห็นผลชัดเจนว่าปลาชอบมาก แข็งแรงและสีสวย”
นอกจากการเลี้ยงน้ำเขียวหรือคลอเรลลาให้มีคุณภาพเพื่อเป็นอาหารของไรน้ำนางฟ้าแล้ว การตรวจสอบคุณภาพน้ำซึ่งเป็นบ้านของไรน้ำนางฟ้าก็สำคัญเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่าง “โรติเฟอร์” แพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กจะมาเยี่ยมเยียน และจะทำให้สิ่งที่ลงทุนไปสูญเปล่าทันที
“พี่ไม่ใช้น้ำจากแหล่งอื่นเลยนอกจากน้ำบาดาลในฟาร์มตัวเอง นอกจากโรติเฟอร์แล้ว แอมโมเนียเป็นอุปสรรคสำคัญอีกอย่างในการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ถ้ามีแอมโมเนียในน้ำ ไรน้ำจะไม่กินอาหาร ซึ่งวิธีง่ายที่สุดในการไล่แอมโมเนียคือปล่อยน้ำทิ้ง เอาน้ำใหม่ใส่ แต่จะสิ้นเปลืองน้ำ ซึ่งตอนนี้ที่ฟาร์มใช้วิธีเอาน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัดโดยใส่อออกซิเจนเพื่อไล่แอมโมเนีย ทำให้ใช้น้ำได้คุ้มค่าและสูบน้ำบาดาลน้อยลง”
ปัจจุบันคุณเจี๊ยบสามารถผลิตไรน้ำนางฟ้าได้ 50-60 กิโลกรัม/เดือน โดยมีลูกค้าคนไทยและต่างประเทศทั้งรายย่อยและฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งคุณเจี๊ยบได้ “น้องกิ๊ก-คุณธนโชติ โลห์ชิตกุล” ลูกชายเข้ามาช่วยดูแลการตลาดไรน้ำนางฟ้า ทำให้เฟซบุ๊ค “HT Fairy Shrimp Farm ไรน้ำนางฟ้าเพื่อปลาสวยงาม” ที่เคยเปิดไว้นานแล้ว กลับมามีความเคลื่อนไหวและกลายเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญ
“หลังจากที่ลูกชายเรียนจบก็มาช่วยทำงานที่บ้าน เขาเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับไรน้ำนางฟ้า แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำหน้าที่ตรงไหนดี เวลาเขาไปส่งไรน้ำให้ลูกค้ากับพี่ เขาจะคุยกับลูกค้านานมาก แล้วมาเล่าความต้องการของลูกค้าให้เราฟัง จนพี่คิดว่าเขาน่าจะเหมาะทำการตลาดให้เรา เพราะพี่ทำการตลาดไม่เป็นเลย”
นอกจากการให้ข้อมูลความรู้ผ่านหน้าเฟซบุ๊ค พร้อมทั้งรับออเดอร์และจัดส่งแล้ว สิ่งหนึ่งที่น้องกิ๊กจะเน้นย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าเสมอคือ “มีไรน้ำนางฟ้าจำหน่ายตลอด” เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งของการทำตลาดไรน้ำนางฟ้าคือ สินค้าขาดตลาด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีผลต่อการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ซึ่งการขยายขนาดบ่อวงเป็น 4 เมตรไม่เพียงช่วยให้การไหลทิ้งของอาหารน้อยลง แต่ยังช่วยให้คุณเจี๊ยบสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทำสต็อคไว้จำหน่ายได้ด้วย
ปัจจุบันคุณเจี๊ยบเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า 2 สายพันธุ์ คือ ไรน้ำนางฟ้าไทย และไรน้ำนางฟ้าสิรินธร ซึ่งไรน้ำนางฟ้าไทยจะมีโปรตีนที่ 65% แต่มีสารเร่งสีสูงมาก ขณะที่ไรน้ำนางฟ้าสิรินธรมีโปรตีน 75% แต่มีสารเร่งสีน้อยกว่า ตลาดผู้ผลิตไรน้ำนางฟ้าในปัจจุบันส่วนใหญ่จะขายเป็นไข่ให้คนไปเพาะเอง หรือไม่ก็ขายขนาดตัวเล็กจิ๋ว แต่ที่ฟาร์มคุณเจี๊ยบจะขายไรน้ำนางฟ้าตัวเต็มวัย ใช้เวลาเลี้ยง 15 วันแล้วแช่แข็งแพ็คส่งลูกค้า ซึ่งหัวใจสำคัญของการเก็บไรน้ำนางฟ้าคือ ต้องไม่แช่แข็งซ้ำ ถ้าละลายแล้วไปแช่ใหม่ ตัวไรจะยุ่ย ปลาไม่ชอบ
นอกจากความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าจนถึงการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าแล้ว คุณเจี๊ยบและลูกชายยังติดตามงานวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับไรน้ำนางฟ้า เพื่อเป็นข้อมูลพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ดียิ่งขึ้น
“ไม่กลัวว่าจะมีคู่แข่งเพิ่ม ก็ต้องวัดกันที่คุณภาพ ต้องฝึกฝีมือตัวเอง ทำออกมาให้ดี ให้ลูกค้าติดใจ จะช่วยให้วงการนี้พัฒนา ถ้ามีพี่เป็นผู้ผลิตรายเดียวตลาดจะโตได้อย่างไร หลายคนมาช่วยกันทำ ถ้าส่งออกได้ เงินก็เข้าประเทศ รายได้ประเทศก็เพิ่มขึ้น”
ปัจจุบันยอดสั่งซื้อไรน้ำนางฟ้าในประเทศมีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับลูกค้าต่างประเทศทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และบราซิลที่ให้ความสนใจสัตว์น้ำตัวจิ๋วนี้ ซึ่งคุณเจี๊ยบอยู่ระหว่างดำเนินการเครื่องหมายการค้าเพื่อขยายการส่งออกไรน้ำนางฟ้าไปตลาดต่างประเทศ
# # #
สวทช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ดร.นุกูล แสงพันธุ์ คณะวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ศึกษาวิจัย “ไรน้ำนางฟ้า” และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่สาธารณชน