จากงานวิจัยสู่ธุรกิจ “ฟาร์มไรน้ำนางฟ้า”
ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
“เราเริ่มเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าแบบติดลบด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่รู้คือเป็นศูนย์ แต่ติดลบคือเราเข้าใจผิด ทำให้เราทำหลายๆ อย่างไม่ถูกต้อง” นุจรี โลหะกุล ถอดบทเรียนที่ได้จากการต่อยอดงานวิจัย “ไรน้ำนางฟ้า” สู่ธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงของครอบครัว
หลังอบรมและเรียนรู้การเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี นุจรี กลับมาทดลองและฝึกฝนการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าในบ่อวงซีเมนต์ขนาด 90 ซม. ที่บ้านพักย่านสมุทรปราการ ควบคู่ไปกับธุรกิจเลี้ยงไส้เดือนดินที่จำหน่ายในชื่อ “เพื่อนดิน”
“มีลูกค้าที่ซื้อไส้เดือนเป็นประจำเพื่อเอาไปเป็นอาหารให้ปลาหมอสี ลองตักไรน้ำให้เขาไปลองใช้ เขาใช้อยู่ 2 เดือน เห็นว่าลูกปลาขึ้นหัวโหนกเร็ว สีและรูปทรงปลาสวยมาก หลังจากนั้นก็ขอซื้อและกลายเป็นลูกค้าประจำ”
เสียงตอบรับจากลูกค้าที่ได้ใช้ไรน้ำนางฟ้าในฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา จุดประกายให้ นุจรี มองเห็นโอกาสที่จะสร้างธุรกิจใหม่ให้ตัวเองได้ และจากการสำรวจตลาดจำหน่ายในไทย เธอพบว่ายังไม่มีอาหารสัตว์น้ำที่มีโปรตีนสูงและยังมีตัวเร่งสีในธรรมชาติเหมือนไรน้ำนางฟ้า
ปี 2559 นุจรี ตัดสินใจขยับขยายพื้นที่การเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไปที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา บนพื้นที่ 3.5 ไร่ โดยใช้พื้นที่เริ่มต้น 1 ไร่ ออกแบบโรงเลี้ยง บ่อเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าและบ่อเลี้ยงคลอเรลล่า (สาหร่ายสีเขียว) เอง ใช้ความรู้จากที่อบรมมาบวกกับประสบการณ์ที่ทดลองเลี้ยงที่บ้านพัก โดยมีอภิรักษ์ โล่ห์ชิตกุล สามี และธนโชติ โล่ห์ชิตกุล ลูกชาย ร่วมผลักดันฟาร์มไรน้ำนางฟ้า “Big & Bright” ธุรกิจใหม่นี้ไปด้วยกัน
“ลักษณะฟาร์มที่นี่ผิดหมดเลย บ่อเลี้ยงไรน้ำทำเป็นวงกลม สูงเกินไป น้ำไม่วน ดูดเก็บตะกอนยาก ตั้งโรงเลี้ยงกั้นบ่อเลี้ยงคลอเรลล่า ทำบ่อสูงอีก แดดลงไม่ถึง น้ำไม่ค่อยเขียว หรือแม้แต่ระบบน้ำที่วางก็ไม่เหมาะสม น้ำทิ้งเยอะ” นุจรี บอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างต่างๆ ในฟาร์ม รวมถึงสภาพแหล่งน้ำและสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ทำให้ช่วงสองปีแรกนุจรีและสมาชิกครอบครัวต้องรับมือและหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้สัตว์น้ำตัวเล็กๆ เหล่านี้อยู่รอด ซึ่งนั่นก็หมายถึงความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวด้วย
“ท้อจนถึก” ธนโชติ บอก ขณะที่ นุจรี เสริมว่า ตอนแรกทำเกินกำลัง จนลูกและสามีคอยดึงให้ทำเท่าที่ทำได้ ไปช้าๆ เมื่อเจอปัญหาค่อยๆ คิดหาทางแก้ และเราต้องพร้อมที่จะปรับตัว การรู้ทฤษฎีเป็นสิ่งสำคัญมากที่เป็นจุดเริ่มต้น แต่เราต้องปรับตัวตามสภาพพื้นที่ ที่ยังอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะยอมที่จะปรับตัว แรกๆ ไม่อยากทำ แต่พอเราเริ่มปรับตัว เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้บ่อที่มีอยู่แต่ปรับวิธีการเลี้ยงใหม่ ทุกอย่างไม่ต้องเหมือนที่วิทยาลัยฯ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้
“การนำงานวิจัยไปทำธุรกิจต้องเข้มงวดกับทฤษฎีมาก ในการเริ่มต้นไม่ควรดัดแปลงอะไร จนกระทั่งเราทำไปสักระยะ รวบรวมปัญหาและวิเคราะห์หาสาเหตุ จากนั้นปรับตัว ทฤษฎีที่เรียนมาเป็นเหมือนเสาเข็มเป็นหลักให้เรา ถ้าไม่มีหลัก เราจะไม่รู้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนตรงไหนเพื่อให้ได้ผล”
การผลิตไรน้ำนางฟ้าของฟาร์มเดินหน้าไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาต่างๆ เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า เมื่อ ธนโชติ ใช้ช่องทาง Digital Marketing เพื่อเข้าถึงผู้ใช้งานไรน้ำนางฟ้าตัวจริง
“ตอนแรกเน้นไปที่ฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงาม แต่พบว่าไม่เหมาะกับเรา ฟาร์มต้องการไรน้ำเยอะ แต่เราทำเล็กๆ แบบครอบครัว ก็เลยเปลี่ยนมาที่ผู้ใช้งานจริง คือ คนเลี้ยงปลาสวยงามตามบ้าน ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น และมีลูกค้าประจำ 80% ที่สั่งไรน้ำจากเราทุกเดือน”
เฟซบุ๊ค “HT Fairy Shrimp Farm ไรน้ำนางฟ้าเพื่อปลาสวยงาม” ไม่เพียงเป็นช่องทางจำหน่ายไรน้ำนางฟ้าไทยและไรน้ำนางฟ้าสิรินธร หากยังให้ข้อมูลวิชาการจากงานวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ซึ่งไม่เพียงลูกค้าในประเทศ ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศทั้งเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบราซิลที่ให้ความสนใจสั่งซื้อทั้งแบบเป็นตัวแช่แข็งและแบบไข่ ซึ่ง นุจรี กำลังดำเนินการขึ้นทะเบียนฟาร์มและขอใบอนุญาตส่งออก
แม้ปัญหาจากโครงสร้างของฟาร์มจะได้รับการแก้ไขพร้อมๆ กับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า แต่พวกเขาบอกว่า ถ้าเปรียบเหมือนเด็ก ตอนนี้รอดตายแล้ว แต่จะให้เติบโตแข็งแรง ต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะการทำเป็นธุรกิจที่ต้องมีหลักการของตัวเองที่ชัดเจน ซึ่งพวกเขาใช้หลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทาง
“คำว่าความพอเพียง หมายความว่า แต่ละขั้นตอนที่เดินไป เรามีเงินทุนเท่าไหร่ เราจะปรับเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน เรามีกำลังคนเท่าไหร่ และที่สำคัญตลาดมีเท่าไหร่ ถ้าเรามีตลาดน้อย แต่เราไปโหมผลิตเยอะ มันไม่ใช่ล่ะ แต่ถ้าการผลิตโตไปพอๆ กับการขาย พอๆ กับตลาดที่เรามี เรามองว่าเรามีความสุข แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่แค่ตรงนี้ เราอยากโต เราอยากขยาย เพียงแต่ว่าแต่ละก้าว เราไม่ทุ่มอย่างบ้าคลั่ง เราไปอย่างมั่นคง ช้าๆ และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”
จากวันที่รู้จัก “ไรน้ำนางฟ้า” จนมาถึงวันนี้ นุจรี ยังคงเรียนรู้ ทดลอง และเปิดรับเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง การขนส่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงคิดต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยหลักวิชาการจากงานวิจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งตัวเธอและผู้บริโภค
“เราไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตรมาก่อน อย่างไรน้ำนางฟ้า คนถามบ่อยมากว่า มีโรคมั้ย เอาไปเลี้ยงปลาแล้วปลาจะตายมั้ย จะเอาโรคไปติดต่อกันมั้ย เราเป็นคนเลี้ยงก็ต้องบอกว่าดี แต่ถ้ามีงานวิชาการที่ทำวิจัยมาแล้วรองรับว่าไม่มีโรคและไม่ติดต่อ เราสามารถพูดได้ ความน่าเชื่อมี ตรงนี้งานวิจัยช่วยได้มาก”
สวทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้ศ.ดร.ละอองศรี เสนาะเมือง และดร.นุกูล แสงพันธ์ ศึกษาวิจัย “ไรน้ำนางฟ้าชนิดใหม่ และการเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจ” ซึ่งไรน้ำนางฟ้าไทยมีโปรตีน 65% มีสารเร่งสีสูง ขณะที่ไรน้ำนางฟ้าสิรินธรมีโปรตีน 75% มีสารเร่งสีน้อยกว่า
ไรน้ำนางฟ้า: จากงานวิจัยสู่ธุรกิจอนาคตไกล
“เราไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตรมาก่อน อย่างไรน้ำนางฟ้า คนถามบ่อยมากว่า มีโรคมั้ย เอาไปเลี้ยงปลาแล้วปลาจะตายมั้ย มันจะเอาโรคไปติดต่อกันมั้ย เราเป็นคนเลี้ยงก็ต้องบอกว่าดี แต่ถ้ามีงานวิชาการที่ทำวิจัยมาแล้วรองรับว่าไม่มีโรคและไม่ติดต่อ เราสามารถพูดได้ ความน่าเชื่อมี ตรงนี้งานวิจัยช่วยพี่มากๆ”
ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินภายใต้แบรนด์ “เพื่อนดิน” เป็นธุรกิจแรกของคุณนุจรี โลหะกุล หรือคุณเจี๊ยบ ที่ต่อยอดจากการเข้าร่วมอบรมเรียนรู้จนสามารถผันชีวิตจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว “ปุ๋ยไส้เดือนดิน” ยังพาคุณเจี๊ยบให้รู้จักกับ “ไรน้ำนางฟ้า” อีกหนึ่งงานวิจัยด้านเกษตรที่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจของผู้หญิงเก่งคนนี้อีกเช่นกัน
จากงานออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เพื่อนดิน” ในงานประชุมวิชาการของ สวทช. คุณเจี๊ยบได้รู้จักกับงานวิจัย “ไรน้ำนางฟ้า” ด้วยความน่าสนใจของสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงและยังให้สารเร่งสีสำหรับสัตว์น้ำด้วย คุณเจี๊ยบจึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรมเรียนรู้การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าเมื่อปี 2555
“อบรมกลับมาก็ไม่คิดจะทำเป็นธุรกิจ เพราะไรน้ำนางฟ้าเลี้ยงยากมาก เรายังไม่มีความรู้มากพอ ไข่ที่ได้มาจากการอบรมก็แช่ไว้ในตู้เย็นอยู่หลายเดือน จนพอมีเวลาว่างจากฟาร์มไส้เดือน ก็เอาไข่ที่ได้มาลองเลี้ยงในกะละมัง ทำตามที่เรียนมา แล้วทดลองให้เป็นอาหารปลาที่เลี้ยงไว้ที่บ้าน ก็เริ่มเห็นผลว่าปลาชอบ ปลาสีสวย วันนึงมีลูกค้ามาขอซื้อไส้เดือนไปเป็นอาหารปลาหมอสี พี่ก็เลยลองตักไรน้ำนางฟ้าที่เลี้ยงไว้ให้เขาไปทดลองใช้ ปรากฏว่าหลังจากนั้นกลายเป็นลูกค้าประจำ”
จากทดลองเลี้ยงในกะละมัง คุณเจี๊ยบได้ขยายการเลี้ยงลงในบ่อวงซีเมนต์ขนาด 90 ซม. จำนวน 12 บ่อภายในบ้าน และเริ่มสำรวจตลาดจำหน่ายที่จตุจักรซึ่งเป็นตลาดใหญ่ คุณเจี๊ยบพบว่า ในตลาดยังไม่มีอาหารสัตว์น้ำที่มีโปรตีนสูงและยังมีตัวเร่งสีในธรรมชาติเหมือนไรน้ำนางฟ้า ตลาดจำหน่ายไรน้ำนางฟ้าจึงมีโอกาสสูง แต่เมื่อมองกำลังการผลิตจากบ่อวงขนาดเล็กที่บ้าน เห็นว่าไม่สามารถผลิตส่งขายตลาดใหญ่ได้เพียงพอ คุณเจี๊ยบจึงตัดสินใจซื้อที่ดินที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีม เพื่อทำฟาร์มไรน้ำนางฟ้า โดยใช้บ่อวงใหญ่ขนาด 2 เมตร จำนวน 16 บ่อ ปัจจุบันขยายบ่อวงเป็นขนาด 4 เมตร ช่วยให้อัตราการไหลทิ้งของอาหารน้อยลง และไรน้ำกินอาหารได้ทั่วถึงมากขึ้น
“ไรน้ำนางฟ้าเลี้ยงยากมาก มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องควบคุมให้ดีทั้งคุณภาพน้ำและอาหารของไรน้ำนางฟ้าคือ คลอเรลลา (สาหร่ายสีเขียว) แม้จะเพาะเองได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้คลอเรลลาคงที่ มีโจทย์ให้เรียนรู้ให้แก้ปัญหาตลอดในการเลี้ยงไรน้ำ แต่ก็ยังสนุกที่จะเรียนรู้ ไรน้ำนางฟ้ายังใหม่มากสำหรับเมืองไทย และตลาดไรน้ำนางฟ้าในประเทศยังเล็ก ถ้าคนรู้และทดลองใช้ เขาจะกลายเป็นลูกค้าประจำเพราะจะเห็นผลชัดเจนว่าปลาชอบมาก แข็งแรงและสีสวย”
นอกจากการเลี้ยงน้ำเขียวหรือคลอเรลลาให้มีคุณภาพเพื่อเป็นอาหารของไรน้ำนางฟ้าแล้ว การตรวจสอบคุณภาพน้ำซึ่งเป็นบ้านของไรน้ำนางฟ้าก็สำคัญเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่าง “โรติเฟอร์” แพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กจะมาเยี่ยมเยียน และจะทำให้สิ่งที่ลงทุนไปสูญเปล่าทันที
“พี่ไม่ใช้น้ำจากแหล่งอื่นเลยนอกจากน้ำบาดาลในฟาร์มตัวเอง นอกจากโรติเฟอร์แล้ว แอมโมเนียเป็นอุปสรรคสำคัญอีกอย่างในการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ถ้ามีแอมโมเนียในน้ำ ไรไม่กินอาหาร ซึ่งวิธีง่ายที่สุดในการไล่แอมโมเนียคือปล่อยน้ำทิ้ง เอาน้ำใหม่ใส่ แต่จะสิ้นเปลืองน้ำ ซึ่งตอนนี้ที่ฟาร์มใช้วิธีเอาน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัดโดยใส่อออกซิเจนเพื่อไล่แอมโมเนีย ทำให้ใช้น้ำได้คุ้มค่าและสูบน้ำบาดาลน้อยลง”
ปัจจุบันคุณเจี๊ยบสามารถผลิตไรน้ำนางฟ้าได้ 50-60 กิโลกรัม/เดือน โดยมีลูกค้าคนไทยและต่างประเทศทั้งรายย่อยและฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งคุณเจี๊ยบได้ “น้องกิ๊ก-คุณธนโชติ โลห์ชิตกุล” ลูกชายเข้ามาช่วยดูแลการตลาดไรน้ำนางฟ้า ทำให้เฟซบุ๊ค “HT Fairy Shrimp Farm ไรน้ำนางฟ้าเพื่อปลาสวยงาม” ที่เคยเปิดไว้นานแล้ว กลับมามีความเคลื่อนไหวและกลายเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญ
“หลังจากที่ลูกชายเรียนจบก็มาช่วยทำงานที่บ้าน เขาเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับไรน้ำนางฟ้า แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำหน้าที่ตรงไหนดี เวลาเขาไปส่งไรน้ำให้ลูกค้ากับพี่ เขาจะคุยกับลูกค้านานมาก แล้วมาเล่าความต้องการของลูกค้าให้เราฟัง จนพี่คิดว่าเขาน่าจะเหมาะทำการตลาดให้เรา เพราะพี่ทำการตลาดไม่เป็นเลย”
นอกจากการให้ข้อมูลความรู้ผ่านหน้าเฟซบุ๊ค พร้อมทั้งรับออเดอร์และจัดส่งแล้ว สิ่งหนึ่งที่น้องกิ๊กจะเน้นย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าเสมอคือ “มีไรน้ำนางฟ้าจำหน่ายตลอด” เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งของการทำตลาดไรน้ำนางฟ้าคือ สินค้าขาดตลาด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีผลต่อการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ซึ่งการขยายขนาดบ่อวงเป็น 4 เมตรไม่เพียงช่วยให้การไหลทิ้งของอาหารน้อยลง แต่ยังช่วยให้คุณเจี๊ยบสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทำสต็อคไว้จำหน่ายได้ด้วย
ปัจจุบันคุณเจี๊ยบเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า 2 สายพันธุ์ คือ ไรน้ำนางฟ้าไทย และไรน้ำนางฟ้าสิรินธร ซึ่งไรน้ำนางฟ้าไทยจะมีโปรตีนที่ 65% แต่มีสารเร่งสีสูงมาก ขณะที่ไรน้ำนางฟ้าสิรินธรมีโปรตีน 75% แต่มีสารเร่งสีน้อยกว่า ตลาดผู้ผลิตไรน้ำนางฟ้าในปัจจุบันส่วนใหญ่จะขายเป็นไข่ให้คนไปเพาะเอง หรือไม่ก็ขายขนาดตัวเล็กจิ๋ว แต่ที่ฟาร์มคุณเจี๊ยบจะขายไรน้ำนางฟ้าตัวเต็มวัย ใช้เวลาเลี้ยง 15 วันแล้วแช่แข็งแพ็คส่งลูกค้า ซึ่งหัวใจสำคัญของการเก็บไรน้ำนางฟ้าคือ ต้องไม่แช่แข็งซ้ำ ถ้าละลายแล้วไปแช่ใหม่ ตัวไรจะยุ่ย ปลาไม่ชอบ
นอกจากความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าจนถึงการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าแล้ว คุณเจี๊ยบและลูกชายยังติดตามงานวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับไรน้ำนางฟ้า เพื่อเป็นข้อมูลพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ดียิ่งขึ้น
“ไม่กลัวว่าจะมีคู่แข่งเพิ่ม ก็ต้องวัดกันที่คุณภาพ ต้องฝึกฝีมือตัวเอง ทำออกมาให้ดี ให้ลูกค้าติดใจ จะช่วยให้วงการนี้พัฒนา ถ้ามีพี่เป็นผู้ผลิตรายเดียวตลาดจะโตได้อย่างไร หลายคนมาช่วยกันทำ ถ้าส่งออกได้ เงินก็เข้าประเทศ รายได้ประเทศก็เพิ่มขึ้น”
ปัจจุบันยอดสั่งซื้อไรน้ำนางฟ้าในประเทศมีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับลูกค้าต่างประเทศทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และบราซิลที่ให้ความสนใจสัตว์น้ำตัวจิ๋วนี้ ซึ่งคุณเจี๊ยบอยู่ระหว่างดำเนินการเครื่องหมายการค้าเพื่อขยายการส่งออกไรน้ำนางฟ้าไปตลาดต่างประเทศ
ฝ่ายจัดการความรู้เพื่อเกษตรและชุมชน
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)