จะปลูกพืชชนิดไหน ต้องหาความรู้ว่าพืชต้องการอะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อลดความเสี่ยงการผลิต แล้วจัดการให้ได้ ผลผลิตก็จะได้ 100%

“กลับบ้านเถอะลูก พ่อปลูกต้นท้อไว้รอเจ้า  กลับบ้านสู่บ้านเรา ไหนว่าเจ้าไปเพื่อเรียน
หลายปีผ่านไป สุขทุกข์อย่างไร พ่อรออยู่    ดอกท้อชู ช่อชู ไกลสุดกู่ หรืออย่างไร
พ่อทำฝนเทียมและห้วนฝาย ไว้คอยเจ้า พร้อมเมล็ดพันธุ์ชนิดใหม่ๆ เจ้าจงมาเตรียมการหว่านไถ่ เพื่อจะได้มีอยู่ มีกิน
กลับบ้านเถอะลูก เจ้ากลับบ้านถูกใช่ไหม    เจ้าจงมาเป็นชีวิตใหม่ เป็นแสงตะเกียงและเสียงพิณ ให้ผู้อยู่ถิ่น…ได้ชื่นใจ”

“แม่ไม่เคยบอกให้ลาออกจากงานมาปลูกผัก แม่ไม่เคยรู้ว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ ทุกเดือนแม่ยังส่งเงินให้” ภิญญา ศรีสาหร่าย สมาชิกกกลุ่มร่มโพธิ์ เครือข่ายมูลนิธิสังคมสุขใจ สามพรานโมเดล อดีตวิศวกรเงินเดือนเฉียดแสน ย้อนความทรงจำถึงบทกลอนของแม่ที่สะกิดให้เขาเริ่มคิดกลับมาช่วยครอบครัวปลูกผัก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ส่งให้เขาเรียนจบปริญญาตรี

แม่และพ่อของภิญญาเช่าที่ปลูกผักในระบบเกษตรเคมีเป็นอาชีพ จนเมื่อปี 2551 ได้มีโอกาสเข้าไปปรับเปลี่ยนพื้นที่ 3.4 ไร่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่เต็มไปด้วยเศษวัสดุก่อสร้างให้เป็นแปลงเกษตรปลอดภัยตามที่มหาวิทยาลัยมุ่งหวัง วิถีการทำเกษตรของพวกเขาจึงเข้าสู่เกษตรอินทรีย์นับแต่นั้นและเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสามพรานโมเดล

จากชีวิตที่เช่าพื้นที่ทำเกษตรมาตลอด เมื่อมีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง แม่จึงตัดสินใจซื้อที่ 15 ไร่ สุดเขตอำเภอเมือง จ.ราชบุรี สานฝันทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ตัวเอง

“เดิมเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ดินไม่ดี ก็วางแปลนแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่า 6 ไร่ ไม้ผล 4 ไร่ ที่เหลือปลูกผักให้มีรายได้รายวัน” ภิญญา เล่าถึงการจัดแบ่งแปลง “ฟาร์มฝันแม่” ที่เขามีส่วนร่วมออกแบบและแวะเวียนมาในช่วงวันหยุดเพื่อช่วยงานพ่อที่นี่ ขณะที่แม่ยังดูแลแปลงที่ศาลายา จนเมื่อพ่อเสียชีวิตกะทันหัน เขาจึงผันมาปลูกผักเต็มตัวเมื่อปี 2562 อาศัยความรู้จากแม่และโลกอินเทอร์เน็ตปรับประยุกต์และทดลองทำ

“พื้นที่ 2 ไร่ ใช้รถไถขึ้นแปลงผัก 20 แปลง ใช้เวลาครึ่งวันก็เสร็จ แต่ถ้าใช้แรงคน ต้องใช้เวลาร่วมเดือน” เครื่องจักรทางการเกษตรจึงเป็นสิ่งแรกที่ ภิญญา นำมาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตในฟาร์ม และเริ่มขยับมาใช้โรงเรือนเพื่อช่วยปลูกผักในฤดูฝน แม้อุปกรณ์เครื่องมือที่ลงทุนไปพอทำให้มีผลผลิตจำหน่ายได้ แต่ก็ยังไม่อาจสร้างความไว้ใจให้ผู้เป็นแม่ ด้วยมองว่า ภิญญา ไม่มีความรู้-ประสบการณ์ และใช้เงินทำเกษตร เช่นเดียวกับความไม่ลงรอยแนวคิดด้านการขายที่ ภีรดา ภรรยา เน้นทำตลาดเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

จากมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำ เมื่อต้องเริ่มต้นอาชีพใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ความไม่แน่นอนของรายได้และความขัดแย้งภายในครอบครัว สร้างความกดดันให้ ภิญญา ไม่น้อย

“บ้านใครบ้านมัน” คำพูดจาก ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในคอร์สอบรมด้านเกษตรอินทรีย์ครั้งแรกในชีวิต กระตุกความคิดให้ ภิญญา กลับมาวิเคราะห์พันธุ์พืชที่เขาปลูก

“เรามีแปลงแครอทที่ลงไว้หลายสายพันธุ์ ก็จัดการแบ่งแปลงปลูกใหม่แล้วเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี ผักชนิดอื่นก็เหมือนกัน ปลูกทุกสายพันธุ์ให้รู้ว่าพันธุ์ไหนเหมาะกับพื้นที่ เหมาะกับอากาศของบ้านเรา”

เช่นเดียวกับความรู้การเพาะกล้า ทำปุ๋ยหมักเองจากเศษใบไม้ในป่า เก็บเมล็ดพันธุ์ ปลูกพืชสลับกลุ่มเลี่ยงโรคและแมลง ใช้พลาสติกคลุมแปลง รวมถึงการจดบันทึกข้อมูล ล้วนเป็นเรื่องที่ ภิญญา ได้นำจากห้องอบรมมาใช้ที่ฟาร์ม โดยได้รับคำแนะนำและติดตามอย่างเข้มข้นจากอาจารย์ฉันทนาและเจ้าหน้าที่ สวทช. ไม่เพียงเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรและให้ผลผลิตคุณภาพ หากยังทลายความขัดแย้งในครอบครัว

“การอบรมปลดล็อคความไม่รู้เรื่องการทำเกษตร ได้ความรู้และแนวคิดมาปรับเปลี่ยนเยอะมาก และที่สำคัญคือ ปลดล็อคการยอมรับและความเชื่อใจของคนในครอบครัว อาจารย์กับเจ้าหน้าที่ สวทช. เป็นจุดเปลี่ยนให้แม่ไว้ใจมากขึ้น จากที่แม่เชื่อในวิธีของตัวเองมาตลอด แต่มาเห็นจากที่ลูกทำและได้คุยกับอาจารย์ แม่ชื่นชมมากภีรดา เล่าถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นั่นทำให้ผู้เป็นแม่ไม่ต้องแวะเวียนมาดูแลแปลงที่นี่อีก และยังนำความรู้จาก ภิญญา ไปใช้กับแปลงผักที่ศาลายาด้วย

“สิ่งที่อาจารย์สอน มันเห็นผลคือเรามีรายได้ตลอด ผลผลิตงาม ไม่มีโรค” คือคำตอบจากการวางแผนผลิต ทดลองทำเพื่อพิสูจน์แล้วจึงยอมรับ ดังเช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ ภิญญา ได้ทดลองเก็บเมล็ดพันธุ์สลัด เมื่อนำมาปลูกนอกฤดู ผลผลิตที่ได้ยังสมบูรณ์และขายได้ในช่วงที่ไม่มีใครผลิตแล้ว เช่นเดียวกับมะเขือเทศ ที่เขาหมายมั่นเป็นผู้เชี่ยวชาญพืชนี้และให้เป็นแหล่งรายได้หลักของฟาร์ม

“เรามีแรงงานน้อย ถ้าเก็บคะน้า 20 กก. ใช้คน 3 คน ล้างและตัดแต่งอีก แต่มะเขือเทศ 20 กก. เก็บคนเดียวได้ การขนส่งไม่ต้องใช้ห้องเย็น” ภิญญา เล่าถึงเหตุที่ต้องการเอาดีด้านมะเขือเทศ และที่สำคัญยังเป็นพืชที่ช่วยชีวิตฟาร์มแห่งนี้เมื่อครั้งประสบปัญหาน้ำท่วมแปลงผักถึง 3 รอบในปี 2564 แต่มะเขือเทศ 380 ต้นในโรงเรือน ให้ผลผลิตต้นละ 2 กก. ขายราคา 150 บาท/กก. สร้างรายได้ให้กว่าแสนบาท/โรงเรือน  

“ทดลองปลูกหลายสายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะกับที่นี่ มีทั้งพันธุ์จาก สวทช. ม.แม่โจ้ ม.ขอนแก่น และพันธุ์ต่างประเทศ ภูมิใจที่ทำได้แบบนี้ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะรสชาติยังหวานได้อีก” ภิญญา ขยายความต่อว่า  ความหวานมะเขือเทศอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่น การให้ปุ๋ยตามช่วงอายุ ซึ่งเขาอิงสูตรปุ๋ยเคมี แต่ปรับเปลี่ยนใช้น้ำหมักที่ให้โพแทสเซียม (K) และฟอสฟอรัส (P) หรือเรื่องของแสงที่เพียงพอจำเป็นไม่แพ้กัน “จะปลูกพืชชนิดไหน ต้องหาความรู้ว่าพืชชนิดนั้นต้องการอะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อลดความเสี่ยงการผลิต พอรู้สิ่งที่พืชต้องการแล้วมาจัดการให้ได้ ผลผลิตก็จะได้ 100%”

ปัจจุบันผลผลิตจากฟาร์มนอกจากจำหน่ายตรงถึงลูกค้าผ่านเฟซบุ๊ก “ฟาร์มฝันแม่ เกษตรอินทรีย์” หรือขายที่ตลาดมหาวิทยาลัยมหิดล ตลาดสุขใจ ยังได้ลูกค้าจากโรงแรม โรงเรียนและร้านอาหารแล้ว ที่นี่ยังทำกิจกรรมท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism) และฝันต่อยอดพัฒนาเป็นสวนเกษตรบำบัด (Garden Therapy) ในอนาคต

“แม่เคยบอกไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่ทำมันไกลเกินจากที่แม่ฝันไว้ และสิ่งสำคัญแม่สอนให้คนมีอาชีพทำเกษตร เรามาสานฝันเขาต่อ และจะเอาความรู้ที่ได้จาก สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาทำแล้วส่งต่อให้คนอื่น” เป็นความมุ่งหมายของ ภิญญา ผู้สืบทอดความฝันและฟาร์มของแม่ด้วยใจรักและด้วยความรู้การทำเกษตรอินทรีย์

# # #

หลักสูตร “การผลิตผักสดและการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เอง” เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้โครงการการพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ผู้ผลิตผักสดและเมล็ดพันธุ์ในชุมชน ผ่านกระบวนการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางด้านเกษตรอินทรีย์ โดยจัดอบรมให้เกษตรกรเครือข่ายมูลนิธิสังคมสุขใจ สามพรานโมเดล เครือข่ายมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และประชาชนทั่วไป

ฟาร์มฝันแม่
ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี
โทรศัพท์ 062 4984293 | www.facebook.com/farmfunmae

(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565)

“ฟาร์มฝันแม่” ความฝัน ความจริง และความรู้เกษตรอินทรีย์