ในแต่ละวันกะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี มะเขือเทศจากดอยสูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 60 ตัน ถูกจัดส่งเข้าโรงงานตัดแต่งผักของบริษัท คิงส์ วิช จำกัด สาขาแม่ฮ่องสอน และโรงงานตัดแต่งผักของคุณวิทยา หวานซึ้ง เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร ผักหัวแล้วหัวเล่าถูกตัดแต่งให้สวยงามก่อนเคลื่อนตามกันบนสายพาน ผ่านการชั่งน้ำหนักบรรจุลงถุง จัดเตรียมลงตะกร้าขึ้นรถห้องเย็น พร้อมเดินทางไกลกว่า 1,500 กิโลเมตรสู่ศูนย์กระจายสินค้าของห้างค้าปลีกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี … เมื่อของดีพร้อมส่งขาย แล้วของเสียอย่างเศษผักที่มีถึงวันละ 30 ตัน …เดินทางไปไหน

ปุ๋ยไม่พลิกลับกอง

“ทิ้ง” เป็นทางออกแรกที่ทั้งสองโรงงานจัดการกับเศษผักเหล่านี้  หลังจากที่ก่อตั้งโรงงานที่ ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2558 พร้อมกับค่าจ้างขนทิ้งเดือนละ 65,000 บาท และได้รับ “เสียงร้องเรียนเรื่องแมลงวันและกลิ่น” เป็นผลตอบแทน

          “ปุ๋ยน้ำ” เป็นวิธีการต่อมาที่ทั้งสองโรงงานร่วมกันหาทางออกกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น โดยใช้พื้นที่ 3 ไร่ ลงทุนทำบ่อบำบัด บ่อหมักปุ๋ย แต่ได้ “ข้อหาบุกรุกป่า” พร้อมกับ “แมลงวันและกลิ่นรบกวน” เป็นผลตอบแทนอีกเช่นกัน

ทางออกกำจัด “เศษผัก 30 ตัน”

ปุ๋ยไม่พลิกลับกอง
ปุ๋ยไม่พลิกลับกอง

หลังจากมารับหน้าที่ผู้จัดการบริษัท คิงส์วิช จำกัด สาขาแม่ฮ่องสอน ในช่วงปลายปี 2560 คุณเกียรติศักดิ์ หาญหม่อง รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้และรู้ว่ามีเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ จึงได้ติดต่อกับทีมวิจัยเทคโนโลยีปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง ซึ่งมี ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นหัวหน้าทีมวิจัย

          “ตอนแรกลังเล เพราะไม่เคยทำปุ๋ยจากของสดปริมาณมากขนาดนี้” ผศ.ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร หนึ่งในทีมวิจัยเล่าถึงความรู้สึกแรกที่เข้ามาดูแลโครงการนี้ แต่ด้วยประสบการณ์การทำปุ๋ยที่ผ่านมา บวกกับคำแนะนำจากผศ.ธีระพงษ์ และการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มคนที่แบ่งปันประสบการณ์บนเฟสบุ๊ค “ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง แม่โจ้” ทำให้อาจารย์ชนวัฒน์มั่นใจโดยยังคงยึดหลักการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองที่ใช้เศษพืชและมูลสัตว์เป็นวัตถุดิบ แต่ปรับสัดส่วนที่เหมาะสม เนื่องจากเศษผักสดมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก

          ใช่เพียงอาจารย์ชนวัฒน์จะลังเล ฟากเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างคุณวิทยา หวานซึ้ง ซึ่งเรียนจบเกษตรมาโดยตรง ก็มีความสงสัยว่า “ทำปุ๋ยโดยไม่พลิกกองได้ด้วยหรือ”

          “ที่เรียนมาทำปุ๋ยต้องพลิกกอง ยังไม่เชื่อว่าไม่พลิกกองจะได้ปุ๋ยได้อย่างไร และใช้แค่ผักกับขี้วัวด้วย แต่มาสะดุดตรงที่อาจารย์บอกว่าทำที่ฝาง 90 ไร่ ใช้ซังข้าวโพด และพออาจารย์ยกตัวอย่างผักตบชวา ก็คิดว่าถ้าผักตบชวาทำได้ ใบผักก็ได้อยู่แล้วล่ะ”

สัดส่วนที่เหมาะ ได้ปุ๋ยที่ดี

“เริ่มทดลองจากกองเตี้ยๆ เพราะถ้ากองสูง ตรงกลางกองคงไม่ย่อยสลาย เน่าแน่ ทดลองหาสัดส่วนเศษผักต่อมูลวัวตั้งแต่ 1:2 5:1 6:1 7:1 เก็บข้อมูลการย่อยของกองปุ๋ยตั้งแต่ 30 45 60 วัน พบว่า พอครบ 45 วันกองยุบเหลือไม่ถึงฟุต ตอนเอาปุ๋ยต้องแซะออก เนื้อปุ๋ยเนียน ไม่มีเศษผัก นำตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารก็ผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร มีไนโตรเจนสูง ซึ่งเหมาะที่จะเอากลับไปปลูกผักอยู่แล้ว ส่วนค่าโพแทสเซียมถึงจะไม่มาก แต่ไม่ตกเกณฑ์” อาจารย์ชนวัฒน์เล่าถึงการหาสัดส่วนที่เหมาะสมของการขึ้นกองปุ๋ย

เศษผัก 6 ส่วนต่อขี้วัว 1 ส่วน ระยะเวลาย่อยสลาย 45 วัน เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการขึ้นกองปุ๋ยขนาดกว้าง 2.5 เมตร สูง 1 เมตร (ความยาวไม่จำกัด) ขณะเดียวกันคุณวิทยาได้นำปุ๋ยที่ได้ปรับปรุงบำรุงดินในแปลงปลูกแตงซูกินีและมะเขือม่วง พบว่า ดินดีขึ้น ต้นแข็งแรง ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ จึงตอกย้ำความเชื่อมั่นให้คุณวิทยายิ่งขึ้น

เศษผัก 30 ตัน สู่ปุ๋ย 4.5 ตัน

ราวกลางเดือนมีนาคม 2561 เศษผักวันละ 30 ตันจากโรงงานทั้งสองแห่งถูกลำเลียงมาขึ้นกองปุ๋ยบนพื้นที่ใหม่ห่างจากโรงงาน 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุณวิทยาลงทุนซื้อเพื่อแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า และตั้งใจใช้พื้นที่ 32 ไร่นี้ทำเกษตรผสมผสาน โดยแบ่งพื้นที่ 10 ไร่สำหรับขึ้นกองปุ๋ยด้วยเทคโนโลยีไม่พลิกกลับกองนี้ ปัจจุบันใช้คนงาน 8 คน โดยใช้รถแทรกเตอร์ขึ้นกองปุ๋ย

“ใช้หลักการทำเหมือนเดิม แต่ปรับตามหน้างาน เช่น การแทงกองปุ๋ยปรับให้แทงทุกอาทิตย์ คนงานก็จะจำได้ง่ายกว่า คนงานเองช่วงแรกก็ทำข้ามขั้นตอนไปบ้าง แต่เมื่อเราแนะนำและเขาได้เรียนรู้จากหน้างาน เขาก็ปรับตามประสบการณ์ เช่น รู้ว่าต้องรดน้ำแค่ไหน เพราะผักมีน้ำเยอะอยู่แล้ว หรือระยะกอง เมื่อกองยุบตัวมันจะแผ่ออกด้านข้าง คนงานจะเกลี่ยกอง กลบกองขึ้น”

สำหรับปัญหาแมลงวันนั้น อาจารย์ชนวัฒน์ บอกว่า ผักมีน้ำเยอะ ถ้าน้ำขัง แมลงวันจะวางไข่ เพราะฉะนั้นให้เหลือน้ำในพื้นที่น้อยที่สุด ถ้าไม่แฉะ แมลงวันวางไข่ไม่ได้ ตัดวงจรแมลงวัน โดยน้ำจากกองปุ๋ยแนะนำให้ขุดลอกทางไปลงบ่อวง เป็นน้ำหมักอย่างหนึ่งที่นำไปใช้รดผักได้ นอกจากนี้ให้ใช้สารชีวภาพฉีดพ่นในแต่ละชั้นระหว่างขึ้นกองปุ๋ยด้วย และที่สำคัญต้องใช้เศษผักให้หมดวันต่อวัน ไม่ให้เหลือทิ้งไว้

ปัจจุบันใช้พื้นที่ขึ้นกองปุ๋ยไปแล้ว 5 ไร่ โดยขึ้นกองปุ๋ยวันละ 2 กอง ขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 28 เมตร สูง 1 เมตร จะได้ปุ๋ยถึงวันละ 4.5 ตัน เมื่อขึ้นกองปุ๋ยครบรอบตามอายุ 45 วัน จะใช้พื้นที่ขึ้นกองเพียง 6 ไร่ จะได้ปุ๋ยทั้งหมดประมาณ 200 ตัน ซึ่งต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2.15 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวมค่าที่ดินและค่ารถแทรกเตอร์)

กำจัดเศษผักที่ได้มากกว่า “ปุ๋ย”

นอกจากคุณวิทยาจะเป็นเกษตรกรแล้ว ยังเป็นผู้ประกอบการที่จัดหาผักส่งให้บริษัท คิงส์วิช จำกัด และมีตลาดส่งผักตัดแต่งของตนเองด้วย โดยมีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 2,500 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.ฮอด และอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชาวเขาร้อยละ 90

“ตอนนี้เพิ่งเริ่มเก็บปุ๋ยได้ 200 กระสอบ กระสอบละ 20 กิโลกรัม ได้แบ่งให้เกษตรกรที่จะปลูกในฤดูกาลนี้ก่อน และรอบต่อไปจะขายกิโลกรัมละ 3 บาท เราสาธิตให้เขาเห็นว่าปุ๋ยดีจริง แต่เราทำมีต้นทุน เราให้เขาซื้อในราคาที่ถูก ปกติเกษตรกรซื้อมูลไก่อยู่แล้ว กระสอบละ 60 บาทเหมือนกัน แต่มูลไก่ต้องไปซื้อที่จอมทอง สันป่าตอง หางดง แต่ถ้าปุ๋ยอยู่ที่แม่สะเรียง”

ไม่เพียง “เทคโนโลยีปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง” จะเป็นทางออกกำจัดเศษผักมากมายมหาศาล และได้ “ปุ๋ยคุณภาพ” เป็นผลตอบแทนแล้ว ยังต่อยอดความคิดให้คุณวิทยาที่จะแก้ปัญหาการทำเกษตรบนดอยอีกด้วย

“ถ้าเป็นไปได้จะส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยเองด้วย เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่าเศษวัสดุการเกษตรของเขามีประโยชน์ ไม่ใช่เผาทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาควัน และปุ๋ยที่ได้เอามาใช้ปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือที่เกษตรกรทิ้งแล้ว ให้เกษตกรใช้ที่ดินนั้นได้อีก จะได้ไม่รุกล้ำพื้นที่ป่า”

# # #

สวทช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พัฒนานวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง โดยใช้วัตถุดิบหลัก คือ เศษพืชและมูลสัตว์ ใช้เวลาผลิตเพียง 60 วัน ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่อุดมด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช และมีคุณภาพสูงตามค่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันนวัตกรรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับจากเกษตรกรและขยายผลการใช้งานในวงกว้าง

เรื่อง “ปุ๋ยๆ กับเศษผัก 30 ตัน”