อยากกินผักปลอดภัยและมีรายได้เสริม เป็นคำตอบที่มักได้จากเกษตรกรที่หันมาปลูกผัก เช่นเดียวกับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยบ้านป่าสีเสียด ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จากที่เคยต่างคนต่างปลูก พวกเขารวมกลุ่มกันในปี พ.ศ. 2560 เพื่อเติมเต็มความรู้ปลูกผักเป็นรายได้เสริมจากทำสวนยางพาราและปลูกมันสำปะหลัง โดยมีพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านเป็นแปลงเรียนรู้ร่วมกัน
“พอไปอบรมหาความรู้ที่โครงการศูนย์บริการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริจังหวัดระยองกันแล้ว เราก็อยากมาเรียนรู้และทำแปลงต้นแบบด้วยกัน ก็เลยขอใช้พื้นที่จาก อบต.” พะเยาว์ บัณฑิตธรรม ประธานกลุ่มฯ ย้อนถึงที่มาแปลงผักบนพื้นที่ 6 ไร่* ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตพืชผักปลอดภัยบ้านป่าสีเสียด แหล่งเรียนรู้การปลูกผัก การผลิตปุ๋ยหมัก การป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช
เมื่อมีพื้นที่ได้ลองมือลองวิชา สมาชิกร่วมกันปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชผักระยะสั้นและผักใบ เช่น กวางตุ้ง คะน้า โหระพา มะกรูด มะนาว โดยเน้นปลูกเพื่อบริโภค เหลือจึงขาย
“ช่วงแรกปลูกแล้วไม่ค่อยได้ผลผลิต เพราะดินไม่ดี เป็นดินถม เราก็ไปเรียนรู้แก้ปัญหาดินที่โครงการพระราชดำริฯ อีก ก็ได้ความรู้เรื่องปุ๋ยเติมอากาศ ได้ฝึกทำ ได้รับแจกกลับมา แต่เราผลิตใช้เองไม่ได้ เพราะต้องใช้สถานที่และมีอุปกรณ์”
*ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ทาง อบต.หนองบัว อยู่ระหว่างประสานขออนุญาตให้กลุ่มฯ ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่
ในช่วงที่ พะเยาว์ และสมาชิกกลุ่มฯ หาหนทางที่จะผลิตปุ๋ยเพื่อให้ผักของพวกเขางามขึ้น พะเยาว์ ได้รับการประสานจาก อบต.หนองบัว ให้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับสวนสุภัทราแลนด์ และทำให้เขาได้รู้จัก “ปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง”
“ดีใจได้เจอปุ๋ยไม่พลิกกอง เราไปเห็นวิธีทำ ก็มองว่าทำไม่ยาก ขึ้นอยู่กับสัดส่วนวัตถุดิบ ตอนนั้นคิดแล้วว่าในพื้นที่เรามีทะลายปาล์มจากก้อนเห็ดฟาง เราจะใช้ประโยชน์จากตัวนี้ล่ะ”
หลังจากนั้นไม่นาน สท./สวทช. ได้จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองให้สมาชิกกลุ่มฯ ทั้ง 30 คน รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุนจาก อบต.หนองบัว
กองปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์มกว่า 1 ตัน และขี้วัว 5 กระสอบ เป็นกองปุ๋ยแรกที่สมาชิกฯ ลงมือทำ แม้ขนาดกองจะไม่ใหญ่ แต่พวกเขาได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำอย่างละเอียดจาก ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทีมเจ้าหน้าที่ สท. ทำให้ได้รู้จักวัตถุดิบในพื้นที่ที่จะนำมาใช้ได้ทั้งหญ้า ผักตบชวา ใบไม้ ขี้ไก่หรือขี้วัว รวมถึงรูปแบบกองปุ๋ยที่ทำได้หลายแบบ เป็นความรู้ที่สมาชิกนำกลับไปทำปุ๋ยหมักเองที่บ้านได้ สำหรับปุ๋ยหมักกองแรกจากทะลายปาล์ม แม้จะใช้เวลาย่อยสลายนานแต่ปุ๋ยที่ได้มีคุณภาพและผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์
“ทะลายปาล์มใช้เวลาย่อยสลายเต็มที่ 6 เดือน เราก็ทยอยใช้ปุ๋ยด้านล่างที่เริ่มใช้ได้ ปุ๋ยจากวิธีไม่กลับกองเหมือนพีทมอสเลยล่ะ ใส่แล้วดินฟู ผักงาม แล้ววิธีทำไม่ยาก ไม่ต้องพลิกกองด้วย”
ปุ๋ยที่หมักสมบูรณ์และย่อยสลายได้ดีแล้วถูกนำไปคลุกเคล้าในแปลงผักเพิ่มธาตุอาหารให้ดิน เมื่อบวกกับความเอาใจใส่ดูแลป้องกันแมลง ทำให้ได้ผลผลิตที่เก็บกินดี เก็บขายได้อีกมากมาย พะเยาว์ บอกว่า ถ้าไม่เจอการทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองต้องซื้อปุ๋ยกระสอบละ 80 บาท แต่เมื่อทำเองได้ก็ลดต้นทุนได้
ด้วยต้องการให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เสริม การใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อปลูกผักจึงได้รับการสนับสนุนจาก อบต.หนองบัว รวมถึงปัจจัยการผลิตอย่าง “ปุ๋ย” ที่เป็นโจทย์ความต้องการของสมาชิกกลุ่มปลูกผักฯ ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 อบต.หนองบัว ได้จัดสรรงบประมาณจัดอบรม “ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน” ขยายผลให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่ง พะเยาว์ ร่วมเป็นวิทยากรกับเจ้าหน้าที่ สท. โดยสมาชิกกลุ่มฯ และผู้เข้าอบรมได้ช่วยกันขึ้นกองปุ๋ยขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 2 เมตร จำนวน 2 กอง โดยใช้ทะลายปาล์มเป็นวัตถุดิบหลัก พะเยาว์ ยังรับหน้าที่ดูแลกองปุ๋ย เจาะรูเติมน้ำในกองปุ๋ยทุก 3 วัน ตลอดช่วงเวลาการย่อยสลายกองปุ๋ย
“ใช้ทะลายปาล์ม 10 ตัน ใช้รถแบ็คโฮช่วยขึ้นกอง ทำกันตั้งแต่เมษายน-ตุลาคม พอกองยุบลง ย่อยสลายได้ดีแล้วก็ใช้เครื่องตีปั่นให้ละเอียด ตักแบ่งใส่กระสอบ ได้มา 240 กระสอบ แบ่งกันไปคนละ 8 กระสอบ สมาชิกก็ติดใจอยากทำอีก”
พะเยาว์ เล่าต่อว่า หลังได้งบสนับสนุนจาก อบต. กลุ่มฯ วางแนวทางผลิตปุ๋ยในแต่ละปี โดยเก็บเงินสมาชิกคนละ 100 บาท เป็นทุนสำหรับซื้อวัตถุดิบผลิตปุ๋ยหมักในแต่ละรอบ และต่อไปอาจมีเครื่องหั่นทะลายปาล์มก่อนนำไปหมัก เพื่อร่นระยะเวลาย่อยให้เหลือ 3 เดือน
บนพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ สมาชิก 5 คนแบ่งสรรพื้นที่ทำแปลงปลูกผักทั้งปลูกบนดินและบนโต๊ะ ชนิดผักที่ปลูกขึ้นอยู่กับความถนัดและตลาดของแต่ละคน รายได้จากการขายผักจะถูกหักเข้ากลุ่มฯ ร้อยละ 10 เพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่นี้ซึ่งเป็นจุดเรียนรู้และเป็นสถานที่อบรมด้านเกษตรด้วย สำหรับสมาชิกคนอื่นได้นำความรู้ไปปลูกผักในพื้นที่บ้านตนเอง ได้ผักที่สวยงามไว้บริโภคและขายให้แม่ค้าในตลาดชุมชน พนักงานโรงงาน หรือแม้แต่ผู้ปกครองนักเรียน
วิชัย ศิริวงษ์ วัย 69 ปี เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มฯ ที่นำความรู้จากจุดเรียนรู้แห่งนี้ไปเพาะปลูกพืชผักหลากชนิดที่บ้านโดยได้รับรองมาตรฐาน GAP และยังขึ้นกองปุ๋ยหมักโดยใช้ใบไม้แห้ง หญ้า ใบกล้วยเป็นวัตถุดิบหลัก ในวันที่ผลผลิตพร้อมจำหน่าย วิชัย เก็บผลผลิตแพ็คใส่ถุง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปขายตามหน้าโรงงาน สถานีอนามัย และ อบต. มีรายได้ 200 บาท/วัน
“ตลาดเราเป็นคนในชุมชนก็ต้องการการันตีว่าผักปลอดภัยจริง เขาอยู่กับเคมีมาตลอด ก็อยากกินที่ปลอดภัย ถ้าพูดเฉยๆ ไม่เชื่อ ก็ต้องมีใบรับรองไปให้ดูด้วย” วิชัย เล่าถึงที่มาการทำมาตรฐาน GAP
จากดินที่ขาดความสมบูรณ์ได้เติมเต็มธาตุอาหารจากปุ๋ยหมักคุณภาพทำให้ผักงามและเจริญเติบโตได้ดี เป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่ พะเยาว์ ตั้งเป้าให้แปลงต้นแบบแห่งนี้ได้รับรองมาตรฐานเพื่อส่งจำหน่ายโรงพยาบาล รวมถึงมีโรงผลิตปุ๋ยหมักของกลุ่มฯ ที่จะเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ดินและส่งผลให้พืชผักเติบโตอย่างมีคุณภาพ
# # #
วิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยบ้านป่าสีเสียด
ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
โทรศัพท์ 087 1413615
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567)