น.ส.เลอทีชา เมืองมีศรี
นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)

เกือบทุกครั้งที่เราพูดถึงโรงเรือนไม้ไผ่ มักจะมีคำถามว่า ต้นทุนเท่าไหร่? แพงไหม? อายุกี่ปี? คุ้มไหม? ปลูกผักอะไรได้บ้าง? ….

วันนี้จะพาไปเรียนรู้จาก “กลุ่มเกษตรกรบ้านแป้น” ต.บ้านแป้น อ.เมือง จ.ลำพูน กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักจริง ใช้โรงเรือนจริง

ที่นี่สร้างโรงเรือนไม้ไผ่หลังคาจั่ว 2 ชั้นรูปแบบของ สวทช. ขนาด 6×15 เมตร ใช้ไม้ไผ่จากสวน ป่าหัวไร่ปลายนา หรือหาซื้อในพื้นที่ ตีมูลค่าตามราคาพื้นที่

ค่าแรงไม่มี เพราะอาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนช่วยกันสร้าง หากจะตีราคาก็คงเป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง คือ พลาสติกคลุมหลังคาขนาด 4×48 เมตร ราคาประมาณ 3,500 บาท+ (ขึ้นอยู่กับแหล่งจำหน่าย)

หากจะตอบคำถามแรกว่าต้นทุนเท่าไหร่? ก็ต้องประเมินมูลค่าต้นทุนทั้งหมด ทั้งค่าไม้ไผ่ ค่าแรง ค่าพลาสติก

หากจะตอบคำถามว่าแพงไหม? ก็ต้องถามกลับว่าแล้วคิดว่าเท่าไหร่ถึงแพง แล้วทำไมจึงคิดว่าแพง

ถ้าคิดจากพื้นที่ทั้งหมดของโรงเรือน รู้ว่าจะปลูกอะไรบ้าง ได้ผลผลิตเฉลี่ยเท่าไหร่ต่อรอบ ปีหนึ่งปลูกได้กี่รอบ เหล่านี้จะนำไปสู่คำตอบที่จะช่วยตัดสินใจได้ว่าคุ้มทุนหรือไม่ (การคิดต้นทุน รายได้และกำไร ต้องคิดเป็นบาท/ตารางเมตร/ปี โดยคิดจากพื้นที่รวมทั้งโรงเรือน ไม่ใช่เฉพาะแปลงปลูก)

เช่น โรงเรือนขนาด 6×15 เมตร = มีพื้นที่ทั้งหมด 90 ตารางเมตร
ต้นทุนค่าไม้ไผ่ ค่าแรงและค่าพลาสติก 20,000 บาท = ต้นทุนอยู่ที่ 222.22 บาท/ตารางเมตร
สมมติปลูกสลัด ได้ 2 กิโลกรัม/ตารางเมตร ขาย 100 บาท/กิโลกรัม (คนที่ปลูกเก่ง มีตลาด ขายได้ราคา)
= ปลูกผัก 2 รอบ ได้ทุนค่าโรงเรือนคืนแล้ว

สำหรับโรงเรือนไม้ไผ่ของเกษตรกรบ้านแป้น พวกเขาปลูกกะหล่ำปลีและบรอกโคลีจำนวน 4 แปลง
แปลงละ 70 ต้น น้ำหนัก 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น
เฉลี่ย 0.75 กิโลกรัม/ต้น ใช้เวลาปลูก 60-70 วัน/รอบ
จะได้ผลผลิต = 70 ต้น/แปลง × 4 แปลง × 0.75 กิโลกรัม/ต้น = 210 กิโลกรัม
ขายกิโลกรัมละ 20 บาท มีรายได้ = 4,200 บาท/รอบ

บางรอบพวกเขาก็ปลูกกวางตุ้ง ใช้เวลาเพียง 25-30 วัน/รอบ ผลผลิตเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม/ตารางเมตร ขายกำละ 10 บาท (ประมาณ 3 กำ = 1 กิโลกรัม)

ราคาผักของที่นี่ขายไม่สูง แต่คนทำพอใจ เพราะมองว่าขายในชุมชน ทำในยามว่าง ขายง่าย ลูกค้าจอง

หากมีข้อมูลเหล่านี้ ตัวเราจะให้คำตอบได้ว่า คุ้มไหม? ควรปลูกอะไรดี? และเมื่อไหร่คืนทุน

หากจะตอบคำถามว่าโรงเรือนไม้ไผ่มีอายุกี่ปี? ก็ต้องย้อนไปดูว่าเลือกใช้ไม้แบบไหน ไม้อ่อนหรือไม้แก่ ขนาดเหมาะสมมั้ย ผ่านขั้นตอนแช่น้ำยาป้องกันปลวกมอดหรือไม่ และดูแลรักษาโรงเรือนอย่างไร

สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าทุกคำถาม คนที่จะตอบได้ชัดเจนที่สุดคือเจ้าของโรงเรือน แต่การได้เรียนรู้จากคนอื่น ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น จะช่วยป้องกันความเสี่ยงและลดความเสียหายได้มากขึ้น

จากประสบการณ์ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนปลูกพืช พบว่า กรณีที่ลงทุนแล้วไม่คุ้มทุนนั้น ส่วนใหญ่เกือบ 100% คือคนที่ไม่ปลูก ไม่ทำ ปีหนึ่งปลูกแค่ 1-2 รอบ และเงื่อนไขมากมาย ขณะที่กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ เขาจะดำเนินกิจกรรมไปด้วยองค์ความรู้ตามหลักวิชาการร่วมด้วยภูมิปัญญาและประสบการณ์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเสริม เติมเต็มให้สามารถดำเนินกิจกรรมไปได้ดีขึ้น

# # #

หมายเหตุ “เกษตรกรกลุ่มบ้านแป้น” เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “การยกระดับผลผลิตการเกษตรด้วยการทำเกษตรปลอดภัยในโรงเรือนปลูกพืชไม้ไผ่ทรงหลังคาจั่ว 2 ชั้น ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในท้องถิ่น” ของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แผนงานวิจัยการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ รวมการปฏิบัติและถ่ายทอดสู่พื้นที่ประจำปี 2565 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ลงทุนโรงเรือน (ไม้ไผ่) อย่างไรให้คุ้มทุน