“การมีโรงเรือนเป็นการลงทุน ทำให้เราปลูกผักสลัดได้ ถ้าเราไม่มีจะหนักกว่า คำว่าปลูกได้ คือ ปลูกได้ขาย” ทวี ขาวเรือง ประธานวิสาหกิจชุมชนสวนบุญประสิทธิ์เกษตรเพื่อสุขภาพ ต.ท่าซอม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช บอกถึงความจำเป็นที่ต้องใช้โรงเรือนปลูกผักจากสภาพอากาศฝนแปดแดดสี่ในภาคใต้และตำบลท่าซอมที่อยู่ใกล้ทะเล ในช่วงหน้ามรสุมจึงประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และหากมีน้ำทะเลหนุน ชาวบ้านต้องรับสภาพน้ำท่วมเป็นแรมเดือน ขณะที่ช่วงหน้าแล้งขาดแคลนน้ำ ด้วยเป็นตำบลที่อยู่ปลายทางของคลองราชดำริ ส่งผลต่อการทำนา ปลูกผักและสวนผสมผสาน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่

“บ้านเรามีปัญหาน้ำท่วม ดินเค็ม โรคพืช ราคาผลผลิตที่คนปลูกไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ก็คิดว่าทำแบบนี้ยิ่งทำยิ่งจน ถ้าทำในรูปแบบกลุ่มจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น”

อาศัยที่มีบทบาทหลายอย่างทั้งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยไปรษณีย์และเก็บค่าน้ำในพื้นที่ ทำให้ ทวี รับรู้ถึงปัญหาและคิดหาทางออก เขาได้รู้จัก สำราญ ใหม่ยิ้ม และเกรียงไกร ถมแก้ว หรือ หลวงไก่ ซึ่งปลูกผักบริโภคและขายในชุมชน เขาจึงชักชวนร่วมจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนโดยออกแบบระบบกลุ่มบนพื้นฐานของข้อมูล แผนงานและเป้าหมาย

“ทำไมเราถึงวางเป็นระบบ เพราะเราศึกษาจากความล้มเหลวของกลุ่มต่างๆ ซึ่งข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีข้อมูลจะทำแผนและมีเป้าหมายได้อย่างไร เหมือนเราเดินไม่มีเข็มทิศ ถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกถูก ต่อให้ไปช้าก็จะไปถูก แต่ถ้าเราเริ่มต้นไม่ถูก ต่อให้เก่งอย่างไรก็เป๋อยู่ดี”  

สมาชิกวิสาหกิจฯ รุ่นบุกเบิกมี 8 คน ผลิตผัก 3 คน ช่วงปีแรกทั้งสามทดลองปลูกผักสลัดเพื่อเรียนรู้ พร้อมๆ กับบันทึกการปลูกเป็นข้อมูลเพื่อจะได้รู้ว่าใครปลูกอะไร พื้นที่เท่าไหร่ ปลูกและเก็บเกี่ยวเมื่อใด ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิก 32 คน ผลิตผักมาตรฐาน GAP 18 คน และยังคงให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูลการผลิตของสมาชิก เพื่อวางแผนผลิตส่งร้านอาหาร (หลานตาชู) ตลาดหาดใหญ่ ตลาดน้ำหัวไทรและตลาดออนไลน์

“เราเริ่มต้นจากปลูกผัก แต่เราอยากให้ชุมชนมีฐานเรียนรู้ที่หลากหลาย สมาชิกไม่จำเป็นต้องปลูกผักทุกคน แต่ต้องทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับเกษตร เช่น เลี้ยงปลา ไก่ ชันโรง ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ ต่อไปคนที่ปลูกผักอยู่ตัวแล้ว อาจไปเลี้ยงปลาเสริมจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้”

ด้วยบริบทของพื้นที่ การปลูกผักของสมาชิกจึงเลือกปลูกบนแคร่ในโรงเรือนปลูกพืช โดยเริ่มจากโรงเรือนรูปแบบกระโจม แต่ไม่สามารถป้องกันฝนได้ จนได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพและโรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำจากวัสดุในท้องถิ่นจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. โดย ทวี ได้สร้างโรงเรือนปลูกพืชรูปแบบของ สวทช. (โครงสร้างเหล็กหลังคาจั่ว 2 ชั้น) จำนวน 2 หลัง ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและสม่ำเสมอ สามารถปลูกได้ 8 รอบ มีรายได้สุทธิ 120,000 บาท/โรงเรือน/ปี* ขณะที่สมาชิกกลุ่มฯ นำความรู้ที่ได้ไปปรับประยุกต์สร้างโรงเรือนต้นทุนต่ำจากวัสดุในพื้นที่ และได้รับสนับสนุนพลาสติกคลุมโรงเรือนจาก สท.

*ข้อมูลปี พ.ศ. 2564 หลังติดตั้งโรงเรือนรูปแบบ สวทช.

“โรงเรือนรูปแบบ สวทช. ระบายอากาศดี ไม่ร้อน สู้แรงลมได้ รูปแบบโรงเรือนของแต่ละคนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับทุนและสภาพพื้นที่ เช่น ขนาดพื้นที่ ทิศทางลม มีทั้งหลังคาแบบจั่ว แบบสองชั้น แบบ ก.ไก่ เป็นโครงสร้างเหล็ก ไม้ไผ่ หรือใช้เสาปูนร่วมกับโครงสร้างเหล็กก็มี อย่างของหลวงไก่เป็นโรงเรือน ก.ไก่ โครงสร้างเหล็กหลังคาสามชั้น เพราะพื้นที่มีลมแรงและช่วงที่ร้อนจะร้อนมาก หลังคาสามชั้นช่วยระบายลม ระบายความร้อนและต้านแรงลมด้วย” สำราญ นายช่างสร้างโรงเรือนของกลุ่มฯ เล่าถึงรูปแบบโรงเรือนต้นทุนต่ำของสมาชิก ขณะที่โรงเรือนของนายช่างเอง มีทั้งโรงเรือนไม้ไผ่ ก.ไก่ ขนาด 3.5×6 เมตร และโรงเรือนไม้ไผ่หลังคาจั่วสองชั้นรูปแบบ สวทช. แต่มีขนาด 3.5x21x3 เมตร ปรับขนาดให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่ติดน้ำ โรงเรือนต้นทุนต่ำของ สำราญ ใช้ไม้ไผ่ทั้งหมด ไม่สามารถใช้เหล็กได้เพราะมีปัญหาน้ำเค็ม หากจะใช้เสาปูนก็ติดปัญหาต้นทุน  

ทวี บอกว่า คนมาดูงานของกลุ่มฯ จะเห็นความแตกต่างของการใช้โรงเรือนปลูกผักในบริบทที่ต่างกัน ตั้งแต่ลงทุนหลักพันเป็นโครงสร้างไม้ไผ่ ลงทุนหลักหมื่นเป็นโรงเรือนขนาดกลาง และลงทุนหลักแสนเป็นโครงสร้างเหล็กหลังคาจั่วสองชั้น เขาจะได้แนวทางไปเลือกใช้  

นอกจากการปลูกผักบนแคร่ในโรงเรือนปลูกพืชช่วยให้สมาชิกกลุ่มฯ ผลิตผักได้ขายแล้ว พวกเขายังเรียนรู้การเพิ่มคุณภาพผลผลิตจากการปลูกผักในภาชนะ ทดลองปลูกลงดินบนแคร่ ปลูกในถุงปลูก (แสนดี) และปลูกในกระถางผ้าปูนปั้นที่ สำราญ พัฒนาขึ้น โดยพบว่า การปลูกในภาชนะมีข้อดีในเรื่องประหยัดดิน ดูแลรักษาง่าย หากเกิดโรคสามารถยกออกจากโรงเรือนได้ อีกทั้งยังจำหน่ายยกกระถางได้ด้วย

“ภาชนะแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน กระถางผ้าปูนปั้นดีกว่ากระถางพลาสติก พลาสติกช่วงเที่ยงจะร้อนมาก ผักจะโตช้า ถ้าเป็นกระถางผ้าเย็น ถุงก็เย็น แต่ถุงราคาสูงกว่า ถุงราคา 3 บาท กระถาง 1 บาท การปลูกในภาชนะต้องลงทุนเพิ่ม แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีข้อดีเยอะกว่า สมาชิกเลือกวิธีตามทุนของตัวเอง”

เมื่อเป้าหมายการรวมกลุ่มฯ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในตลาดนำมาสู่การออกแบบระบบการทำงานของกลุ่มฯ ที่ใช้ข้อมูลจากบันทึกการปลูกเป็นข้อมูลวางแผนการผลิต ตั้งแต่ต้นกล้าเพื่อควบคุมปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับตลาด มีโรงเรือนเป็นเครื่องมือช่วยให้ปลูกพืชผักได้ตลอด โดยมี สำราญ รับหน้าที่เพาะกล้าผักให้สมาชิก

“ทุกคนต้องไปซื้อกล้าจากพี่สำราญ ถ้าใครจะเพาะเองต้องแจ้งมาเพื่อควบคุมจำนวนผลิต พี่สำราญจะรู้ว่าต้นกล้า 1 แผงมีกี่ต้น จะได้น้ำหนักเท่าไหร่และรู้ว่าออเดอร์แต่ละอาทิตย์ต้องใช้กล้าเท่าไหร่ รู้อายุผัก รู้วันเก็บเกี่ยว จดบันทึกการเพาะกล้าและขายกล้า ใครเอากล้าชนิดไหนไปบ้าง ก่อนเก็บเกี่ยวเราจะติดตามสมาชิกว่าผักมีเสียหายมั้ยหรือเอาไปขายให้ใคร ถ้าขาย 1-2 กิโลกรัม ไม่เป็นไร แต่ถ้าขายยกแปลงจะทำให้ระบบตลาดที่เราวางไว้เสียหมด”

ด้วยให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล ทำให้ ทวี สามารถกำหนดราคาผักที่ส่งจำหน่ายและประกันราคาให้สมาชิกได้ ซึ่ง หลวงไก่ มองว่า ตลาดข้างนอกราคาขึ้นๆ ลงๆ แต่ตลาดของกลุ่มมีราคาแน่นอน ถ้ามีตลาดที่ให้ราคาสูงกว่า เราอาจจะขายได้ครั้งเดียวและจะกลับมาขายกับกลุ่มไม่ได้แล้ว

“การทำข้อมูลทำให้เราตั้งราคาขายได้เหมาะสม เรามีข้อมูลต้นทุนการผลิต สิ่งปลูกสร้าง เอามาคำนวณเป็นต้นทุนต่อกิโลกรัม กำหนดกำไรและราคาที่จะขาย ในเมื่อเรามีกำไรอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหาเพิ่มด้วยวิธีการอื่น แต่ถ้าจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มก็ไปแปรรูป”  ทวี ย้ำถึงการใช้ข้อมูลเพื่อเป็นผู้กำหนดราคา

ด้วยระบบการบริหารกลุ่มบนพื้นฐานข้อมูล ทำให้กลุ่มฯ สามารถปรับราคาส่งตลาดจาก 80 บาท เป็น 100 บาท ด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดก็ยอมรับในราคาดังกล่าว

กว่า 4 ปีที่ ทวี และสมาชิกกลุ่มฯ ก้าวข้ามอุปสรรคของพื้นที่และสภาพอากาศ สามารถผลิตผักปลอดภัยในโรงเรือนปลูกพืชได้ผลผลิตต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลการผลิตเป็นตัวกำหนดราคาขายและผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับ ทำให้เห็นว่าเกษตรกรมีอำนาจต่อรองทางการตลาดเป็นจริงได้

# # #

วิสาหกิจชุมชนสวนบุญประสิทธิ์เกษตรเพื่อสุขภาพ
หมู่ที่ 3 ต.ท่าซอม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
โทรศัพท์ 081 0829777
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

‘โรงเรือนปลูกพืช’ ตัวช่วย ‘ปลูกผักให้ได้ขาย’ สร้างอำนาจต่อรองตลาดด้วยข้อมูล