ปทุมมา เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สกุลขมิ้น (Curcuma) มีถิ่นกำเนิดแถบอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร คนไทยในภาคเหนือและภาคตะวันนออกเฉียงเหนือรู้จักกันดีในช่วงฤดูฝน ซึ่งพืชในสกุลขมิ้นจะเจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูฝน สามารถนำดอกมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและยังเป็นพืชสมุนไพร
พระยาวินิจวนันดร นักธรรมชาติวิทยาที่มีชื่อเสียงของไทย ได้พบความงามของดอกไม้พื้นเมืองในสกุลขมิ้นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “กระเจียวบัว” จึงได้นำดอกไม้พื้นเมืองนี้ถวายแด่ พระวินัยโกศล แห่งวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ปทุมมาท่าน้อง” และ “บัวสวรรค์” และเป็นชื่อ “ปทุมมา” ในปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2510 บุคคลสำคัญอีกท่านที่ได้ให้ความสนใจดอกไม้พื้นเมืองของไทย คือ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้นำดอกไม้สกุลขมิ้นปลูกในพื้นที่วิจัยของโครงการหลวง บริเวณห้วยทุ่งจ๊อ และในปี 2528 ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพืชสกุลขมิ้น ซึ่งทางเหนือเรียกว่า กลุ่มดอกอาว มาพัฒนาเป็นไม้ดอกเชิงเศรษฐกิจ โดยนำปทุมมาซึ่งเป็นไม้ดอกมีช่อคล้ายดอกบัวที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ ขยายพันธุ์ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จนได้รับความนิยม และเรียกชื่อกันต่อมาว่า “ปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่”
เมื่อปริมาณการผลิตปทุมมาสูงขึ้น ชาวต่างประเทศได้พบความงามของปทุมมา เกษตรกรไทยจึงเริ่มต้นส่งออกปทุมมาไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2528 โดย คุณอุดร คำหอมหวาน เป็นผู้นำสำคัญ ซึ่งเริ่มจากการตัดดอกจากสวนริมถนน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่งประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่า “สยามทิวลิป” “Siamese tulip” เหตุที่ไม่ใช้ Thai Tulip คุณอุดร บอกว่า เพราะว่า “สยาม” มีความหมายเก่า เพื่อให้ชาวต่างชาติทราบว่าเป็นสมบัติของไทยแต่โบราณ Mr.Hayashi เป็นผู้นำเข้าดอกไม้ของญี่ปุ่น ได้เห็นและทดลองสั่งดอกปทุมมาโดยมี บริษัท International flower รวบรวมดอกปทุมมาส่งขายที่ญี่ปุ่น ทำให้เกิดการขยายการผลิตที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 20 ไร่ เพื่อตัดดอก และต่อมาขยายไปปลูกที่บ้านต้นผึ้ง อำเภอจอมทอง พื้นที่ 40 ไร่ ดำเนินการทำไม้ตัดดอกในช่วงนั้นเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพดอก จึงได้งดการส่งออกไปญี่ปุ่น
ต่อมา ปี พ.ศ. 2536 จึงได้ส่งหัวปทุมมาเข้าญี่ปุ่น เนื่องจากชาวญี่ปุ่นรู้จักดอกปทุมมาแล้ว จึงเกิดการขยายพื้นที่ปลูกปทุมมาในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน จนถึงปัจจุบันขยายพื้นที่การผลิตประมาณ 400 ไร่
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการให้เกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ การตลาดปทุมมา รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางการตลาดให้คนไทยในประเทศและชาวต่างประเทศได้รู้จักดอกปทุมมา หรือสยามทิวลิปมากขึ้น เช่นเดียวกับดอกทิวลิปที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์
ปี พ.ศ. 2547 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดงานทุ่งปทุมมาเพื่อสนับสนุนโครงการเมืองไม้ดอกไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ-พระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 6 รอบ พระชนมพรรษา ที่สวนอุบลรัตน์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2547 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตปทุมมา การส่งออกและเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมแปลงปทุมมาหลากหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แปลงดอกปทุมมาในต่างประเทศในปี พ.ศ. 2545 ในงาน Floriadae 2002 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ พ.ศ. 2547 งาน Pacific Flora ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญในการคุ้มครองพันธุ์ปทุมมา จึงได้ประกาศให้พืชสกุลขมิ้นซึ่งรวมถึงปทุมมาเป็นพืชคุ้มครอง มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542