“ชีวนวัตกรรมเป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ช่วยต่อยอดภูมิปัญญาการผลิตห้อมตั้งแต่การปลูก ก่อหม้อ การย้อม และได้ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง”

บ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ เป็นแหล่งผลิต “ผ้าหม้อห้อม” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อีกทั้งยังเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวแพร่ที่มีอัตลักษณ์ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัด จากวิถีการย้อมห้อมแบบโบราณที่ใช้กิ่งและใบห้อมหมักในหม้อ ใช้เวลาย้อมหลายวันกว่าสีจะติดทนและสวยงาม เมื่อความนิยมผ้าหม้อห้อมมากขึ้น การผลิตให้ทันตามความต้องการตลาดจึงปรับเปลี่ยนมาใช้สีเคมี ต้นทุนถูกลงและใช้เวลาผลิตรวดเร็วกว่า

เราคนรุ่นเก่าก็หันมาใช้เคมีเหมือนกัน แต่พอทำไปสักระยะก็มาคิดว่าวิธีการย้อมห้อมแบบธรรมชาติตามภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมมา แทบจะไม่หลงเหลือให้เห็น เราต้องกลับมาเป็นผู้อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ ให้ลูกหลานได้เห็น ได้ภูมิใจ” วิภา จักรบุตร รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าย้อมหม้อห้อมโบราณ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการกลับมาอนุรักษ์การผลิตผ้าหม้อห้อมโบราณ และเป็นที่มาของการรวมกลุ่มสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2561

ในช่วงแรกกลุ่มฯ ซื้อ “ต้นห้อมสด” เพื่อนำมาทำเปอะสำหรับย้อมจากบ้านนาคูหา ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกห้อมคุณภาพที่ให้เนื้อห้อมและปริมาณสารอินดิโก (indigo) สูง แต่จากการย้อมด้วยกรรมวิธีโบราณของกลุ่มฯ กลับพบปัญหาสีติดไม่สม่ำเสมอ ผ้าแต่ละล็อตได้เฉดสีแตกต่างกัน ขณะเดียวกันกลุ่มฯ ต้องการปลูกต้นห้อมในชุมชนเองเพื่อลดต้นทุนการผลิต

“ปัญหาหลักของกลุ่มฯ คือ ต้องการควบคุมคุณภาพของสีที่ได้จากการย้อม การก่อหม้อห้อมเกิดจากการหมัก (fermentation) โดยมีจุลินทรีย์มาเป็นปัจจัยหลัก หากสามารถหาวิธีการคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่เหมาะสมได้ จะสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้” รศ.ดร.ณัฐพร จันทร์ฉาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ บอกถึงปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาด้วย “ชีวนวัตกรรม” ซึ่งอาจารย์ได้คัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bacillus cereus MJUP09 จากน้ำก่อหม้อห้อมย้อมธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพดึงสีอินดิโก (indigo) จากการก่อหม้อห้อมพร้อมควบคุมเฉดสีของห้อมที่ได้ตามความต้องการในการย้อมแต่ละครั้ง และคัดแยกจุลินทรีย์กลุมเอนโดไฟติกแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus nealsoneii MJUP09 จากรากของต้นห้อมมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวนวัตกรรมอัดแท่งเพื่อเพิ่มผลผลิตของต้นห้อม ช่วยให้ต้นห้อมแข็งแรง ต้านทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า หลังจากได้นำห้อมมาขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ราบและต้นห้อมให้
คุณภาพสีดีขึ้นอีกด้วย

สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้จากอาจารย์ณัฐพร และ สวทช. เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ห้อม ชีวนวัตกรรมการปลูกและการดูแลต้นห้อมให้ได้คุณภาพ การผลิตห้อมผงทดแทนการใช้ห้อมเปอะ การเตรียมผ้าด้วยชีวนวัตกรรมของการใช้เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ทำความสะอาดผ้าก่อนย้อม การก่อหม้อห้อมตามมาตรฐาน GI ของจังหวัดแพร่ พร้อมใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ ในการก่อหม้อร่วมกับห้อมผง การก่อหม้อห้อมย้อมผ้าแบบโบราณ การเพิ่มลวดลายบนผ้า การใช้ประโยชน์จากของเสียจากกระบวนการย้อมห้อม ตลอดจนการสร้างตลาดออนไลน์-ออฟไลน์สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ (new normal) และการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศด้วย BCG โมเดล

“เราได้ความรู้มากมายตั้งแต่ปลูกห้อมไปถึงการทำตลาด และผลักดันให้เราเป็นศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์วิธีการย้อมหม้อห้อมโบราณ จุดประกายให้ชาวบ้านกลับมาใช้สีธรรมชาติ องค์ความรู้ที่เราได้รับ เราถ่ายทอดต่อให้ทุกคนที่สนใจ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ได้รับการพัฒนาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งส่งเสริม ต่อยอดและพัฒนาชุมชนของเราได้ดีมากๆ” วิภา เล่าด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “ชุด Kit สีน้ำระบายสี” และรางวัลชมเชย (สบู่น้ำมันจากห้อมและแชมพูสระผมจากห้อม) จากเวทีประกวดสินค้ายกระดับเศรษฐกิจต่อการดำเนินชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ “ห้อม..ที่เป็นมากกว่าหม้อห้อม 2021”

สำหรับการปลูกต้นห้อมในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มฯ และชุมชนใกล้เคียงที่ทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติได้ร่วมกันเรียนรู้วิธีปลูกต้นห้อมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายต้นกล้า โดยปลูกห้อมใบใหญ่สายพันธุ์ Strobilanthes cusia ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีปริมาณสารอินดิโกสูง และใช้ปุ๋ยชีวภาพอัดแท่งช่วยให้ต้นห้อมต้านทานโรครากเน่าโคนเน่า ส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นห้อมและเพิ่มคุณภาพสี ซึ่งกลุ่มฯ ยังรับซื้อวัตถุดิบจากผู้ปลูกราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท

การปลูกห้อมต้องดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมจึงจะเจริญเติบโตได้สมบูรณ์ ต้นห้อมมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ใช้เวลาปลูกประมาณ 8-11 เดือน จึงจะเก็บเกี่ยวกิ่งและใบมาหมักเพื่อสกัดสี การปลูกห้อมให้ได้คุณภาพต้องกำหนดขนาดแปลง ระยะห่างการปลูกตามมาตรฐาน เพื่อให้แตกพุ่มดี ได้ผลผลิตสูง อายุต้นกล้าที่นำมาปลูกประมาณ 15-20 วัน จะแตกกอง่าย ยิ่งหักกิ่งก้านก็จะยิ่งแตกกอ เมื่อต้นกล้าตั้งต้น (1 สัปดาห์ หลังปลูกลงแปลง) แนะนำให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์อัดแท่งเป็นปุ๋ยชีวภาพ การปลูกห้อมจะใส่ปุ๋ยเพียงครั้งเดียวสามารถดูแลได้ประมาณ 5 ปี เมื่อต้นโทรมจึงเปลี่ยนต้นพันธุ์ใหม่” อาจารย์ณัฐพร เล่าถึงวิธีการปลูกและดูแลห้อมให้ได้คุณภาพ

นอกจากผลักดันให้กลุ่มฯ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และผลิตหม้อห้อมโบราณแล้ว กลุ่มฯ ยังได้ความรู้และยกระดับให้ “ห้อม…เป็นมากกว่าหม้อห้อม” โดยนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตห้อม เช่น กากห้อมหรือใบห้อมที่ดึงเม็ดสีออกแล้วมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่ ยาสระผม เครื่องสำอาง กระดาษสา ฯลฯ นอกจากนี้น้ำที่เหลือจากกระบวนการทำเปอะยังนำมาสกัดเม็ดสีออกและพัฒนาเป็นยากำจัดแมลงศัตรูพืช

การใช้ชีวนวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยต่อยอดภูมิปัญญาการผลิตห้อมตั้งแต่ต้นน้ำ (การปลูก) กลางน้ำ (การก่อหม้อและการย้อม) และปลายน้ำคือ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริง ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ยังสร้างทัศนคติและปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์พืชท้องถิ่นที่สำคัญต่อเศรษฐกิจจังหวัดแพร่ เกษตรกรสามารถขยายพื้นที่ปลูกต้นห้อมโดยไม่จำเป็นต้องปลูกบนดอยสูง ลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง และยังสามารถขายใบห้อมสดในราคาที่สูงขึ้นได้อีกด้วย

“ขอบคุณอาจารย์ สวทช. และทุกหน่วยงานที่พัฒนาชุนของเรา พวกเราพร้อมเปิดรับข้อมูล เรียนรู้และนำองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ มาปรับประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่ เราหวังว่าที่นี่จะเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดภูมิปัญญาและนวัตกรรมการผลิตหม้อห้อมอีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้หม้อห้อมทุ่งโฮ้งอยู่คู่กับชุมชนต่อไปได้อย่างยั่งยืน”

# # #

สวทช. สนับสนุน รศ.ดร.ณัฐพร จันทร์ฉาย สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ นำชุดเทคโนโลยีเพื่อการยกระดับการย้อมห้อมธรรมชาติ ได้แก่ ชีวนวัตกรรมชุด KIT ย้อมห้อมธรรมชาติแบบสำเร็จรูป (จากห้อมผงและหัวเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bacillus cereus MJUP09 แบบแห้งในกระดาษกรอง) และปุ๋ยชีวภาพอัดแท่ง ที่ใช้เชื้อจุลินทรีย์กลุ่มเอนโดไฟติกแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus nealsonii MJUP09 จากรากต้นห้อม ขยายผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสู่กลุ่มผู้ผลิตห้อมในจังหวัดแพร่ ลำพูน ลำปาง พะเยาและน่าน เป็นต้น

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าย้อมหม้อห้อมโบราณ
ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่
โทรศัพท์ 081 2355055, 084 3738897
www.facebook.com/เดอห้อม

(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565)

ชีวนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา สร้างคุณค่า “หม้อห้อมโบราณ”