ปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญ

ผลงานวิจัยจากโครงการพัฒนาไม้ดอกสกุลขมิ้นเพื่อการค้าพันธุ์ใหม่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ลัคกี้ซีดส์อโกร จังหวัดเชียงใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีแลนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเครือข่ายผู้ผลิตปทุมมาบ้านห้วยสำราญ จังหวัดอุดรธานี”

มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกหนา ปลายกลีบสีน้ำตาลเล็กน้อย ก้านช่อดอกแข็งแรง ช่อดอกอยู่เหนือทรงพุ่ม แตกหน่อ 3–4 หน่อต่อหัวพันธุ์ เหมาะสำหรับเป็นไม้กระถาง­­และไม้ประดับแปลง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญ

ราก/หัว              ระบบรากฝอยและมีรากสะสมอาหาร สะสมอาหารบริเวณปลายราก ทำให้ปลายบวมออกเป็นตุ้ม

ต้น                   ลำต้นใต้ดินหรือหัวมีลักษณะเป็นเหง้า (rhizome) ทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหาร มีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในเหง้าสีขาว ลำต้นส่วนเหนือดินเป็นลำต้นเทียม เกิดจากการอัดตัวแน่นของกาบใบ มีความสูงจากระดับโคนต้นถึงปลายพุ่มประมาณ 40-45 เซนติเมตร

ใบ                    ใบเดี่ยว รูปใบหอก ผิวใบเรียบมีสีเขียว

ดอก/ช่อดอก     ช่อดอกเกิดที่ปลายยอดแทงขึ้นจากส่วนกลางของลำต้นเทียม ชูขึ้นเหนือพุ่มใบ ประกอบด้วยใบประดับ (bract) เวียนซ้อนโดยรอบและแยกชั้นกันอย่างชัดเจน ใบประดับส่วนบนมีสีชมพู และปลายกลีบประดับมีแต้มสีแดงปนน้ำตาล ใบประดับส่วนล่างมีสีเขียว ที่ปลายกลีบประดับมีริ้วสีแดงปนน้ำตาล ดอกจริงเกิดในซอกใบประดับส่วนล่าง สีขาว กลีบดอก 3 กลีบ มี 1 กลีบเปลี่ยนรูปเป็นกลีบปากสีม่วงเข้ม

ปทุมมาสายพันธุ์ใหม่ “พันธุ์ห้วยสำราญ”