อยากให้ชาวบ้านได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ถ้าตลาดไปได้ด้วยก็ดี ชาวบ้านมีรายได้ต่อเนื่อง การทำปุ๋ยก็เป็นอาชีพหลักให้ชาวบ้านได้”
-อภินันท์ บุญธรรม-
“เราทำปุ๋ยอินทรีย์ไปใส่ต้นไม้พืชผลทางเกษตร ปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดินดี ต้นไม้โต พื้นที่สีเขียวเพิ่ม ต้นน้ำของเราก็สมบูรณ์” อภินันท์ บุญธรรม ผู้ใหญ่บ้านดอนไชยป่าแขม ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา อธิบายความหมายของชื่อ “ฮักษ์น้ำยม” ปุ๋ยอินทรีย์ที่ชาวบ้านร่วมกันผลิตจำหน่ายมาได้เกือบ 2 ปี
อำเภอปงเป็นต้นน้ำแม่น้ำยม หนึ่งในสี่สายน้ำต้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญของพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ดังนั้นความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำจึงมีความหมายต่อหลายชีวิตที่ปลายทาง
การทำไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยาสูบ เป็นอาชีพหลักของชาวบ้านดอนไชยป่าแขม ด้วยวิถีการผลิตในระบบเกษตรเคมีมายาวนาน ส่งผลต่อคุณภาพของดินและต้นทุนการทำเกษตร การผลิตปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์เป็นหนึ่งทางออกที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่ โดยได้รับโรงปุ๋ยและเครื่องจักรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551
“แต่ก่อนรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยใช้กันปีละครั้ง ทำแบบวิธีกลับกอง ทำกันได้ 4-5 ปี กลุ่มก็หยุดไปเพราะบริหารจัดการได้ไม่ดี แต่ก็ยังชวนชาวบ้านมาช่วยกันทำต่อ ได้ 2-3 ตัน/ปี พอได้แบ่งกันเอาไปใช้”
โรงปุ๋ยขนาดใหญ่และเครื่องจักรที่ได้มาจึงใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเป็นหนึ่งโจทย์การทำงานของฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เข้ามาทำงานส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนพื้นที่ 4 ต้นน้ำปิง วัง ยมและน่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561
“นอกจากเรื่องการปลูกกาแฟและไผ่ซางหม่นที่เราเข้ามาส่งเสริมแล้ว เรามองเห็นโรงปุ๋ยที่ปล่อยร้างก็อยากใช้ให้เป็นประโยชน์ เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายค่าปุ๋ยให้ชาวบ้านได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จนได้ไปร่วมอบรม “การผลิตผักสดและการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เอง” กับ สวทช. ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และได้เรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง เราจึงมองว่านี่ล่ะตอบโจทย์เราและชุมชนได้” ชัยวัฒน์ พุฒศรี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ ย้อนความถึงการคืนชีวิตให้โรงปุ๋ยของชุมชนอีกครั้ง
“ตอนฟังอาจารย์บรรยายก็คิดว่ายาก แต่พอลงมือทำ มันไม่ยากเลย ที่เคยทำสูตรอื่นๆ มาก็สู้อันนี้ไม่ได้ ไม่ต้องกลับกอง แต่น้ำต้องมีให้ตลอด เจาะรูเติมน้ำ ใช้เวลาย่อยสลาย 60 วันเอง มันง่ายสำหรับชาวบ้าน ไม่ต้องใส่พด.1 ปุ๋ยยูเรียหรือกากน้ำตาล ใช้ฟางหรือใบข้าวโพด ขี้วัว มีแค่นี้ก็ทำได้” ผู้ใหญ่อภินันท์ บอกถึงจุดเด่นของการผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองที่เขาและชาวบ้านได้เรียนรู้จาก ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อปลายปี พ.ศ.2562 ผ่านการเชื่อมโยงการทำงานกับ สวทช.
ฟางข้าว ใบข้าวโพด เปลือกข้าวโพด เศษใบไม้และขึ้วัวเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ นำมาใช้ตามสัดส่วนที่เหมาะสม หากเป็นฟางข้าว ใบข้าวโพด ใช้ 4 ส่วนต่อขี้วัว 1 ส่วน แต่ถ้าเป็นใบไม้ใช้ 3 ส่วน ขึ้นกองปุ๋ยขนาดกว้าง 2.5 เมตร ความยาวไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ความสูง 1.5 เมตร ทำตามขั้นตอน ดูแลกองปุ๋ย ใช้เวลา 60 วันย่อยสลาย เป็นหลักการที่ชาวบ้านนำมาใช้ ซึ่ง ผู้ใหญ่อภินันท์ บอกว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การดูแลกองปุ๋ย การเจาะรู เติมน้ำ
“ที่นี่เรามีปัญหาเรื่องน้ำ เราก็จะขึ้นกองปุ๋ยช่วงหน้าฝน ทำครั้งเดียวและทำเยอะ ปีแรกที่ผลิตอาศัยแรงงานชาวบ้านมาช่วยกันขึ้นกอง ขนาด 2.5x20x1.5 เมตร จำนวน 4 กอง ใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน แล้วมีจิตอาสาหมุนเวียนมาช่วยดูแลกอง แต่ปีที่แล้วเริ่มใช้รถแบคโฮมาช่วย ก็ทำให้ขึ้นกองได้เร็วขึ้นและลดจำนวนแรงงาน”
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ครั้งแรกในช่วงปี 2563/2564 ชาวบ้านผลิตได้ 23 ตัน ซึ่งได้ส่งตรวจมาตรฐานคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และทดลองจำหน่ายในราคา 120 บาท/กระสอบ (25 กก.) ภายใต้ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม” มีสมาชิกถือหุ้น 78 คน โดยมีรายได้ 110,400 บาท เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบแล้วมีกำไรสุทธิ 65,400 บาท เป็นเงินสำหรับบริหารจัดการผลิตในรอบปี 2564/2565 ซึ่งกลุ่มฯ สามารถผลิตปุ๋ยได้ 31 ตัน ส่วนราคาจำหน่ายปรับเพิ่มเป็น 190 บาท/กระสอบ เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนด้านแรงงาน ขณะที่ราคาปุ๋ยอินทรีย์ในท้องตลาดจำหน่ายที่ 280-350 บาท/กระสอบ
“ชาวบ้านมีแนวโน้มลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปลูกพืชเชิงเดี่ยวใช้เคมีมาตลอด ดินเสื่อม ก็เริ่มใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดิน บางคนที่มาเรียนรู้กับอาจารย์ก็ไปขึ้นกองปุ๋ยใช้เองที่ไร่ เราอยากให้ชาวบ้านได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ถ้าตลาดไปได้ด้วย ก็ดี แต่เราก็ต้องมาวางแผนและดูต้นทุนด้วย ตอนนี้ยังไม่ใช่อาชีพหลักของชาวบ้าน แต่ถ้ามีรายได้ประจำ มีรายได้ต่อเนื่องก็จะกลายเป็นอาชีพหลักให้ชาวบ้านได้”
นอกจากนี้กลุ่มฯ ยังได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “เเนวคิดการออกเเบบโลโก้ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น” จาก สวทช. และร่วมกันออกแบบชื่อและตราสัญลักษณ์ปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มฯ เพื่อยื่นขอจดทะเบียนการค้าเป็นวัสดุปรับปรุงดิน ภายใต้ชื่อ “ฮักษ์น้ำยม” มี “นกยูง” สัตว์ป่าประจำพื้นที่เป็นตราสัญลักษณ์ ขณะเดียวกันกลุ่มฯ ยังได้จัดตั้งธนาคารใบไม้และธนาคารมูลสัตว์ในชุมชน เป็นแหล่งรับซื้อวัตถุดิบ
ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มฯ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ การบริหารจัดการกลุ่มฯ การวางแผนผลิตและการตลาดจึงเป็นเรื่องที่ ชัยวัฒน์ ให้ความสำคัญ
“เราต้องการให้การทำปุ๋ยอินทรีย์เป็นรายได้ เป็นอาชีพของชาวบ้านได้ ดังนั้นต้องทำต้นทุนเพื่อให้ชุมชนเห็นภาพ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้กลุ่มไปต่อไม่ได้ในอดีตเพราะไม่รู้ต้นทุน ไม่รู้หลักการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันผลลัพธ์จากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มฯ ต้องมีตัวเลขบอกได้ ไม่ใช่เป็นความรู้สึกว่าใช้แล้วดี เราก็จะทำแปลงทดลองและติดตามแปลงที่ซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้ด้วย”
การฟื้นชีวิตโรงปุ๋ยของชุมชนโดยเติมเต็มความรู้และเทคโนโลยีพร้อมกับการหนุนเสริมแนวทางการบริหารและการตลาด ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชนไม่เพียงฟื้นคุณภาพดิน สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้ชุมชน หากยังคืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ ดังแนวคิดของกลุ่มฯ ที่สื่อผ่านบนถุงบรรจุปุ๋ยอินทรีย์ “วัสดุปรับปรุงดินที่เกิดจากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตภายใต้แนวคิด 5 ลด 1 เพิ่ม คือ ลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี ลดความเสี่ยงสุขภาพ ลดปัญหาขยะชมุชน ลดปัญหาควันพิษจากการเผา และเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างอาชีพทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
# # #
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) มีความร่วมมือในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่การดำเนินงานของบริษัทฯ อาทิ เทคโนโลยีการผลิตพืชผักในระบบอินทรีย์ เทคโนโลยีการผลิตกาแฟ เทคโนโลยีการแปรรูป เป็นต้น
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม
ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา
โทรศัพท์ 087 1871704
(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565)