20 กรกฎาคม 2566 ณ จังหวัดศรีสะเกษ- นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และนายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารส่วนราชการในจังหวัด ให้การต้อนรับ ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกร 3 กลุ่มในพื้นที่อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่ง สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
บ้านอุ่มแสง ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ: สท. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี “เอนไซม์เอนอีซ (ENZease)” ให้กลุ่มชาวบ้านบ้านอุ่มแสง เพื่อยกระดับผ้าไหมพื้นเมือง ซึ่งเอนไซม์เอนอีซเป็นสารจากธรรมชาติที่ช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากเส้นใยในขั้นตอนเดียว ทำให้ย้อมสีธรรมชาติได้ดีขึ้น สีสวย สม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สท. ยังได้เสริมความรู้การออกแบบลายผ้ามัดหมี่ “ลายอุ่มแสง” โดยใช้จุดเด่นของใบต้นแสง ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงการสกัดสีจากใบแสงแล้วผสมกับสีจากพืชชนิดอื่นและดินในพื้นที่ ทำให้ได้เฉดสีที่แตกต่างกัน กลุ่มฯ สามารถนำไปประยุกต์ใช้และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเพิ่มมูลค่าสินค้า
วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมขยายพันธุ์ข้าวตำบลหนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ: สท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี “เครื่องล้างและบ่มข้าวฮางงอก” ให้กลุ่ม ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงาน (น้ำ ไฟฟ้า) และร่นระยะเวลาการบ่มให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ สท. ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ่ายทอดความรู้การปลูกถั่วเขียว เป็นพืชหลังนาปรับปรุงบำรุงดินและเสริมรายได้ให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ อีกด้วย
บ้านโนนสังข์ ต.ด่าน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ: สท. ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธรและปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชอาหารสัตว์และการผลิตอาหารโคเนื้อจากวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้จากการปลูกพืชอาหารสัตว์ โดยได้จัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชอาหารสัตว์และผลิตท่อนพันธุ์ หญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 หญ้าเนเปียร์จวิ้นเฉ่า หญ้าหวานอิสราเอล หญ้าไนล์และหญ้าแพลงโกล่า แปลงสาธิตนี้เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกพืชอาหารสัตว์และผลิตท่อนพันธุ์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือในพื้นที่ รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ระบบให้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ในแปลงหญ้าอีกด้วย