“ต้นทุนทำสวนทุเรียนต้องอยู่ที่ 50 บาท/กก. การแข่งขันทุเรียนมากขึ้น ถ้าทำต้นทุนได้ต่ำเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้กำไร” สมบูรณ์ งามเสงี่ยม เจ้าของสวนทุเรียนบัวแก้ว อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และรองประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านวังจันทร์ บอกถึงตัวเลขเป้าหมายต้นทุนทำสวนทุเรียนของเขา
สมบูรณ์ เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำสวนทุเรียน ด้วยมองเห็นแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดทุเรียน จะทำอย่างไรให้อาชีพชาวสวนที่เขาทำมาเกือบทั้งชีวิต ยังคงสร้างรายได้ให้เขาต่อไปได้
“ก่อนมาเจอ สวทช. ต้นทุนทำสวนทุเรียนของผมอยู่ที่ 70 บาท/กก. ผมต้องการลดต้นทุนลง เริ่มจากใช้ระบบฟาร์มรักษ์น้ำของ สวทช. ช่วยลดค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าแรงได้ ต้นทุนเหลือ 60 บาท/กก. แต่ต้นทุนสวนยังมีเรื่องปุ๋ยอีก ก็ต้องการให้ต้นทุนอยู่ที่ 50 บาท/กก. ถ้าราคาทุเรียนตกมาที่ 60 บาท ผมก็ยังมีกำไร”
สมบูรณ์ มีค่าใช้จ่ายปุ๋ยเม็ดปีละกว่า 1.2 ล้านบาทสำหรับสวนทุเรียน 50 ไร่ เป็นตัวเลขที่เขาต้องการปรับลดลง จนเมื่อปี พ.ศ. 2564 เขาได้รู้จัก “ปุ๋ยอะมิโนคีเลต” นวัตกรรมปุ๋ยน้ำจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ที่เกิดจากการพัฒนาธาตุอาหารรอง-เสริมให้มีคุณสมบัติดีขึ้น ดูดซึมได้ดีขึ้น โดยอาศัยคุณสมบัติของสารคีเลตห่อหุ้มธาตุอาหารไว้ ทำให้ธาตุอาหารทนต่อ pH และไม่เกิดการตกตะกอน เกษตรกรสามารถฉีดพ่นทางใบหรือปล่อยไปกับระบบน้ำได้
“แต่ก่อนไม่มีความรู้เรื่องธาตุรองธาตุเสริมที่จะไปกระตุ้นหรือหยุดการเติบโต อย่างช่วงที่ต้องหยุดการแตกตาดอกและให้แตกตาใบจะใช้ปุ๋ยตัวอื่นไปกระตุ้นรากก็จะแตกใบอ่อนทันที แต่พอรู้จักปุ๋ยคีเลตก็รู้ว่าต้องใช้ธาตุรอง-เสริมตัวไหน แล้วคีเลตมีอนุภาคเล็ก ดูดซึมได้ดีและมีกรดอะมิโนผสมแล้ว ไม่ต้องซื้อเพิ่ม”
ต้นทุเรียนที่เคยอัดเต็มด้วยปุ๋ยเม็ด 4 กก./ต้น มาต่อเนื่อง ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของต้น สภาพใบร่วง ใบเหลือง กิ่งตายเกิดจากการใช้ปุ๋ยที่มากไป อีกทั้งยังส่งผลต่อรากฝอยและดินเค็ม สมบูรณ์ ปรับสภาพดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์อยู่พักใหญ่ ลดการใช้ปุ๋ยเม็ด และเริ่มใช้ปุ๋ยอะมิโนคีเลตตามคำแนะนำของนักวิจัย ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากใช้ไปหนึ่งปี สภาพต้นดีขึ้น ใบหนาเขียว ทำให้เขาตัดสินใจซื้อปุ๋ยคีเลตมาใช้จนถึงปัจจุบัน
“มีตารางการใช้ที่นักวิจัยแนะนำมาและอาศัยสังเกตลักษณะพืชประกอบด้วย เช่น ระยะฟื้นต้น ต้องใช้แมกนีเซียม แคลเซียม โบรอน คอปเปอร์ และปุ๋ยสูตร 515 ถ้าสภาพอากาศไม่ดีก็จะเสริมซิงค์”
นอกจากใช้ปุ๋ยอะมิโนคีเลต สมบูรณ์ ยังปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยธาตุหลักสูตรน้ำและปล่อยไปกับระบบฟาร์มรักษ์น้ำ ซึ่งลดการใช้แรงงานและค่าน้ำมันรถพ่นยาแอร์บัส (airblast) ไปได้มาก อีกทั้งยังนำโดรนมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยฉีดพ่นทั้งปุ๋ยและสารเคมี
“ผมปรับปริมาณปุ๋ยน้ำจาก 60 ลิตร/50 ไร่ เป็น 40 ลิตร เป็น 8 ลิตร และปัจจุบันเหลือ 4 ลิตร ผมดูจากสภาพต้นด้วย เพราะต้นทุนเดิมใช้ปุ๋ยเยอะอยู่แล้ว จะใส่ปุ๋ยต้องดูพืชเป็นหลัก ไม่ได้ต้องทำตามสูตรตายตัว ผมจะให้ปุ๋ยหลักผ่านระบบน้ำทุก 15 วัน ใช้เวลา 30 นาที แต่ถ้าปุ๋ยธาตุรอง-เสริมจะใช้โดรน ซึ่งให้ได้ตรงใบดีกว่าใช้รถพ่นยาแอร์บัส ตอนนี้พื้นที่ 50 ไร่ ก็ใช้ปุ๋ย 1,200 ซีซี/น้ำ 1,500 ลิตร ถ้าใช้รถพ่นยาแอร์บัสต้องใช้ปุ๋ย 1,000 ซีซี/น้ำ 10,000 ลิตร”
หลังเปลี่ยนเป็นปุ๋ยน้ำและปรับวิธีให้ผ่านระบบน้ำและโดรน สมบูรณ์ บอกว่า ลดต้นทุนค่าปุ๋ยและค่าสารเคมีไปได้มาก จากปีละ 4 ล้านกว่าบาท เหลือล้านกว่าบาท และคาดว่าจะลดปริมาณการใช้สารเคมีลงได้อีก
“แรงงานก็ใช้น้อยลง ใช้แค่แต่งดอกแต่งแขนง จากเดิมที่ต้องใส่ปุ๋ยหรือขับรถพ่นยาแอร์บัส ตอนนี้ไม่ต้องแล้วให้ผ่านระบบน้ำผ่านโดรนแทน ผมมองว่าลงทุนตอนนี้แต่จะลดต้นทุนในระยะยาวได้”
เช่นเดียวกับ ชิงชัย บุญสุข เกษตรกรเครือข่ายกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านวังจันทร์ เป็นอีกรายที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีระบบฟาร์มรักษ์น้ำของ สวทช. บนพื้นที่ 8 ไร่ และได้ปรับเปลี่ยนการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ รวมถึงใช้ปุ๋ยอะมิโนคีเลต โดยได้รับความรู้จาก สมบูรณ์
“ตั้งแต่ติดตั้งระบบฟาร์มรักษ์น้ำ ประหยัดค่าน้ำมันที่ต้องใช้กับรถรดน้ำจากอาทิตย์ละ 3,000 บาท เหลือ 300 บาท/เดือน ตอนนี้ต้นทุนทำสวนอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท จากเดิม 4 แสนบาท ลดไปครึ่งต่อครึ่ง”
ในวันที่คู่แข่งในตลาดทุเรียนมากขึ้นบวกกับสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำสวนทุเรียนยากยิ่งขึ้น แต่สำหรับ สมบูรณ์ เขาเลือกที่จะเปิดรับเทคโนโลยี ทดลองเรียนรู้และปรับใช้ ไม่เพียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและทำให้เขาสามารถยืนหยัดบนเส้นทางชาวสวนทุเรียนต่อไปได้
# # #
สมบูรณ์ งามเสงี่ยม
สวนทุเรียนบัวแก้ว
ต.วังจันทร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
โทรศัพท์ 064 2396289
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567)