ท่ามกลางแสงแดดยามเที่ยงที่ร้อนแรง มัสสา โยริบุตร ในวัย 65 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์นำทางลัดเลาะไปยังผืนนาที่แปรเปลี่ยนเป็นทุ่งปอเทืองและถั่วเขียวบนพื้นที่ 6 ไร่ เป็นพืชหลังนาที่ มัสสา เลือกปลูกเพื่อบำรุงดินก่อนปลูกข้าวในฤดูกาลใหม่

“สมัยรุ่นพ่อแม่ ไม่มีปลูกพืชหลังนาหรอก ทำนาเสร็จ ก็ปล่อยแปลงว่างไว้ ไม่ทำอะไร” มัสสา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ย้อนภาพแปลงนาในวัยเยาว์ จวบจนถึงวัยที่เธอเดินตามรอยเส้นทางอาชีพของพ่อแม่ มัสสา มีโอกาสเข้าถึงการอบรมต่างๆ จากหน่วยงานราชการ ทำให้เธอได้รู้จักพืชหลังนา

“ได้อบรมเป็นหมอดินอาสา ทำให้รู้จักพืชหลังนาอย่างปอเทือง ถั่วเขียวว่าเป็นปุ๋ยพืชสด มีไนโตรเจนสูง ไถกลบแล้วช่วยให้หน้าดินนุ่ม ร่วนซุย เมื่อปลูกข้าวรอบใหม่ก็ใช้ปุ๋ยน้อยลง”

มัสสา มีพื้นที่นาทั้งหมด 53 ไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิส่งจำหน่ายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด หลังได้รู้จักพืชหลังนา เธอเลือกปลูกปอเทืองและถั่วเขียวเป็นพืชหลังนาเพียง 6 ไร่ โดยแบ่งปลูกชนิดละ 3 ไร่ ด้วยข้อจำกัดด้านแรงงานและการดูแล พื้นที่นาส่วนที่เหลือเธอใช้มูลวัวและปุ๋ยอินทรีย์เป็นตัวช่วย

“พื้นที่ 6 ไร่นี้ ก่อนปลูกพืชหลังนาได้ผลผลิตข้าว 2 ตัน แต่พอปลูกปอเทืองและถั่วเขียว ได้ข้าวเพิ่มเป็น 4 ตัน รวงข้าวสวย เมล็ดข้าวเต็ม ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ก็ลดลงจาก 20-30 กก./ไร่ ทุกวันนี้ใช้ 14-15 กก./ไร่”

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 มัสสา และสมาชิกอีก 4 คน เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “เทคโนโลยีการผลิตพืชหลังนาแบบครบวงจร: ถั่วเขียวพันธุ์ KUML” จากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และได้รับเมล็ดพันธุ์ตั้งต้นมาทดลองปลูกคนละ 10 กิโลกรัม สมาชิกประสบปัญหาดิน ทำให้ได้ผลผลิตน้อย แต่แปลงของ มัสสา ที่ปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML เบอร์ 4 จำนวน 2 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 200 กิโลกรัม และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ไว้ใช้ปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ 250 กิโลกรัม (ปลูกได้ 50 ไร่)

“เดิมใช้พันธุ์ถั่วเขียวทั่วไป ซื้อมากิโลกรัมละ 50 บาท เราไม่มีความรู้ก็ใช้ 10 กก./ไร่ พอมาอบรมจาก สท./สวทช. ได้รู้จักพันธุ์ KUML ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็อยากลอง เมล็ดใหญ่กว่าพันธุ์ที่เคยใช้ ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กก./ไร่ เพิ่มระยะปลูกตามที่อาจารย์แนะนำ ต้นก็โต ฟักใหญ่ จากเดิมหว่านถี่ๆ ต้นเรียว ไม่สมบูรณ์ เราต้องดูความชื้นดินด้วย มีความชื้นสม่ำเสมอมั้ย เวลาไถกลบตอซัง ดูว่าดินมันชุ่ม มันนุ่มมั้ย หว่านแล้วจะได้งอกดี ทำถั่วเขียวไม่ยาก จะยากตอนเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้มือ แต่ KUML สุกไล่กัน เก็บง่าย”

สภาพอากาศที่แปรปรวนในแต่ละปีส่งผลต่อปริมาณผลผลิตถั่วเขียว ในฤดูผลิตปี 2566/2567 มัสสา คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิต 6 กระสอบ หรือ 150 กิโลกรัม “ได้น้อยกว่าปีก่อน เพราะฝนแล้ง ดินแห้ง ต้นเตี้ย แต่ก็มีคนจองหมดแล้วนะ”

ผลผลิตถั่วเขียว KUML ของ มัสสา นอกจากจะให้สมาชิกในกลุ่มฯ หยิบยืมแล้ว เธอยังจำหน่ายในราคา 40 บาท/กก. ให้เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ตำบลทุ่งหลวงและใกล้เคียง ด้วยหวังให้ปลูกเป็นรายได้เสริมหลังทำนา

“อยากให้คนสูงอายุได้ปลูก จะได้มีรายได้ ทำกันไร่สองไร่ ปลูกถั่วเขียวและปอเทืองก็ดีกับดินทั้งสองอย่าง ปอเทืองปลูกแล้วไถกลบ ไม่ต้องเก็บเหมือนถั่วเขียว แต่ถั่วเขียวเก็บแล้วก็ไปขายต่อได้ ถ้าไม่ขายก็เอาไปต้มกิน อร่อยด้วย”

ผืนนาที่ว่างเปล่าหลังเก็บเกี่ยวเป็นภาพคุ้นชินของเกษตรกรไทยมาช้านาน ไพฑูรย์ ฝางคำ ก็เช่นกัน เขาจำได้ถึงผืนนาของพ่อเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะเผาตอซังและไถกลบ รอเวลาเริ่มต้นทำนารอบใหม่ การเข้ามาของพืชหลังนาในผืนนาของพ่อ เริ่มต้นหลังจาก ไพฑูรย์ ได้เป็นหมอดินอาสาอำเภอห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ

หลังมีโอกาสได้เล่าเรียนที่วิทยาลัยเกษตรศรีสะเกษและสั่งสมประสบการณ์นอกห้องเรียนกับฟาร์มเอกชนอยู่หลายปี การกลับคืนถิ่นของ ไพฑูรย์ ในช่วงวัย 29 ปี ทำให้เขารับรู้ว่าการทำนาของพ่อ “ต้นทุนสูง ค่าปุ๋ยเคมีหนัก ค่าจ้างสูง เข้าไม่ถึงแหล่งทุนของรัฐ” และเป็นที่มาของ “ทำนามาชั่วชีวิต ผลผลิตเยอะ แต่ไม่มีเงินเก็บ”

“ตลาดเป็นคนกำหนดราคา สิ่งที่เราปรับได้ คือ ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด อันดับแรก ต้นทุนดอกเบี้ยจากเอกชน นายทุนเปลี่ยนเป็นแหล่งทุนรัฐ (ธ.ก.ส.) สอง ปุ๋ยเคมี เริ่มต้นใช้รถไถเดินตามเข้ามาไถกลบฟางแทนการเผา  แล้วไถกลบได้ปุ๋ย เอาหญ้ามาปลูกในนาให้วัวกิน เอาขี้วัวมาใส่นา เป็นทางออกลดปุ๋ยเคมี” ไพฑูรย์ ย้อนความถึงการแก้ปัญหาหนี้สินจากการทำนาของครอบครัว ก่อนขยับสู่การรวมกลุ่มชาวบ้านที่ทำให้เขาได้รับรู้ปัญหาในพื้นที่และเป็นจุดเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ โดยมีเป้าหมาย “ลดต้นทุนการผลิต”

ความรู้จากการเป็นหมอดินอาสา ไพฑูรย์ เริ่มนำพืชตระกูลถั่วมาปลูกบำรุงดิน โดยเริ่มจากถั่วพร้าและปอเทือง จากปลูกและไถกลบ ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยในนาข้าว ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 200-300 กก./ไร่ เป็น 300-400 กก./ไร่ ชาวบ้านให้การตอบรับอย่างดีจึงขยับมาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเมล็ดพันธุ์ จนกลายเป็นกลุ่มที่เคยทำเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าและปอเทืองส่งให้กรมพัฒนาที่ดิน สร้างรายได้เสริมหลังนาให้ชาวบ้าน

“แต่ก่อนเราปลูกเป็นพืชบำรุงดิน แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาสร้างรายได้และบำรุงดินด้วย เราเอาพืชหลังนาเข้ามาเพื่อให้ชาวบ้านไถกลบฟาง ไถพรวนดิน กำจัดข้าวเรื้อ กำจัดหญ้า ตัดวงจรวัชพืชและปลูกพืชหมุนเวียน อีกอย่างที่อีสานทำนาปีละ 4 เดือน อีก 8 เดือนปล่อยทิ้ง ทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จากนาข้าวให้เกิดรายได้ พืชหลังนาที่ให้รายได้หลักๆ คือ ถั่ว ตัวไหนที่เป็นประโยชน์และเหมาะกับพื้นที่ จะเอามาเป็นทางเลือกให้เกษตรกรตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ บางคนชอบถั่วเหลือง บางคนชอบถั่วเขียว ถั่วเป็นพืชใช้น้ำน้อย แต่ต้องปลูกให้ทันช่วงที่ดินมีความชื้น แต่ละคนก็ต้องเรียนรู้สภาพพื้นที่แล้วเลือกปลูกพืชให้เหมาะ”

พื้นที่นาผลิตข้าวและถั่วเขียวของสมาชิกกลุ่มได้รับรองมาตรฐาน Organic Thailand ส่วนผลผลิตถั่วเหลืองของกลุ่มฯ ได้รับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) และมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกา (NOP) โดยใช้ระบบการค้าที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแฟร์เทรด (Fair Trade)

“แต่ก่อนถั่วเขียวมีปลูกบ้างประปราย ปลูกบริโภคในชุมชน เป็นพันธุ์ชัยนาท 84 หลังจากรู้จักพันธุ์ KUML จาก สวทช. เราก็สนใจจะเรียนรู้และทดลองปลูก เราอยากเพิ่มชนิดพืชเป็นทางเลือกให้เกษตรกร”

ในปี พ.ศ.2565 ไพฑูรย์และสมาชิกกลุ่มรวม 40 คน พื้นที่ 100 ไร่ ได้รับสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML เบอร์ 4 และเบอร์ 8 จาก สท./สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไพฑูรย์ ได้ปลูกในพื้นที่ 12 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 60 กิโลกรัม พบว่า ถั่วเขียว KUML เมล็ดใหญ่ สุกแก่เร็วประมาณ 70 วัน และสุกแก่พร้อมกัน สามารถใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้ แต่เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นส่งผลให้ต้นถั่วเขียวชะงักการเจริญเติบโต ได้ผลผลิตประมาณ 80 กก./ไร่ จำหน่ายราคา 40 บาท/กก. หลังปลูกถั่วเขียวเป็นพืชหลังนา ไพฑูรย์ ได้ผลผลิตข้าว 420 กก./ไร่ จากเดิม 280 กก./ไร่ และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ไว้ใช้ปลูกในฤดูกาลถัดไปได้อีก 300 กิโลกรัม (ปลูกได้ 60 ไร่)

“นอกจากได้รู้จักพันธุ์เพิ่ม เราได้เรียนรู้เทคนิคการปลูก การจัดการแปลง เตรียมแปลง ระยะเวลาปลูก จากเดิมชาวบ้านคิดว่าทำนาเสร็จ ปลูกเลย แต่ไม่ใช่ ถั่วเหลืองปลูกให้ออกดอกต้องกระทบหนาวถึงจะได้ผลผลิต แต่ถั่วเขียวปลูกกระทบหนาวไม่ได้ ต้นจะชะงัก เป็นเรื่องใหม่ที่ชาวบ้านไม่รู้”

ด้วยการบริหารจัดการกลุ่มบนมาตรฐานแฟร์เทรด ในการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนานั้น กลุ่มฯ จะกำหนดแผนการผลิตในแต่ละปีและให้สมาชิกตัดสินใจร่วมผลิตตามความพร้อมของตัวเอง สำหรับถั่วเขียว KUML เมื่อเป็นที่ต้องการของสมาชิก กลุ่มฯ จึงให้ความสำคัญกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ก่อน

“เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจาก สวทช. ในปีนี้ เราจะขยายปลูกเป็นชั้นแม่พันธุ์ในพื้นที่ 60 ไร่ เราต้องการทำเมล็ดพันธุ์ KUML เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ดีให้เกษตรกรรายอื่น”

เกือบ 20 ปีที่ ไพฑูรย์ ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ผ่านกิจกรรมต่างๆ จนขยายเป็นวิสาหกิจศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลผักไหม แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลผักไหม  ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ผักไหม และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอห้วยทับทัน (ศพก.) มีโครงสร้างการทำงาน กิจกรรม เครื่องมือเครื่องจักรและตลาดที่พร้อมสนับสนุนสมาชิกให้สามารถสร้างรายได้จากแปลงนาตัวเองทั้งข้าวและพืชหลังนา อีกทั้งยังได้รับการยกระดับเป็น “ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML อินทรีย์ระดับชุมชน” ที่พร้อมให้ความรู้การผลิตถั่วเขียวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและ อบต. ในพื้นที่ สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มฯ ที่มุ่ง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นเกษตรกรรมยั่งยืน มีอาชีพและมีรายได้

# # #

วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์
ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
โทรศัพท์ 086 1324677
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567)

วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลผักไหม
ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
โทรศัพท์ 081 5793108
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 และ 21 กุมภาพันธ์ 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

ถั่วเขียว KUML พืชหลังนาที่มากกว่าบำรุงดิน (ทุ่งกุลา)