สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดลำปาง สถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชน ขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกร/ชุมชนในพื้นที่จังหวัดลำปางด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ตามโจทย์ปัญหาและบริบทของพื้นที่
การดำเนินงานของ สท./สวทช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกษตรกร/ชุมชนตามโจทย์ปัญหาและบริบทของพื้นที่ นำไปสู่การยกระดับการผลิตและขยายผลสู่กลุ่มเกษตรกร/ชุมชนอื่น ดังเช่น
> ภัทราพล วนะธนนนท์ เจ้าของฟาร์ม “สุขใจฟาร์ม” ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตผักอินทรีย์คุณภาพ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้
> จุฬารัตน์ อยู่เย็น เจ้าของฟาร์ม “คนทำฟาร์ม” หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ ที่จัดโดย สวทช. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่มุ่งเน้นบ่มเพาะคนรุ่นใหม่สู่การเป็น “ผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์”
> กลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดบ้านสา ที่ได้รับการแก้ปัญหาราคาผลผลิตสับปะรด โดย สวทช. และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา ร่วมได้ถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับราคาสับปะรด โดยบูรณาการความร่วมมือกับเทศบาลตำบลบ้านสา สำนักงานเกษตรอำเภอแจ้ห่ม สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง
> วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวอแก้ว กลุ่มเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตของกลุ่มฯ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในจังหวัด นอกจากพืชผักอินทรีย์แล้ว กลุ่มฯ ได้พัฒนาการผลิตสมุนไพรอินทรีย์ โดยเริ่มต้นจากกระชายดำ ซึ่ง สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนเชื่อมโยงบริษัทรับซื้อ
> กลุ่มปิ๊กมาดี ยกระดับความสามารถของกลุ่มผู้สูงอายุจากกิจกรรมตัดเย็บผ้าห่มนวมสู่การออกแบบและตัดเย็บเสื้อที่ได้มาตรฐาน มีลวดลายเอกลักษณ์ และเพิ่มมูลค่าด้วยนาโนเทคโนโลยี ทำให้กลุ่มฯ สามารถจำหน่ายเสื้อในราคาที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัว