“การเลี้ยงโคแม่พันธุ์เพื่อเลี้ยงเอาลูกโค แต่ก่อนที่ฟาร์มผมเน้นให้อาหารหยาบที่หาวัตถุดิบได้ง่ายในท้องถิ่น จะเป็นพืชชนิดไหนก็ได้ ขอให้ต้นทุนถูกที่สุด เอามาผสมกับอาหารข้น โรยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ด้านบนเป็นท็อปปิ้งให้โคกินจนอิ่ม จนได้มาอบรมกับ สวทช. ถึงได้รู้ว่า อาหารหยาบหรือพืชแต่ละชนิดให้สารอาหารและพลังงานที่แตกต่างกัน”
“FP Samanmit Farm” ของ ภุมรินทร์ สมานมิตร-สุนันทา สังข์ทอง ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกกลุ่มโคเนื้อทาจิมะในจังหวัดระยอง ให้เป็นต้นแบบฐานเรียนรู้การเลี้ยงโคเนื้อของพื้นที่ ด้วยบริหารจัดการฟาร์มขนาดกลางที่มีโคราว 60 ตัว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โคมีคุณภาพ ได้น้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการดูและสภาพแวดล้อมฟาร์มให้สะอาด อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนความรู้เทคโนโลยีการผลิตอาหารโค ภายใต้โครงการ การผลิตอาหารโคเพื่อความยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
พัฒนาสูตรอาหารโคที่เน้นการใช้วัตถุดิบหลักในท้องถิ่น สำรวจและเก็บตัวอย่างวัตถุดิบเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางโภชนะ สร้างทางเลือกให้เกษตรนำไปปรับใช้เพื่อให้ได้คุณค่าตามความต้องการโภชนะของโค โคเจริญเติบโตดี มีคุณภาพเนื้อตรงตามตลาดต้องการ
ภุมรินทร์ เริ่มต้นเลี้ยงโคจากแม่พันธุ์ 2 ตัว ได้ลูกโค 2 ตัว จนเมื่อปี 2560 เขาได้ทุนสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงโคจาก ธกส. ทำให้เขาปรับพื้นที่ทำโรงเรือนเลี้ยงโคแบบมาตรฐาน และซื้อแม่พันธุ์โคเพิ่มอีก 30 ตัว
“ตอนนี้ผมมีวัว 60 ตัว เป็นแม่วัว 27 ตัว กำลังท้อง 21 ตัว มีลูกวัว 28 ตัว รอขุนส่งต่อฟาร์มใหญ่อีก 5 ตัว ทุกวันภรรยาผมต้องให้อาหารหยาบเช้าและเย็น เฉลี่ยวันละ 700 กิโลกกรัม อาหารข้นวันละ 73 กิโลกรัม ผมทำงานประจำก็ช่วยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ อาหารที่ให้กินช่วงนี้จะเป็นเปลือกมันสำปะหลังล้าง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 0.50 บาท ผมปลูกหญ้าเนเปียร์ไว้หนึ่งแปลงแต่ก็ไม่พียงพอสำหรับให้วัวกิน ต้องซื้อวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมมาเสริม เช่น กากถั่วเหลือง เปลือกมัน เปลือกสับปะรด ฟาร์มเราเป็นฟาร์มขนาดเล็ก การสั่งอาหารจากโรงงานล็อตใหญ่ๆ มาสต็อกไว้ก็ทำไม่ได้ ต้องไปรับเองทุก 3 วัน”
กลางปี 2562 สท./สวทช. ร่วมกับ ธกส. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคโนโลยีการผลิตอาหาร TMR สำหรับโคเนื้อ” ให้กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโคทาจิมะ จ.ระยอง ซึ่งอาหาร TMR เป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่นำอาหารหยาบและอาหารข้นผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม การให้โคกินอาหาร TMR และเสริมแร่ธาตุ วิตามินเข้าด้วยกัน จะทำให้โคได้รับโภชนะครบถ้วนตามความต้องการ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหาร TMR ในครั้งนั้น เกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ระบบการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง โภชนะอาหาร การบริหารจัดการอาหารเพื่อลดต้นทุน ชนิดของอาหาร TMR คุณภาพที่ดีของเนื้อ การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร การใช้วัสดุอื่นทดแทนในอนาคต ตลอดจนการคำนวณสูตรอาหารแบบผสมครบส่วนจากวัตถุดิบในพื้นที่ เกษตรกรสามารถประยุกต์ปรับใช้ทดแทนสูตรอาหารในฟาร์ม หรือต่อยอดไปสู่การผลิตเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งสูตรอาหาร TMR ที่ สท. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรพัฒนาขึ้นมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบในแต่ละภูมิภาคเป็นแหล่งอาหารหยาบ เช่น หญ้าเนเปียร์ เปลือกสับปะรด มันเส้น ฯลฯ ดังนั้นต้นทุนอาหาร TMR จึงแปรผันตามราคาวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่
“ถึงฟาร์มเราจะไม่ได้ใช้สูตรการผลิตอาหาร TMR ตามที่ได้อบรมฯ มา 100% เนื่องจากมีวัตถุดิบและแรงงานไม่เพียงพอ แต่ก็ทำให้เราได้ความรู้ว่าพืชแต่ละชนิดที่เราให้วัวกินนั้น ให้สารอาหารอะไรกับวัวบ้าง เราสามารถเลือกและประยุกต์วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาเป็นอาหารที่วัวกินแล้วได้ประโยชน์เต็มที่ มีโภชนะครบถ้วน เจริญเติบโตเร็ว และมีสุขภาพแข็งแรง หากในอนาคตเรามีเครื่องจักรและวัตถุดิบเพียงพอที่จะมาทำอาหาร TMR ได้ตลอดทั้งปี เราก็จะปรับเปลี่ยนวิธีการต่อไป” สุนันทา หนึ่งแรงสำคัญของ FP Samanmit Farm บอกถึงความรู้ที่ได้
สุรสิงห์ฟาร์ม ของ วิบูลย์ ไวยสุระสิงห์ ผู้มีประสบการณ์การเลี้ยงโคมากว่า 20 ปี เป็นฟาร์มโคเนื้อใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก โดยเลี้ยงโคทั้งระบบเปิดและโรงเรือนแบบปิดหรือ Evap แห่งเดียวในประเทศ มีโคเนื้อรวม 2,500 ตัว ที่นี่เป็นแหล่งรับซื้อโคขุนอายุ 1 ปีขึ้นไปจากลูกฟาร์มในจังหวัดระยอง นำไปขุนเป็นโคขุนคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยมส่งออกต่างประเทศ ฟาร์มแห่งนี้ไม่เพียงเป็นตลาดรับซื้อที่แน่นอนให้เกษตรกร หาก วิบูลย์ ยังเป็นอาจารย์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในจังหวัดระยองอีกด้วย
“ผมกล้าพูดได้ว่า ผมเป็นพ่อค้ารับซื้อวัวที่ให้ราคาผู้เลี้ยงแพงที่สุดในประเทศ เพราะก่อนที่เกษตรกรจะซื้อแม่พันธุ์ไปเลี้ยง ผมหาแม่พันธุ์ที่ดีที่สุดให้ ส่วนมากเป็นแม่พันธุ์ยุโรปผสมกับน้ำเชื้อโคทาจิมะจากญี่ปุ่น ทำให้แม่พันธุ์แต่ละตัวสมบูรณ์ แข็งแรง เป็นแม่พันธุ์ที่ดี ทำให้ลูกสมบูรณ์ทุกตัว วัวอายุ 1 ปีขึ้นไป น้ำหนัก 200 กิโลกรัมแรก ผมให้กิโลกรัมละ 125 บาท เพราะเป็นช่วงที่เลี้ยงยาก ต้องดูแลเป็นพิเศษ เฉลี่ยแล้ววัวอายุ 1 ปี น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 330 กิโลกรัมขึ้นไป ผมรับซื้อและไปขุนต่ออีก 2 ปีครึ่ง ให้วัวได้น้ำหนัก 650–700 กิโลกรัม ถึงจะส่งขายได้”
การให้อาหารโคของสุรสิงห์ฟาร์ม ใช้หลักการของอาหาร TMR คือ ให้อาหารหยาบผสมกับอาหารข้น วิตามินและแร่ธาตุ ให้โคกินทุกวัน เพียงแต่ไม่ได้กำหนดอัตราส่วนวัตถุดิบตามสูตรของอาหาร TMR เนื่องจากมีจำนวนโคมาก ต้องให้อาหารวันละหลายร้อยตัน ต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการโภชนะของโค ซึ่งคุณภาพของเนื้อโคที่ได้ก็เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับการเลี้ยงโคมานาน วิบูลย์ พบว่า เกษตรกรไม่ค่อยใส่ใจการเลี้ยงวัวและไม่รักษาตลาดของตัวเอง เขาแก้ปัญหาโดยให้เกษตรกรมาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงและฝึกปฏิบัติทุกขั้นตอน
“การเลี้ยงวัวให้มีคุณภาพทำได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย อยู่ที่การเอาใจใส่ของผู้เลี้ยง FP Samanmit Farm เป็นฟาร์มเลี้ยงวัวมีคุณภาพดีมากที่สุดฟาร์มหนึ่ง จัดการฟาร์มได้ดีมาก วัวโตเสมอกัน น้ำหนักดีทุกตัวได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ผมเองอยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโครักษาตลาดของตัวเอง เพราะเราไม่ได้ซื้อวัวคุณแค่ครั้งเดียว”
# # #
FP Samanmit Farm
186/7 หมู่ที่ 8 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยองโทรศัพท์ 090 9627228, 086 8485596