ผ้าจกโหล่งลี้” ผ้าทอโบราณลายจกของชุมชนโหล่งลี้ที่สืบเชื้อสายไทยญวน ด้วยเทคนิคการขึ้นลายแบบ “จก” และ “ยกผสมจก” สร้างลวดลายและสีสันที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวลำพูนภาคภูมิใจ โดยมี กลุ่มทอผ้าบ้านปวงคำ ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน และเป็นศูนย์เรียนรู้หม่อนไหมผ้าจกโหล่งลี้ รับหน้าที่สืบสานสู่คนรุ่นหลังผ่านผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ในครัวเรือน

“ปัจจุบันผ้าซิ่นตีนจกมีหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ ซึ่งผ้าจกโหล่งลี้พบได้ที่นี่ที่เดียว เป็นลายที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ปู่ย่าตายายสร้างสรรค์ลวดลายจากจินตนาการไม่มีแบบหรือแม่พิมพ์ การขึ้นลายใช้ทักษะและประสบการณ์เฉพาะของผู้ทอ” สุนี ทองสัมฤทธิ์ ข้าราชการครูเกษียณผู้รับบทบาทรองประธานกลุ่มฯ บอกเล่าถึงการสืบค้นลายผ้าจกโบราณประจำถิ่น ซึ่งกลุ่มฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลตำบลลี้ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน รวบรวมและจัดเก็บไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ พร้อมกับแกะลายการทอให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้

การทอผ้าทอลายจกของกลุ่มฯ ต้องอาศัยความชำนาญและความประณีต จึงใช้เวลาทอประมาณ 2-4 เดือน ซึ่งผ้าซิ่นลายจก 1 ผืน มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 4,500-9,500 บาท ตลาดของกลุ่มฯ จึงเป็นลูกค้าเฉพาะที่มีกำลังซื้อ

ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มีใจอนุรักษ์และหวงแหนมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่ นำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนผสมผสานกับนวัตกรรมและภูมิปัญญาให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างไร และทำอย่างไรให้ผ้าทอของกลุ่มฯ เป็นที่รู้จักและราคาจับต้องได้ กลายเป็นโจทย์สำคัญที่สมาชิกกลุ่มฯ และหน่วยงานในพื้นที่พยายามหาทางออก

“เราอยากพัฒนาสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ชุมชนจะได้มีรายได้เพิ่มนอกจากทำสวนลำไย จนกลุ่มฯ ได้มีโอกาสอบรมกับ สวทช. และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน เราได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต คำนวณต้นทุน ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาดและสร้าง
แบรนด์สินค้า มีเครือข่ายจากหลายชุมชนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้ได้แนวคิด ได้แรงบันดาลใจ และองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ ที่จะพัฒนาสินค้าของกลุ่มเรา”

“โหล่งลี้ (LONGLI)” เป็นแบรนด์สินค้า โดยใช้ “ลายจก” มาออกแบบเป็นโลโก้ และต่อยอดนำมาตกแต่งในผลิตภัณฑ์แฟชั่นต่างๆ ทั้งเสื้อ กระโปรง ชุดเดรส สูท ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ย่าม ฯลฯ จำหน่ายในราคาที่จับต้องได้ ทำให้กลุ่มฯ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น 

นอกจากนี้กลุ่มฯ มีแนวคิดนำวัสดุในท้องถิ่นมาทำสีย้อมธรรมชาติ เพื่อต่อยอดการย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติก่อนนำมาทอเป็นลายจกโหล่งลี้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าสินค้าและตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการสินค้าจากสีธรรมชาติ โดยทดลองย้อมสีจากใบมะม่วง ใบลำใย ใบสัก คราม ผลมะพูดที่มีอยู่ในชุมชน พบว่า สีที่ได้ติดเส้นฝ้ายไม่สม่ำเสมอและเส้นฝ้ายแข็งกระด้าง ไม่สามารถนำมาทอได้ จนได้เข้าร่วมอบรมจาก สวทช. อีกครั้งในหลักสูตร “ทักษะการสกัดสีจากพืชในชุมชน”

“ในชุมชนมีต้นมะพูดอายุกว่า 50 ปี เราก็ได้รู้ว่าผลมะพูดเอามาสกัดสีได้หลายเฉดสี ได้รู้เทคนิคการสกัดสี การใช้น้ำด่างปรับโทนเฉดสี การทำสีผง รวมถึงการใช้เอนไซม์เอ็นอีซ (ENZease) เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าก่อนนำไปย้อม ช่วยให้เมื่อย้อมสีแล้ว สีติดทนนานและสม่ำเสมอ หลังจากอบรมฯ สมาชิกทุกคนไฟแรงมาก วันรุ่งขึ้นไปเก็บผลมะพูดมาย้อมฝ้ายตามเทคนิคที่อาจารย์สอน ได้ฝ้ายหลายเฉดสีทั้งสีเหลือง สีเทา สีเขียว และสีส้ม (ตามชนิดมอแดนต์และปริมาณด่าง)* ฝ้ายที่ย้อมเสร็จนุ่มมาก นำไปทอได้เลย” สุนี เล่าด้วยรอยยิ้ม

มาวันนี้สมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านปวงคำ ได้เติมเต็มทั้งความรู้และเทคโนโลยี ทำให้มองเห็นแนวทางที่จะตอบโจทย์การสืบสานลายผ้าทอโบราณควบคู่ไปกับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ดังที่ สุนี บอกว่า จะนำฝ้ายทอมือที่ย้อมจากสีธรรมชาติมาทอเป็นลายจกโหล่งลี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีคุณภาพและหลากหลาย นอกจากนี้จะพัฒนาศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์ผ้าจกโหล่งลี้ของชุมชนและเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสีธรรมชาติด้วย

# # #

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ดำเนินกิจกรรมภายใต้ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาหัตถนวัตกรรมสร้างสรรค์ เตรียมความพร้อมสู่สากล” ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาสิ่งทอพื้นบ้าน ยกระดับองค์ความรู้ของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันในตลาดได้มากยิ่งขึ้น

กลุ่มผ้าทอบ้านปวงคำ
หมู่ที่ 9 ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน
โทร 094 6251551

(หนังสือ วิทย์พลิกชุมชน: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน)

สืบสาน ต่อยอด ‘จกโหล่งลี้’ ลายผ้าโบราณด้วยนวัตกรรม