ถุงแดงบนต้นทุเรียนเป็นภาพที่พบเห็นในสวนทุเรียนหลายแห่งในช่วงหลายปีนี้ “ถุงแดง” หรือ “Magik Growth ถุงห่อผลไม้สีแดง” ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เป็นเทคโนโลยีวัสดุเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คัดเลือกช่วงแสงช่วง 400-700 nm ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี ป้องกันแมลงศัตรูพืชและสัตว์ฟันแทะ (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สัตว์กัดแทะ) ลดการใช้สารเคมีและเพิ่มคุณภาพผลผลิต

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ร่วมกับทีมวิจัยขยายผลการใช้ถุงแดงในพื้นที่ภาคตะวันออก ดังที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งมีทั้งแปลงเรียนรู้ของหน่วยงานรัฐ แปลงทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและแปลงทุเรียนระบบเกษตรอินทรีย์

‘ถุงแดง’ กับ ‘การใช้สารเคมี’

ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี หรือที่มักคุ้นในชื่อ “สวนของพ่อ” เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตไม้ผล สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและยังเป็นสนามทดสอบการใช้ถุงแดงกับทุเรียนหมอนทองในช่วงปี พ.ศ.2564-2565

“ปัญหาของทุเรียนคือ เพลี้ยแป้ง ใช้สารเคมีฉีดพ่นทุกๆ 10-14 วัน ถ้าไม่มีเพลี้ยแป้ง ราดำก็ไม่มี อีกปัญหาคือสัตว์ฟันแทะ เช่น กระทิก กระจ้อน สวนที่ติดภูเขาจะพบเยอะ ป้องกันยาก ชาวสวนก็มีทั้งใช้กับดัก จุดประทัด หรือตาข่าย ที่นี่ไม่อยู่ติดเขา นานๆ จึงจะเจอปัญหานี้” มานพ สมบัติทวี นักวิชาการเกษตร สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร เล่าถึงปัญหาที่ชาวสวนประสบในช่วงที่ทุเรียนเริ่มติดผล ไม่ต่างจากพื้นที่ปลูกทุเรียนใน “สวนของพ่อ” ที่เขารับผิดชอบดูแล

มานพ ใช้ถุงแดง 500 ใบห่อทุเรียนหมอนทอง 3 แปลง จำนวน 20 ต้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ถุงแดง พบว่า ผลผลิตทุเรียนเสียหายจากเพลี้ยแป้ง 20% ได้ผลผลิต 400 ลูก สัตว์ฟันแทะเข้าไม่ถึงผลทุเรียน และสีเปลือกทุเรียนแตกต่างจากทั่วไป

“ถุงแดงที่ใช้มีแถบติดแบบตีนตุ๊กแก เราปิดปากถุงตรงขั้วผลไม่ชิดพอ มีช่องให้มดเข้าไปได้ ส่วนสีเปลือกอย่างทุเรียนแก่ ปลายหนามจะต้องสีเข้มและเหี่ยว จับแล้วหักได้ แต่ห่อถุงแดง สีจะออกเขียวอ่อนๆ ขับรถไปที่ล้ง เขาเห็นก็บอกว่าเป็นทุเรียนอ่อน ผมบอกให้เปิดเนื้อดูได้ว่าไม่อ่อน เพราะผมนับอายุ นับอายุแม่นอยู่แล้ว เปิดมาเนื้อเหลือง เขาก็ตกใจว่าสีผิวแบบนี้ไม่น่าเป็นทุเรียนแก่ ถ้าเอาลูกที่ห่อกับไม่ห่อมาวางคู่กัน จะเห็นสีต่างกันชัดเจน”

การดูแลบำรุงต้นทุเรียนที่เริ่มติดลูก ชาวสวนจะฉีดพ่นสารเคมีเป็นระยะเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะเพลี้ยแป้ง แต่เมื่อห่อถุงแดง มานพ บอกว่า ลดการใช้สารเคมีจากที่เคยต้องฉีดพ่นไปที่ลูก หลังจากใช้ถุงห่อแล้วก็จะพ่นใบอย่างเดียว เพื่อรักษาใบ

จากการใช้ถุงแดงมา 2 รอบการผลิต นอกจากสีเปลือกที่อ่อนลงแล้ว เปลือกทุเรียนก็บางลง ในมุมมองของ มานพ สีเปลือกที่อ่อนแต่เนื้อด้านในได้อายุ ไม่มีผลต่อราคาขาย แต่ได้ในแง่ความสวยงามของผลทุเรียน ขณะที่เปลือกบางลง แต่ยังได้น้ำหนักผลเท่าเดิม ส่วนรสชาติขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน

“ผมมองว่าถุงแดงมีประโยชน์ป้องกันสัตว์ฟันแทะได้ชัดเจน แม้ว่าพื้นที่เราไม่ค่อยเจอสัตว์ฟันแทะ แต่ในช่วงที่ใช้ถุงแดง ก็ไม่พบปัญหานี้เลย และหากป้องกันเพลี้ยแป้งได้ดีกว่านี้ ก็คุ้มค่าที่เกษตรกรจะลงทุน” มานพ สรุปทิ้งท้าย

‘ถุงแดง’ กับ ‘หนอนเจาะผล’

“อะไรที่เป็นสมัยใหม่ ทดลองหมด” บุษบา นาคพิพัฒน์ เจ้าของสวนทุเรียนน้ำกร่อย สวน BB (นายายอาม) ต.นายายอาม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี เป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่ได้ทดลองใช้ถุงแดง หลังได้ฟังข้อมูลว่าสามารถช่วยป้องกันหนอนและแมลงได้ เธอตกตะกอนความคิดได้ว่า “ต้องลอง”

“เราอยากรู้ว่าป้องกันหนอน กันแมลงได้จริงมั้ย รูปร่างหรือสีผิวทุเรียนจะเปลี่ยนมั้ย ถ้าทดลองใช้ แล้วดี ก็น่าจะสร้างสตอรี่ (story) เพิ่มให้ทุเรียนน้ำกร่อยเราได้”

ด้วยสภาพพื้นที่ของอำเภอนายายอามที่ติดทะเล จึงหลีกไม่พ้นกับสภาพน้ำกร่อยที่ส่งผลให้ทุเรียนใบไหม้และทิ้งใบได้ บุษบา จึงปลูกไม้ผลอื่นช่วยดูดซับความเค็ม พื้นที่สวน 20 ไร่ของเธอจึงเป็นสวนผสมผสานที่มีทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง โดยชู “น้ำกร่อย” เป็นจุดขายของสวน สร้างจุดเด่นให้คนรู้จักทุเรียนจันทบุรี

นอกจากพันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาวที่ปลูกในสวนน้ำกร่อยแห่งนี้แล้ว ที่นี่ยังมีทุเรียนพวงมณี นกหยิบและกบสุวรรณ ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ทุเรียนจันท์ด้วย และด้วยความที่อยู่กับทุเรียนมาตั้งแต่เกิด บวกกับความชื่นชอบการขาย บุษบา จึงพยายามสร้างจุดขายให้ผลผลิตตัวเอง กำหนดราคาขายเองและจำหน่ายในประเทศเท่านั้น ปัจจุบันแบรนด์ “สวนทุเรียนน้ำกร่อย สวน BB (นายายอาม)” จึงมีเรื่องเล่าทั้งแหล่งผลิตและพันธุ์ทุเรียนพื้นเมือง GI ที่ใช้ถุงห่อทุเรียนได้ผลผลิตที่ปลอดภัย

“ตั้งใจเอาถุงห่อมาใช้กับพันธุ์นกหยิบ ซึ่งมีหนามถี่ หนอนชอบเข้าทำลาย ถ้าเห็นผล ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้พันธุ์พื้นเมืองได้”

ถุงแดงที่ บุษบา ใช้ครั้งแรกเป็นแบบเชือกหูรูด หลังทดลองห่อผลทุเรียนนกหยิบ 40 ลูก พบว่ามีหนอนเข้าทำลาย 10 ลูก

“วัตถุประสงค์ของเราคือ ป้องกันหนอน ได้ผลผลิตมา 30 ลูก ก็พอใจนะ แต่ข้อเสียคือ ห่อถุงแดงแล้ว เราไม่รู้ว่าทุเรียนแก่ จากเดิมที่เราใช้วิธีดูทุเรียนจากสีผิว ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนมาใช้นับวันดอกบานแทน” 

ฤดูกาลผลิตต่อๆ มา บุษบา ยังคงใช้ถุงแดงห่อผลทุเรียนพันธุ์นกหยิบ เพิ่มจำนวนถุงอีก 100 ใบและใช้เป็นถุงที่มีแถบติดตีนตุ๊กแก พบว่า มีหนอนเจาะที่ขั้วทุเรียนบ้างและมีผลผลิตเสียหายจากเพลี้ยประมาณ 30 ลูก

“แบบเชือกหูรูด เราสามารถห่อผลแล้วดึงเชือกได้เลย แบบตีนตุ๊กแกต้องจัดทรงผลก่อน แล้วจับแถบให้ติดกัน ไม่ให้เกยกัน จะใช้เวลามากกว่าแบบแรก แต่จะปิดช่องได้สนิทกว่า ก่อนห่อต้องทำความสะอาดขั้ว หรือที่เรียกล้างลูก ส่วนหลังห่อไม่ต้องพ่นยาแล้ว”

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว บุษบา นำถุงห่อมาซักทำความสะอาด ผึ่งแดด ก่อนเก็บไว้ใช้ในรอบการผลิตถัดไป ถุงที่ขาดหรือชำรุดส่งกลับคืนให้บริษัทนำกลับไปขึ้นรูปใหม่และได้รับส่วนลดเมื่อซื้อถุงใหม่

จากประสบการณ์การใช้ถุงห่อผลทุเรียนมาเกือบ 5 ปี บุษบา มองว่า ความเสียหายของผลผลิตอยู่ที่การจัดการโรคและแมลง แต่การใช้ถุงห่อช่วยลดความเสียหายจากหนอนได้ “ถุงห่อตีว่าใบละ 50 บาท ใช้ได้ 3 ปี เรายอมเสียทุเรียนหนึ่งต้นเพื่อซื้อถุง 500 ใบ มันก็คุ้ม”

‘ถุงแดง’ กับ ‘ลดต้นทุนสวนทุเรียนอินทรีย์’

จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ส่งผลให้ แววสิริ ฤทธิโยธี ต้องหันหลังให้ธุรกิจรับเหมาถมที่ดินในเมืองกรุง กลับมานับหนึ่งทำสวนผสมผสานของพ่อบนพื้นที่ 168 ไร่ ใน ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

“เราทำก่อสร้างมารู้หมด แต่ทำสวนไม่ง่ายเหมือนก่อสร้าง ทุกอย่างอยู่ที่อากาศกับธรรมชาติ” แววสิริ ย้อนความทรงจำเมื่อครั้งเริ่มต้นปลูกมะละกอในช่วงปีที่ฝนชุก ไม่สามารถรับมือกับโรคพืชได้ ทำได้เพียงปีเดียวต้องเลิกราไป แม้ได้เพียงเงินทุนคืนมา แต่เป็นจุดเริ่มให้เธอลด ละ เลิกการใช้สารเคมีหลังจากที่ใช้อย่างหนักกับมะละกอ เธอลองผิดลองถูกกับสวนผสมผสานของพ่อทั้งทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด และเพิ่มพืชอื่นอย่างแก้วมังกร ยางพารา พร้อมๆ กับหาความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช่เพียงไม่พ่นยาฆ่าหญ้า ปรับเปลี่ยนจนได้รับรองมาตรฐาน Organic Thailand ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าเมืองจันท์ ในเวลาต่อมา

“ทำสวนไม้ผลอินทรีย์เหมือนยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซ่อ มันไม่จบ ไม่มีใครทำวิจัยด้านนี้โดยตรง ต้องลองผิดลองถูกกันเอง ใช้สมุนไพรในพื้นที่บวกภูมิปัญญาชาวบ้านจัดการโรคแมลง อาศัยฉีดพ่นบ่อย ก็พอเอาอยู่”

หลังจาก แววศิริ ได้รู้จักถุงห่อทุเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2565 และทดลองใช้ 200 ใบกับทุเรียนหมอนทอง เธอพบว่าตอบโจทย์การทำทุเรียนอินทรีย์

“เราใช้ถุงแดงเพื่อจะได้ลดการฉีดพ่นสมุนไพรหรือน้ำหมัก เราทำอินทรีย์ต้องพ่นบ่อย ก็เป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่าแรงงาน ค่าสารสกัดสมุนไพร น้ำหมักสมุนไพร ไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท/ปี ใช้ถุงห่อก็ลดไปได้ 50% ตัดเรื่องพ่นยา สบายใจไปเปราะหนึ่ง แล้วพวกกระจ้อน กระถิก ก็ไม่เข้าด้วย”       

รอบการผลิตแรกที่ใช้ถุงห่อทุเรียน มีเพลี้ยเข้าทำลายเพียง 2% ไม่มีหนอน และฤดูกาลผลิตที่แล้ว แววศิริ ได้ถุงแดงจากเพื่อนอีก 200 ใบ เธอแทบไม่พบความเสียหายของทุเรียนหมอนทองเลย

“ก่อนห่อถุง เราก็ทำความสะอาดลูกก่อน ฉีดพ่นสารสกัดสะเดา ปล่อยให้แห้งแล้วค่อยห่อถุง หลังห่อไม่ต้องฉีดพ่นอะไรแล้วจนถึงตัดเก็บผลผลิต แต่ก่อนที่ไม่ห่อถุง ต้องพ่นยากันหนอนเรื่อยๆ”

ต้นทุเรียน 600-700 ต้นของบ้านสวนอิสรีย์ฯ ให้ผลผลิตประมาณ 50-60 ตัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทุเรียนทั่วไป แม้ต้นทุนการทำทุเรียนอินทรีย์ที่สูงจะมาจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องใช้ปริมาณมาก สารสกัดสมุนไพร น้ำหมัก รวมไปถึงค่าแรงงาน แต่ราคาขายปลีกทุเรียนหมอนทองอินทรีย์ของ แววศิริ อยู่ที่ 200-250 บาท/กก. ซึ่งจากประสบการณ์ทำสวนทุเรียนอินทรีย์มากว่า 10 ปี เธอมองว่า คนซื้อไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเป็นอินทรีย์ หากตั้งราคาแพงมาก ก็ไม่มีคนซื้อ

การใช้ถุงห่อผลทุเรียนจึงเป็นโอกาสให้ แววศิริ ลดต้นทุนการทำสวนทุเรียนอินทรีย์และยังแก้ปัญหาการเข้าทำลายของเพลี้ย หนอน รวมถึงสัตว์ฟันแทะ แม้ต้องใช้เวลาสำหรับห่อ แต่เมื่อแลกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการต้องพ่นสารสกัดสมุนไพรแล้ว ก็นับว่าคุ้มค่า

# # #

ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี 
ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี
โทรศัพท์ 039 397134

สวนทุเรียนน้ำกร่อย สวน BB (นายายอาม) 
ต.นายายอาม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี
โทรศัพท์ 062 4391687

บ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าเมืองจันท์ 
ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
โทรศัพท์ 089 9909141

(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม และ 1, 2 กุมภาพันธ์ 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

Magik Growth ถุงห่อผลไม้สีแดง ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ สร้างมูลค่าทุเรียนจันท์