“นักการตลาดชุมชน เป็นข้อต่อระหว่างชุมชนกับตลาด เราอยู่ตรงกลาง แต่เราไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง เพราะเรามี ‘คุณธรรม’ ไม่ใช่แค่ซื้อของเขามาแล้วเอาไปขาย แต่ต้องคิดงานและทำงานร่วมกับชุมชน แล้วชุมชนจะเป็นคนบอกว่ามีคุณธรรมหรือไม่” คำนิยาม “นักการตลาดชุมชน” ที่อัจฉริยา ศิริโชติ ใช้เมื่อแนะนำ “อาชีพ” ของเธอ
จากครูสอนบัญชีในโรงเรียนเอกชน ขยับเป็นผู้ประเมินสถานศึกษา และก้าวมาทำงานด้านเกษตรและชุมชนในโครงการเครือข่ายชาวนาวิถีเกษตรอินทรีย์ จากคำชักชวนของ ผศ.ธนศักดิ์ สุขสง อดีตผู้อำนวยการศูนย์สาธิตฝึกอาชีพเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นพี่สมัยเรียนปริญญาโทด้านพัฒนาสังคม นิด้า ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “นักการตลาดชุมชน (ที่มีคุณธรรม)” ในปี 2560
“ตอนแรกชั่งใจว่าจะร่วมโครงการดีมั้ย เพราะตัวเองไม่ชอบการตลาด วิชาการขายการตลาดไม่เอาเลย เพราะคิดว่าต้องไปขาย ไม่ใช่ตัวเรา แต่อาจารย์ธนะศักดิ์ให้มองถึงชุมชน สิ่งที่ชุมชนมีปัญหาคือเรื่องการตลาด มีของในมือ แต่โดนกดขี่”
อัจฉริยา ใช้เวลาหนึ่งปีเรียนรู้ทั้งหลักการด้านการตลาดและการทำงานกับชุมชน ควบคู่กับการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงที่ “ชุมชนซอยตามนาง” ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา พื้นที่เธอเลือกเข้าไปทำหน้าที่ “นักการตลาดชุมชน” ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพักของเธอในตัวเมืองสงขลากว่า 35 กิโลเมตร
“ตอนที่พี่ใหม่เข้ามา พวกเรายังไม่มีผลิตภัณฑ์อะไรเลย เราบอกพี่ใหม่ว่า พวกเราติดลบ เราไม่มีอะไรเลย พี่ใหม่ไม่ได้เดินขึ้นเขาตัวเปล่า แต่แบกพวกเราขึ้นด้วย พี่ใหม่ต้องหนักนะ แต่พวกผมจะสร้างต้นน้ำให้ อะไรก็ตามที่อาจารย์ธนะศักดิ์หรือพี่ใหม่แนะนำ พวกผมจะทำรอไว้” มงคล รอดบุญธรรม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกิดจากดินปากรอ บอกเล่าถึงวันที่รู้ว่าพี่ใหม่ หรือ อัจฉริยา จะเข้ามาทำงานกับพวกเขา
จากที่มีโอกาสช่วยงานอาจารย์ธนะศักดิ์ ทำให้ อัจฉริยา ได้ลงพื้นที่หลายแห่ง แต่เธอเลือกที่จะเข้ามาทำหน้าที่นักการตลาดชุมชนให้กับ “ชุมชนซอยตำนาน” ด้วยมองเห็นบางสิ่งของกลุ่มนี้
“ที่นี่ไม่ใช่แค่มาจากศูนย์แต่ติดลบด้วย เพราะเป็นหนี้ คนดูถูกว่า ‘กูว่าแล้ว ทำอะไรก็ไม่รอด’ แต่สิ่งหนึ่งที่ทางนี้มีคือ ใจของเขา เขาไม่เคยท้อ เขาแค่หยุดและหาทางว่าจะมีใครมาไขกุญแจให้เขา เราก็เลยคุยกัน บอกกับเขาว่าไม่จำเป็นต้องเอาคนมาเยอะ แค่กรรมการ 5 คนก็ได้ เปิดอกคุยกัน ทำงานด้วยกัน กลุ่มต้องรู้ตัวเองก่อนว่าจะทำอะไร เขาต้องคิด ไม่ใช่มาจากเรา เพราะเขาจะรู้ขีดความสามารถของเขา เราไม่ได้นำชุมชน แต่ดูว่าชุมชนมีปัญหาตรงไหน บริบทเขาเป็นอะไร ความพร้อมมีแค่ไหน แล้วประเมิน นั่งคุยกัน อะไรที่เราจะต่อยอดหรือเติมให้เขาต่อ แล้วเริ่มกันไปทีละขั้นๆ”
อัจฉริยา รู้ดีว่าการทำงานกับพื้นที่ที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ของตัวเองว่ามาทำอะไร เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนไว้ใจได้ ซึ่งนำมาสู่การไขปัญหาที่กลุ่มต้องการ คือ ปรับเปลี่ยนการทำนาที่ใช้สารเคมีให้เป็นนาอินทรีย์ และการมีอาชีพเสริมที่นอกเหนือจากขายตาลโตนด ผลผลิตประจำถิ่น
“ความไม่รู้” ทำให้เกษตรกรเดินตามคำโฆษณาจากพ่อค้า เพียงหวังผลว่าจะได้ผลผลิตและรายได้งาม แต่กลับกลายเป็นหนี้สินทบทวีที่ทำให้เกษตรกรติดลบ การปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้เป็นอินทรีย์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยพวกเขาได้ แต่การเดินตามรอย “เกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชา” คือสิ่งที่ มงคล และแกนนำกลุ่ม มองว่านั่นคือหนทางที่ทำให้ชาวนาอยู่รอด และเมื่อเสริมด้วยแนวคิดห่วงโซ่การผลิตจากอาจารย์ธนะศักดิ์ และมุมมองการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากอัจฉริยา ทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสที่จะขยับพ้นจากติดลบ
“ถ้าจะเห็นความสำเร็จในปัจจุบันยังไม่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าเห็นการเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลง เรารู้แล้วว่าถ้าจะทำผลิตภัณฑ์ มีห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง มีวัตถุดิบอะไรในท้องถิ่น แล้วต้องทำอะไรบ้างในแต่ละห่วง แต่ก่อนเราคิดในกรอบ แต่อาจารย์และพี่ใหม่มานอกกรอบ เรามีพื้นฐานดั้งเดิม พี่ใหม่มายกระดับให้ดีขึ้น อย่างปลูกกล้วย แทนที่ขายผล เอามาทำแป้งกล้วย ต่อยอดเป็นข้าวเกรียบแป้งกล้วย หรือต้นตาลโตนดจากที่ขายเป็นน้ำตาลสด น้ำตาลแว่น เอามาทำเป็นน้ำตาลผงได้ ทำให้เรารู้สึกว่ามีโอกาส มันทำได้นะ แทนที่จะทำข้าวขายโรงสี เลี้ยงเป็ดก็ขายไข่” มงคล บอก
ระยะเวลาเพียงปีกว่าที่อัจฉริยาและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกิดจากดินปากรอได้ทำงานร่วมกัน เป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยได้อาจารย์ธนะศักดิ์เป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ที่ช่วยขับเคลื่อนชุมชน ในฐานะที่ทำหน้าที่นักการตลาดให้ชุมชนแห่งนี้ อัจฉริยา มองว่า บทบาทของเธอยังไม่สมบูรณ์ สินค้าจากชุมชนยังไม่เป็นรูปร่าง แต่มีความก้าวหน้าให้เห็น สมาชิกปรับเปลี่ยนการทำนาข้าวเป็นปลอดภัย ฝึกแปรรูปข้าวเกรียบแป้งกล้วย หรือแม้แต่การทำน้ำตาลโตนดผงทดลองจำหน่าย
“ปีแรกจะสำเร็จเลยก็คงไม่ได้ และไม่ได้ต้องการให้กลุ่มสำเร็จในปีสองปี ให้เขาค่อยๆ เดินทีละขั้น ถ้าสะดุดหยุดก่อน แล้วมาดูว่าเกิดจากอะไร แล้วค่อยขยับต่อ”
แม้ “โครงการนักการตลาดชุมชน (ที่มีคุณธรรม)” จะสิ้นสุดแล้ว แต่อัจฉริยามองว่าอาชีพนักการตลาดชุมชนของเธอยังไม่จบ ยังคงทำงานกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกิดจากปากรออย่างต่อเนื่อง “จะทิ้งได้อย่างไร ในเมื่อเดินมาด้วยกัน” และเธอยังขยับตัวเองไปทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับชุมชนในอ.รัตภูมิ จ.สงขลา อีกด้วย
# # #
สท. จัดทำโครงการ “นักการตลาดชุมชน (ที่มีคุณธรรม)” เพื่อสร้างบุคลากรของชุมชนให้เป็นผู้เชื่อมโยงสินค้าที่มีคุณภาพกับตลาด โดยผู้ร่วมโครงการได้เรียนรู้เครื่องมือการทำงานกับชุมชน ค้นหาความต้องการของชุมชนและลูกค้า เครื่องมือการขายและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปสู่การจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับชุมชน เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถผลิตสินค้าและขายได้อย่างยั่งยืน