เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ประชุมหารือ “การจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวบ่อพันขัน จังหวัดร้อยเอ็ด” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชงคลอีสาน (มทร.อีสาน) สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด เทศบาลตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีสว่าง อำเภอโพนทราย องค์การบริหารส่วนตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนและประเมินความพร้อมการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวบ่อพันขัน นำไปสู่การขับเคลื่อนแผนงานการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
การประชุมหารือครั้งนี้ ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน มทร.อีสาน ได้นำเสนอข้อมูลทรัพยากรของชุมชน วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์งานวิจัยการพัฒนาชุมชนบ่อพันขัน นอกจากนี้นายสายฝน แก้วสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านหญ้าหน่อง พระปลัดขาว คุตฺตธมโม เจ้าอาวาสวัดเกาะบ่อพันขันรัตนโสภณ และชมรมท่องเที่ยวบ่อเกลือพันขัณฑ์ ได้นำชมแหล่งท่องเที่ยวบ่อพันขัน ซึ่งบริเวณหนองพันขันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นแหล่งอนุรักษ์พรรณไม้น้ำ ปลา นกน้ำ แหล่งเรียนรู้การต้มเกลือสินเธาว์โบราณ “บ่อเกลือพันขัณฑ์” นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังปลูกพืชผักปลอดภัยและแปลงสมุนไพรที่สนับสนุนโดย สวทช.
สำหรับการประเมินความพร้อมของชุมชนในการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวบ่อพันขัน ตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) โดย สวทช. ร่วมกับ ผศ.ดร.จิตศักดิ์ พุฒจร ผู้เชี่ยวชาญการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า ชุมชนมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ มีความโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถานและโบราณวัตถุ สมาชิกชุมชนรวมกลุ่มบริหารจัดการท่องเที่ยว โดยมีหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานท่องเที่ยวจังหวัดที่พร้อมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนยังสามารถเพิ่มกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพิ่มระบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ขยายกลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่จะร่วมกันวางแผนการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนคุณภาพสูงและพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เกิดประโยชน์กับชุมชนต่อไป
อนึ่ง กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน สวทช. ในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Implementation ทุ่งกุลาม่วนซื่น ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร และมหาสารคาม ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน สร้างรายได้ จากการนำ วทน. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ระหว่างปี 2567-2571
# # #