Microbes4

เมื่อเอ่ยถึง “จุลินทรีย์” ภาพในความคิดของหลายคนเป็น “สิ่งมีชีวิตเล็กๆ” เล็กขนาดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ แต่เมื่อพูดถึงประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้ เราจะนึกถึงอะไร …..

“จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่พบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อม ซึ่งมีหลายกลุ่ม เช่น แบคทีเรีย ไวรัส สาหร่าย มีทั้งตัวดีและไม่ดี ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยตัวไม่ดีอาจทำให้เกิดโรคทั้งในมนุษย์ พืชและสัตว์ ในขณะที่ตัวดีนั้นสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น บางตัวย่อยสลายเซลลูโลสหรือสารอินทรีย์ได้” ดร.ศิราภรณ์ ชื่นบาล อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยขยายความเข้าใจต่อ “จุลินทรีย์” มากขึ้น

Microbes

เมื่อจุลินทรีย์มีหลากหลายกลุ่มและยังมีทั้งตัวดีและไม่ดี การจะนำจุลินทรีย์มาใช้งานจึงต้องคัดเลือกชนิดและคุณสมบัติที่ต้องการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่งานวิจัยของ ดร.ฐปน-ดร.ศิราภรณ์ ชื่นบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช. ศึกษาการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในด้านสิ่งแวดล้อมและการเกษตร

“ในงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการคัดเลือกกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยบำบัดน้ำเสียและบำบัดกลิ่น จุลินทรีย์กลุ่มนี้จะช่วยย่อยสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้ดีขึ้น ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และยังช่วยกำจัดกลิ่น ซึ่งที่มาของจุลินทรีย์แต่ละชนิดมาจากการเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ที่ประสบปัญหา นำมาคัดแยกเชื้อจุลินทรีย์ที่แข็งแรงและมีความสามารถในหน้าที่นั้นๆ เช่น บำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่น แล้วขยายเพิ่มปริมาณ เก็บไว้เป็นหัวเชื้อที่พร้อมนำไปใช้งาน” ดร.ฐปน ขยายความการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในด้านสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างกลุ่มจุลินทรีย์ช่วยบำบัดน้ำเสียและบำบัดกลิ่น เช่น จุลินทรีย์ช่วยย่อยลดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มปศุสัตว์ เป็นกลุ่มแบคทีเรีย Chemoautotrophic nitrifying ใช้แอมโมเนียเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโต จึงสามารถกำจัดและลดปัญหากลิ่นที่รุนแรงได้ โดยอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า ไนตริฟิเคชั่น (Nitrification) เปลี่ยนแอมโมเนีย (NH3) เป็นไนไตรท์ (NO2) และเปลี่ยนไนไตรท์ให้เป็นไนเตรท (NO3)

สำหรับการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในด้านการเกษตรนั้นจะเป็นกลุ่มเร่งการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กลุ่มควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืช และกลุ่มย่อยสลายสารพิษตกค้างทางการเกษตร

Microbes3

“จุลินทรีย์กลุ่มช่วยย่อยสลายฯ เป็นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma sp.) ร่วมกับแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus sp.) ช่วยลดระยะเวลาการย่อยสลายเศษวัสดุอินทรีย์ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมได้ 40% ขึ้นอยู่กับชนิดเศษวัสดุ อัตราส่วนคาร์บอน:ไนโตรเจน (C:N) และความชื้น เมื่อย่อยสลายแล้วยังได้วัสดุที่มีธาตุอาหารช่วยควบคุมและป้องกันโรคพืชได้ ขณะที่จุลินทรีย์กลุ่มควบคุมโรคพืชช่วยป้องกันโรคพืชจากเชื้อราและแบคทีเรีย โดยเบียดเบียนหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ และยังช่วยละลายแร่ธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชด้วย ส่วนกลุ่มช่วยกำจัดสารตกค้าง (ไกลโฟเสท) จุลินทรีย์จะย่อยสลายสารตกค้างในพื้นที่ปนเปื้อนได้ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ปริมาณสารตกค้างลดลงมากกว่า 90% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม” ดร.ศิราภรณ์ กล่าว

หัวเชื้อจุลินทรีย์ทั้งที่ใช้ในด้านสิ่งแวดล้อมและการเกษตรนี้มีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 109 CFU/ml เก็บได้นาน 1 ปี โดยมีประสิทธิภาพสูงสุด 6 เดือน การนำไปใช้ต้องผสมน้ำในอัตราส่วนหัวเขื้อ 1 ลิตรต่อน้ำ 25 ลิตร และเกษตรกรสามารถต่อเชื้อเพื่อเพิ่มปริมาณได้ โดยเพิ่มอาหารให้จุลินทรีย์ เช่น น้ำตาล กากน้ำตาล ยูเรีย แล้วหมักโดยเติมอากาศประมาณ 2 วัน หรือใช้ไม้คนวันละ 2 ครั้ง ในเวลาเช้าและเย็น เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งการต่อเชื้อควรทำครั้งเดียว เนื่องจากประสิทธิภาพของเชื้อจะลดลง

ดร.ศิราภรณ์ บอกว่า จุลินทรีย์ที่คัดเลือกได้เหล่านี้เป็นเชื้อจุลินทรีย์ในท้องถิ่นจึงเหมาะกับสภาพแวดล้อมของบ้านเรา การคัดเลือกและเก็บรักษาที่ห้องปฏิบัติการทำให้ได้หัวเชื้อที่สดและใหม่ เมื่อนำไปใช้งานจึงมีประสิทธิภาพและให้ผลที่รวดเร็ว

เสียงสะท้อนจากฟาร์มหมู

ฟาร์มหมู “สุทัศน์ คำมาลัย” ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลชุมชนในอำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2540 แต่จากการขยายตัวของเมือง ทำให้พื้นที่ห่างไกลกลายเป็นที่อยู่อาศัย มีบ้านเรือนปลูกอาศัยรอบฟาร์มมากขึ้น และเสียงร้องเรียนเรื่องกลิ่นจากฟาร์มหมูจึงเกิดขึ้น

คุณสุทัศน์ คำมาลัย เจ้าของฟาร์ม เล่าว่า หลังจากมีเรื่องร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ก็มีเจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งฟาร์มได้ปรับปรุงระบบให้ถูกต้อง มีการทำไบโอแก๊ส หาวิธีกำจัดกลิ่นอย่างการใช้แหนแดง แต่ก็ไม่เป็นผล จนลูกเขยไปพบงานวิจัยเรื่องจุลินทรีย์กำจัดกลิ่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

 “เอาหัวเชื้อมาผสมน้ำ 1 ต่อ 25 ช่วงแรกฉีดพ่นทุกวัน ปรากฏว่าใช้ครั้งแรกฉีดพ่นอยู่ 3 วัน กลิ่นเริ่มหาย”

Microbes2

เมื่อกลิ่นเหม็นคลุ้งของขี้หมูเริ่มหายไป เสียงร้องเรียนจากเพื่อนบ้านก็จางคลายไปเช่นกัน ปัจจุบันฟาร์มหมูแห่งนี้ยังคงใช้จุลินทรีย์กำจัดกลิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หัวเชื้อปีละ 100 ลิตร การใช้งานจะขยายหัวเชื้อตามสัดส่วนแล้วฉีดพ่นในคอกหมูและเทราดลงรางน้ำรอบคอกหมู ส่วนความถี่การใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกลิ่น ถ้ามีกลิ่นจะใช้ทุกวัน ถ้าไม่มีจะฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้ง

นอกจากกำจัดปัญหาเรื่องกลิ่นได้แล้ว การใช้จุลินทรีย์ดังกล่าวยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับไบโอแก๊สของฟาร์มอีกด้วย โดยจุลินทรีย์สามารถกำจัดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (แก๊สไข่เน่า) ทำให้คุณภาพของแก๊สมีเทนดีขึ้น 95% ซึ่งแก๊สจากฟาร์มแห่งนี้ส่งต่อไปยังบ้านเรือนกว่า 80 หลังในชุมชน โดยมีค่าใช้จ่ายบำรุงเดือนละ 20 บาท ตั้งเป็นกองทุนของชุมชนสำหรับปรับปรุงท่อส่งแก๊สและจัดกิจกรรมในชุมชน

ป้องกันโรคพืช เพิ่มผลผลิต

Microbes1

 

 

“แต่ก่อนรวงข้าวไม่สมบูรณ์ รวงลีบ ไม่ยาว เมล็ดข้าวที่ได้ก็ลีบ แต่เดี๋ยวนี้รวงข้าวอวบ เต่ง กอข้าวใหญ่ขึ้น แตกกอได้ดี ข้าวสมบูรณ์” นายสิรวิชญ์ ศาลิประเสริฐโชค ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และประธานกลุ่มเกษตรกรส่งออกข้าวอินทรีย์บ้านสะลวง ชี้ให้ดูแปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่พร้อมรอเก็บเกี่ยว เป็นอีกหนึ่งแปลงข้าวที่ใช้จุลินทรีย์กลุ่มเร่งการย่อยสลายเศษวัสดุทางการเกษตรและกลุ่มควบคุมโรคพืช-แมลงศัตรูพืช ซึ่งกลุ่มเกษตรกรส่งออกข้าวอินทรีย์บ้านสะลวง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือเรียกว่าเป็นธนาคารขยายเชื้อเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรผู้สนใจ

ผู้ใหญ่สิรวิชญ์ เล่าว่า เริ่มใช้จุลินทรีย์กลุ่มควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืชของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาได้ 2 ปี เห็นความแตกต่างชัดเจนจากที่เคยใช้ของหน่วยงานอื่น โรคพืชไม่มี รวงข้าวงาม และผลผลิตเพิ่มขึ้น ปีที่แล้วได้ข้าว 127 กระสอบ ปีนี้ได้ 159 กระสอบ

ผู้ใหญ่สิรวิชญ์นำหัวเชื้อจุลินทรีย์มาขยายตามสัดส่วน 1:25 ลิตร นำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่ในเชื้อจุลินทรีย์ก่อน เพื่อให้เมล็ดแข็งแรงและป้องกันโรค และนำหัวเชื้อที่ขยายแล้วเทราดบนแปลงนาในช่วงเตรียมดิน และหลังจากดำนาแล้ว 7 วัน จะฉีดพ่นทางใบ ป้องกันโรคพืชต่างๆ เช่น เชื้อรา ใบจุด นอกจากใช้ในแปลงข้าวแล้ว ผู้ใหญ่สิรวิชญ์ยังใช้จุลินทรีย์นี้กับแปลงผักและลำไยที่ปลูกด้วย

สำหรับการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายเศษวัสดุทางเกษตรนั้น ผู้ใหญ่สิรวิชญ์ใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยกองปุ๋ย เร่งการย่อยให้เร็วขึ้น ซึ่งเศษวัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยจะเป็นก้อนเห็ดเก่า ต้นข้าวโพด โดยใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์แค่ครั้งแรกในสัดส่วน 1 ต่อ 25 ลิตร เทราดบนกองเศษวัสดุที่ขึ้นกองสลับชั้นกับขี้วัว ไม่เพียงย่อยสลายได้เร็วขึ้น จุลินทรีย์ที่อยู่ในปุ๋ยยังช่วยป้องกันโรคพืชได้อีกด้วย

# # #

สนใจติดต่อสั่งซื้อหรือขอคำแนะนำการใข้จุลินทรีย์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการเกษตร ได้ที่

> หน่วยความเป็นเลิศทางการวิจัยและพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทรศัพท์ 084 6872578

> ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่าลาน ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 087 0328098

> กลุ่มเกษตรกรส่งออกข้าวอินทรีย์บ้านสะลวง ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 088 2540402

“จุลินทรีย์” สิ่งมีชีวิตทรงพลัง