รัฐมนตรีฯ กระทรวง อว. นำนักวิจัย สวทช. ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ชุมชน ยกระดับ-เพิ่มมูลค่าผ้าทอของทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยเทคโนโลยีนาโน พร้อมหนุนปลูก ‘ถั่วเขียว KUML’ เป็นพืชหลังนา จับมือภาคเอกชนรับซื้อผลผลิต สร้างอาชีพ เสริมรายได้ สอดคล้องพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประชาชนอยู่ดี กินดี คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้เพิ่ม ข้ามพ้นความยากจน
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ผศ. ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรี อว. ดร.กิติพงษ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สวทช. นำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ลงพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้”
ยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทออัตลักษณ์พื้นถิ่น ผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้อยู่ภายใต้แผนงาน “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และสุรินทร์ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และต่างมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ดังเช่นผลิตภัณฑ์ ‘ผ้าทอเบญจศรี’ ของดีศรีสะเกษ ที่คงคุณค่าเอกลักษณ์ของชุมชนด้วยลวดลายที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพื้นที่ อย่างไรก็ตามแม้พื้นที่ทุ่งกุลาฯ จะโดดเด่นด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม แต่ผลิตภัณฑ์ของพื้นที่ที่ยังไม่ตอบโจทย์ตลาด
“กระทรวง อว. โดย สวทช. ได้นำนวัตกรรมมาถ่ายทอดสู่ชุมชนบนพื้นฐานอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น การใช้เอนไซม์เอนอีซ “ENZease” สารจากธรรมชาติที่ช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากเส้นใยในขั้นตอนเดียว ทำให้ย้อมสีธรรมชาติได้ดีขึ้น สีสวย สม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีเพิ่มสมบัติพิเศษต่างๆ เช่น ความนุ่มลื่น การป้องกันรังสียูวี การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเติม ‘กลิ่นหอมจากดอกลำดวน’ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดในผ้าทอเบญจศรี สร้างอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้ผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ สวทช. ยังได้นำเทคโนโลยีกี่ทอมืออัตโนมัติและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง อ.อุทมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ทั้งการออกแบบลายผ้า การตัดเย็บ การสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบทันสมัยตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งยังได้ใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ จากเนคเทค เก็บข้อมูลแบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการเก็บรักษาฐานข้อมูลและรูปภาพในเรื่องลายผ้าต่างๆ ไว้ให้ลูกหลานสืบสาน รักษา ต่อยอดลายผ้าจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งใช้เป็นฐานทุนทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าควรค่าแก่การอนุรักษ์และเชื่อมโยงสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานความรู้ได้อีกด้วย” รัฐมนตรีกระทรวง อว. กล่าว
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า นวัตกรรม เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากคลังจุลินทรีย์ของ สวทช. ที่มีกว่า 80,000 สายพันธุ์ ซึ่งจุลินทรีย์นี้ทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) 5.5 และที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เอนไซม์เอนอีซมีจุดเด่นสำคัญคือ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพของผ้า สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยถนอมผ้าให้คงคุณภาพสูง สำหรับนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้งานสิ่งทอ โดยเพิ่มสมบัติพิเศษต่างๆ เช่น ความนุ่มลื่น การป้องกันรังสียูวี การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการเติมกลิ่นหอม ‘ดอกลำดวน’ ในระดับนาโนแคปซูล
ยกระดับรายได้ สร้างอาชีพหลังนาจาก ‘ถั่วเขียว KUML’
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสายพันธุ์ถั่วเขียว KUML ที่ให้ผลผลิตสูง ความต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด โดยได้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรในจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์ตั้งแต่ปี 2563 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 100 คน พื้นที่ปลูก 500 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 120-150 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเฉลี่ย 2,600–3,300 บาทต่อไร่ ซึ่งการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตถั่วเขียว KUML เป็นหนึ่งในแผนงานของโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและกลุ่มคนจนเป้าหมายในมิติเศรษฐกิจ โดยมี สวทช. ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและชุมชน โดยได้เชื่อมโยงกับภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีปริมาณการรับซื้อ 1,000 ตันต่อปี และบริษัท กิตติทัต จำกัด มีปริมาณการรับซื้อ 3,500 ตันต่อปี
“กระทรวง อว. ยังได้ใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปช่วยเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG นำพาให้คนทุ่งกุลาร้องไห้หลุดพ้นความยากจนได้” รัฐมนตรีกระทรวง อว. กล่าว
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการปลูกถั่วเขียวหลังนาในฤดูกาลผลิต ปี 2564/2565 โดยนำร่องในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จำนวน 2,161 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 317 คน จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมขยายพันธุ์ข้าว ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ตำบลทุ่งหลวง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านหนองฮี ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนยั่งยืนน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ โดยเชื่อมโยงกับบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ในการรับซื้อผลผลิตจำนวน 1,679 ไร่ คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตถั่วเขียว จำนวน 324 ตัน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 7.13 ล้านบาท