สวทช. ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโครงการ “การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรและเกษตรอัจฉริยะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน” โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และผศ.พาวิน มะโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ ร่วมลงนามภายในงาน สวทช.-วิทย์สัญจร จ.เชียงใหม่ ประจำปี 2563 เพื่อร่วมพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตร แหล่งเรียนรู้ และความร่วมมือวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคการเกษตรไทย พร้อมกันนี้คณะผู้บริหาร สวทช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ม.แม่โจ้ สัมผัสตัวอย่างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่แปลงวิจัยลำไย ทดสอบการใช้เทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อการเกษตร และระบบการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน ผ่าน Smart IoT รวมถึงเยี่ยมชมแปลงทดสอบผลิตมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ของ สวทช. ในระบบเกษตรอินทรีย์
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (สท.) ดำเนินงานให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแบบครบวงจร ภายใต้การทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจชีวภาพ โดยนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และพันธมิตรสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรและชุมชนให้ก้าวทันเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและชุมชน ซึ่งการลงนามความร่วมมือในโครงการ “การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรและเกษตรอัจฉริยะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน” ระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ด้านเทคโนโลยีเกษตรเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ รวมถึงจะร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สาธิต และทดสอบเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบูรณาการองค์ความรู้จากทั้งสองหน่วยงานและเครือข่ายพันธมิตร ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรที่รองรับการเรียนรู้ในระดับภาคสนามและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. สู่ชุมชน
ผศ.พาวิน มะโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็นเลิศทางการเกษตรในระดับนานาชาติ ซึ่งเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยคือ การสร้างและพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเกษตรและวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม ฉะนั้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ สวทช. นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะบูรณาการร่วมกันดำเนินงานด้านวิชาการในรูปแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนการจัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการผลิตในภาคการเกษตรของประเทศ
ด้าน นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวนี้ สวทช. และม.แม่โจ้มีแผนที่จะทดสอบและขยายผลเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยแบ่งเป็น (1) ฟาร์มเปิด โดยจุดแรกคือ แปลงวิจัยลำไย มีเทคโนโลยีของ สวทช. คือ เทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบ IoT เพื่อการเกษตร โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน ซึ่งได้นำ Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการแปลงลำไยให้ได้คุณภาพ (2) การผลิตภายใต้สภาพโรงเรือน ซึ่งจะมีการทดสอบเทคโนโลยีโรงเรือนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ต้นทุนต่ำ ไปจนถึงโรงเรือนอัจฉริยะ ตลอดจนถึงระบบการผลิตในระบบอินทรีย์ ทั้งในส่วนของการผลิตเมล็ด การผลิตผักสดและผลิตสมุนไพร โดยใช้สถานที่ที่ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็อยู่ระหว่างทดสอบการผลิตมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ของ สวทช. ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยดร.อรวรรณ ชัชวาลการพาณิชย์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมกับบริษัทที เค อาร์ แอนด์ ดี จำกัด โดยพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศรับประทานสดผลเล็กพันธุ์ PC3 (A9) และ PC11 ที่ต้านทานโรคไวรัสใบหงิกเหลืองมะเขือเทศ (Tomato Yellow Leaf Curl Virus / TYLCV) ทดลองปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์และเก็บข้อมูลผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อินทรีย์คุณภาพดีรวมถึงให้ความรู้ในการผลิตให้แก่เกษตรกรที่สนใจต่อไป
ผศ.ดร.วินัย วิริยะอลงกรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ กล่าวถึงเทคโนโลยีของ สวทช. ที่เข้าไปติดตั้งว่า เทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบ Smart IoT เพื่อการเกษตร ติดตั้งระบบแม่ข่าย 1 จุด และลูกข่าย 10 จุด บนพื้นที่ 70 ไร่ ครอบคลุมแปลงลำไยและมะม่วง โดยแม่ข่าย ประกอบด้วย เซนเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง เซนเซอร์วัดความชื้นดิน อุปกรณ์วัดความเร็วลม อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน ขณะที่ลูกข่าย ประกอบด้วย เซนเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง และเซนเซอร์วัดความชื้นดิน ซึ่งข้อมูลจากระบบฯ ใช้ติดตามสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมเพื่อช่วยบริหารจัดการแปลงปลูกได้ ส่วนระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน ติดตั้งที่แปลงลำไย ใช้งานครอบคลุมพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งตนได้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องลำไยที่ศึกษามากว่า 15 ปี เป็นตัวกำหนดโปรแกรมการให้น้ำอัตโนมัติ ผลจากการทดลองใช้เทคโนโลยีในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า การติดดอก การเจริญเติบโต และผลผลิตของลำไยที่ได้สมบูรณ์กว่าแปลงที่ให้น้ำแบบทั่วไป (ให้น้ำเมื่อเห็นว่าดินแห้ง) ผลผลิตลำไยเฉลี่ย 63 กิโลกรัม/ต้น (ทรงพุ่ม 3 เมตร) ซึ่งข้อมูลจากการใช้งานเทคโนโลยีทั้งสองนำมาใช้ศึกษาเพื่อทำวิจัยและสอนนักศึกษา รวมถึงให้ความรู้กับเกษตรกรผ่านรายการวิทยุของมหาวิทยาลัยและการศึกษาดูงาน ทั้งนี้ได้วางแผนศึกษาวิจัยความเครียดของไม้ผลกับการให้น้ำ และการใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศร่วมกับการควบคุมการให้น้ำต่อไป
ด้านแปลงทดสอบสายพันธุ์มะเขือเทศ ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ กล่าวเสริมว่า ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นอีกหนึ่งแปลงทดสอบการปลูกมะเขือเทศต้านโรคไวรัสใบหงิกเหลืองพันธุ์ PC3 (A9) และ PC11 โดยทดสอบผลิตเมล็ดพันธุ์และผลสดในโรงเรือนด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหลังจากทำการทดลองปลูกไปจนถึงช่วงผลมะเขือเทศสุก (fruit ripening) ในระยะเวลา 120 วัน พบว่า ทั้ง 2 สายพันธุ์รสชาติดี เนื้อแน่น นับเป็นสายพันธุ์มะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ที่จะเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะทำการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการจัดหลักสูตรการผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์และผลสดเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและเกษตรกรที่จะใช้ประโยชน์เป็นอาชีพทางเลือกต่อไป
# # #