กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกความร่วมมือกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ภายใต้โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ ต่อยอดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง “อุบลโมเดล” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” ขยายพื้นที่ทำงานครอบคลุม 4 จังหวัดแหล่งผลิตมันสำปะหลังสำคัญของภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ยกระดับการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ต้นทางวัตถุดิบคุณภาพสู่การแปรรูป “ฟลาวมันสำปะหลัง” อาหารแห่งอนาคต ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า มันสำปะหลังเป็นพืชสำคัญที่นำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรมและเป็นพืชที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศหลายหมื่นล้านบาทต่อปี โดยประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งบทบาทของ สวทช. นอกจากวิจัยพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลัง ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การผลิตมันสำปะหลังให้ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตท่อนพันธุ์สะอาด การใช้สารชีวภัณฑ์ ชุดตรวจโรค การผลิตฟลาวมันสำปะหลัง เป็นต้น สวทช. ยังได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ อีกทั้งใช้กลไก “ตลาดนำการผลิต” เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและตลาดรับซื้อ ดังโครงการ “อุบลโมเดล” ที่ได้ร่วมกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ดำเนินงานกับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ต.กู่จ่าน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ปรับเปลี่ยนการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงตามที่บริษัทรับซื้อ ซึ่งในปี 2564 สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 1.3 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 ตัน/ไร่ จากเดิม 3.3 ตัน/ไร่ ซึ่งถึงแม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง บวกกับราคาขายที่สูงขึ้น ทำให้ได้กำไรมากยิ่งขึ้น
“การบูรณาการความร่วมมือจากภาคีพันธมิตรภาครัฐและเอกชนใน “อุบลโมเดล” ทำให้เกษตรกรเปิดรับและ ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตมันสำปะหลัง โดยได้รับทั้งความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลผลิตที่ได้มีตลาดรับซื้อและจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะที่บริษัทฯ ได้วัตถุดิบคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร จากการทำงานดังกล่าว สวทช. จึงได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทฯ ภายใต้ “โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอำนาจเจริญ” หรือ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และร่วมดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ชุมชนและพัฒนาเกษตรกรเพื่อยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนผลักดันการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่โดยชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์คุณภาพเพิ่มขึ้น เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ระบบเกษตรปลอดภัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก
ทั้งธุุรกิจเอทานอล ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังมีผลิตภัณฑ์ที่เด่นคือ แป้งมันสำปะหลังอินทรีย์และฟลาวมันสำปะหลัง โดยมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแสความต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย บริษัทฯ จึงมุ่งขยายกำลังการผลิตในธุรกิจด้านนี้ โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์และ
ฟลาวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็น “อาหารแห่งอนาคต” (food for the future) ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรท
“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำโครงการ “อุบลโมเดล” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างมีความรู้และได้คุณภาพตามมาตรฐานอินทรีย์ไทยและมาตรฐานอินทรีย์สากล ซึ่งเราไม่ได้เน้นเพียงแค่ให้เกษตรกรปลูกวัตถุดิบมาส่ง แต่เราพัฒนาให้เขามีผลผลิตสูงขึ้นและยึดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการกับ สวทช. ในครั้งนี้ จะหนุนเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพ ผลผลิตที่ได้คุณภาพจะเป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับธุรกิจแป้งมันสำปะหลังของเรา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลังซึ่งผลิตในระบบอินทรีย์ กลูเตนฟรี (Gluten Free) ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม (Non GMO) มีเส้นใยสูง (high fiber) และมีดัชนี้น้ำตาลปานกลาง-ต่ำ (Medium to Low Glycemic Index) นำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารได้หลากหลาย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอเมริกาและยุโรปอย่างมาก นอกจากนี้ภายใต้ความร่วมมือนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการของบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลังและเกษตรอินทรีย์ให้กับประเทศอีกด้วย” นางสาวสุรียส กล่าว
ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าว สวทช. ได้จัดแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ได้แก่ ชีวภัณฑ์ป้องกัน/กำจัดแมลงศัตรูพืช (บิวเวอเรีย-เมตาไรเซียม) ชุดตรวจ Strip Test สำหรับตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และชุดตรวจวิเคราะห์ดิน Smart NPK ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ โดย ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล นักวิจัย ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค/สวทช. ได้สาธิตการใช้ชุดตรวจ Strip Test ตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้ทันท่วงทีหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง