เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยนางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. พร้อมด้วย นางสาวรัตนา วรปัสสุ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย แผนงาน และงบประมาณ สวทช. นำคณะนักวิเคราะห์จากสำนักงบประมาณ นำโดย นางสาวเบญจมาศ มหาวงศ์ขจิต นางสาวกรกช ลีลาศิลป์ นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการพิเศษ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการยกระดับคุณภาพชีวิต พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2567 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการทำงานของ สวทช. ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิต พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยมีเป้าหมายยกระดับอาชีพและรายได้ เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เกิดการยกระดับตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ลดต้นทุน

พัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ปลูกผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า จากการประเมินพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ใน 5 จังหวัด พบว่า การผลิตพืชผักนั้นเป็นโจทย์หนึ่งที่เกษตรกรมีความต้องการองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ได้คุณภาพและสามารถผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี สวทช. จึงได้พัฒนาโครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพสการผลิตพืชผักที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ มีการบริหารจัดการแปลงที่ดี สินค้ามีความปลอดภัยได้มาตรฐานมากขึ้น และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

กลุ่มผู้ปลูกผักบ้านหนองหว้า หมู่ 9 ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีสมาชิกรวมกลุ่มปลูกผักจำนวน 20 คน ปลูกผักส่งให้กับพ่อค้าในตลาดผักราษีไศล และในชุมชน เช่น สะระแหน่ กระเพรา ต้นหอม ผักชี สลัด มะเขือเทศสีดา ผักชีฝรั่ง พริก มะเขือ ฯลฯ โดยปลูกแบบปลอดภัย ยังไม่สามารถปลูกผักได้ต่อเนื่อง ช่วงหน้าฝนไม่สามารถปลูกผักได้ ผักขาดตลาด ซึ่งเป็นช่วงที่ผักบางชนิดมีราคาสูง ยังขาดองค์ความรู้ด้านการผลิต และการจัดการพืชผักแต่ละชนิด โดยกลุ่มต้องการยกระดับการผลิตผักสด ด้วยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีโรงเรือนและการบริหารจัดการผลิตพืชผักที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด และมีความต่อเนื่องตลอดทั้งปี

จากการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องกลุ่มเกษตรกรผู้กลุ่มผู้ปลูกผักบ้านหนองหว้า หมู่ 9 ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สท. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกรโดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ และเกษตรอำเภอราษีไศล ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ โรงเรือนปลูกพืชและการบริหารจัดการ การจัดการดินและปุ๋ย โรค และแมลงศัตรูพืช และการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำกัดศัตรูพืช และ แพลตฟอร์ม DAPBOT การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการตลาด และกระบวนการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในการยกระดับเกษตรกรแกนนำด้วยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยี และการบริหารจัดการผลิตพืชผักที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด และมีความต่อเนื่อง โดยมีตัวอย่างเกษตรต้นแบบดังนี้

1. นางทองลักษณ์ คูคำ เกษตรกรต้นแบบ บ้านหนองหว้า หมู่ 9 ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักเป็นอาชีพ พืชผักที่ปลูกมีความหลากหลายตามฤดูกาล เช่น ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย สลัด กะเพรา โหระพา มะเขือเทศ จะพบปัญหาช่วงหน้าฝนจะมีผักน้อย เป็นช่วงที่ผักมีราคาสูง แต่ไม่สามารถปลูกได้ ขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการแปลงผัก โรคและแมลงศัตรูพืชผัก ทำให้ผักไม่ได้คุณภาพ และปริมาณที่ต้องการ เกษตรกรต้องการยกระดับการปลูกแบบอินทรีย์ เพื่อเข้าสู่ตลาดโรงพยาบาล หลังจากที่เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ ได้สร้างโรงเรือนปลูกผักต้นทุนต่ำจำนวน 1 หลัง สามารถวางแผนปลูกผักได้ต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการแปลงที่ดี เช่น เพาะกล้า มีความปราณีตในขั้นตอนการผลิตมากขึ้น ผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เองตามปัจจัยที่มีในพื้นที่เพื่อลดต้นทุน ใช้พื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพ เลิกการใช้สารเคมี มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชมากขึ้น ในฤดูฝนผลิตได้ ทำให้มีรายได้เพิ่ม 4,000 บาท จากการปลูกผักชี 1 รอบ สลัด 1 รอบ และสามารถขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนได้ (ตะไคร้ สะระแหน่ ต้นหอม ผักชีจีน มะนาว กล้วยหอมทอง)

2. นางจันทร์เพ็ญ คำแสน เกษตรกรต้นแบบ บ้านหนองหว้า หมู่ 9 ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักเป็นอาชีพ พืชผักที่ปลูกมีความหลากหลายตามฤดูกาล เช่น พริก ต้นหอม ผักชี มะเขือเปราะ มะเขือเทศ สลัด กะเพรา โหระพา จะพบปัญหาช่วงหน้าฝนจะมีผักน้อย เป็นช่วงที่ผักมีราคาสูง แต่ไม่สามารถปลูกได้ ขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการแปลงผัก โรคและแมลงศัตรูพืชผัก ทำให้ผักไม่ได้คุณภาพ และปริมาณที่ต้องการ เกษตรกรต้องการยกระดับการปลูกแบบอินทรีย์ เพื่อเข้าสู่ตลาดโรงพยาบาล หลังจากที่เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ ได้สร้างโรงเรือนปลูกผักต้นทุนต่ำจำนวน 1 หลัง สามารถวางแผนปลูกผักได้ต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการแปลงที่ดี เช่น เพาะกล้า มีความปราณีตมากขึ้น ผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เองตามปัจจัยที่มีในพื้นที่เพื่อลดต้นทุน ใช้พื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพ เลิกการใช้สารเคมีมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันและกำจัดโรคและแมลงมากขึ้นในฤดูฝนผลิตได้ ทำให้มีรายได้เพิ่ม 3,500 บาท จากการปลูกผักชี 2 รอบ และสามารถขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนได้ (ข่า ตะไคร้ ผักชีจีน พริก มะเขือเทศ ผักกาดหอม)

หนุนปลูกสมุนไพรคุณภาพดี ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต

นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการ สท. ยังนำคณะจากสำนักงบประมาณ ลงพื้นที่ติดตามโครงการ การยกระดับการผลิตสมุนไพรคุณภาพดีโดยใช้กลไกตลาดนำการผลิต โดยใช้องค์ความรู้ วทน. เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรคุณภาพดีให้ได้มาตรฐาน (GAP) ตรงตามความต้องการของตลาด และสร้างจุดเรียนรู้การผลิตสมุนไพร คุณภาพดี เชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่ เพิ่มศักยภาพการผลิตพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน มั่นคงแก่เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และพื้นที่ใกล้เคียง ยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้แปรรูปสมุนไพรขั้นต้น สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร การดำเนินงาน สวทช. ได้เชื่อมโยงการทำงานกับบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความต้องการวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ขิง ไพล ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายดำ กระชายขาว โกฐน้ำเต้า ลูกกระวาน ดอกมะลิ ชะเอมเทศ จันทร์เทศ ลูกผักชี กานพลู ใบเตยหอม และจันทร์แดง เป็นต้น โดยสมุนไพรที่มีศักยภาพและทางบริษัทฯ ต้องการเป็นจำนวนมาก คือ ขิง ในปี 2566 มีความต้องการขิงแห้ง 190 ตัน ปี 2567 มีความต้องการขิงแห้ง 210 ตัน นอกจากนี้ไพล และฟ้าทะลายโจร เป็นพืชสมุนไพรทางเลือกที่ตลาดมีความต้องการ เช่น โรงพยาบาลห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

ทั้งนี้ สวทช. มีผลงานวิจัยในเรื่องพันธุ์สมุนไพรหลายชนิดที่ให้สารสำคัญสูง เช่น ไพล ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิต จึงได้เลือก ขิง ไพล และฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่จะส่งเสริมปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ นำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม : ด้านพืช สมุนไพร เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการผลิต แปรรูป พัฒนาต่อยอดพืชสมุนไพร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยมีหน่วยงานความร่วมมือด้านการผลิตขยายพันธุ์ปลอดโรค ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม กรมส่งเสริมการเกษตร

ด้านองค์ความรู้ในการปลูกสมุนไพร ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ด้านตลาด ได้แก่ บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) บริษัท กุยลิ้มฮึ้ง จำกัด (Supplier ของบริษัทโอสถสภา) โรงพยาบาลห้วยทับทัน และโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ อีกทั้งหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม โดย สวทช. ได้นำผลงานวิจัยจากศูนย์วิจัยแห่งชาติต่าง ๆ ในสวทช. เข้าร่วมดำเนินงาน เช่น สายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ราชบุรี BT-1 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อผลิตขยายพันธุ์ปลอดโรคให้ได้จำนวนมาก การตรวจโรคเหี่ยวเขียวในขิง ชุดตรวจสารโลหะหนักและสารเคมีทางการเกษตรในดิน น้ำและผลผลิต การใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง

สำหรับ ผลการดำเนินงาน สวทช. ได้ดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบ 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ได้แก่ การผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรค/ทดสอบพันธุ์สมุนไพรให้สารสำคัญสูง ได้ดำเนินการคัดเลือกหัวพันธุ์ขิงคุณภาพดีจากแหล่งปลูกในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และตาก นำมาขยายพันธุ์เพื่อผลิตหัวพันธุ์ขิงปลอดโรคด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบไบโอรีแอคเตอร์ โดยมีเป้าหมายหลักคือการผลิตหัวพันธุ์ขิงปลอดโรคในระยะ G3 สู่เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และพื้นที่ใกล้เคียง ในปี 2570 จำนวน 60,000 หัว ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา สามารถผลิตต้นกล้าขิงปลอดโรคจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้จำนวน 65,355 ต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการอนุบาลในโรงเรือนของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษและศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม

การส่งเสริมปลูกขิงในปี 2566 ได้ทำการปลูกในพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ โดยใช้หัวพันธุ์ขิงจากแหล่งผลิตขิงในจังหวัดตาก เพชรบูรณ์ และ เลย ในปีฤดูกาล 2566/67 จำนวนผลผลิตขิงสดรวม 685 กิโลกรัม โดยสาเหตุที่ผลผลิตต่ำเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและฝนขาดช่วงในช่วงเวลาที่เริ่มเพาะปลูกจึงส่งผลให้ต้นอ่อนขาดน้ำและตาย สำหรับในปี 2567 มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรที่สนใจปลูกขิงเพิ่มขึ้น หัวพันธุ์ขิงที่ใช้เพาะปลูกทั้งหมดมาจากแหล่งผลิตขิงในจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มองค์ความรู้การจัดการแปลงรวมถึงการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคเน่าและแมลง ตามระยะเวลาที่เหมาะ ส่งผลให้ต้นขิงมีสภาพสมบูรณ์กว่าปี 2566 ที่ผ่านมา จึงคาดการณ์ผลผลิตขิงสดในปีฤดูกาล 2567/68 จำนวน 11,500 กิโลกรัม

นอกจากนี้ในแผนงานนี้ยังได้ส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรพันธุ์ราชบุรี BT-1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. โดยความโดดเด่นของสายพันธุ์นี้คือมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (API1) สูงถึง 30-44 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแห้ง 1 กรัม และผลผลิตสูง 2,700 – 3,800 กิโลกรัมต่อไร่ เริ่มปลูกพื้นที่ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี 2566 โดยมีเกษตรกรที่สนใจนำไปปลูก จำนวน 2 ราย พื้นที่ปลูกจำนวน 2 งาน ผลผลิตฟ้าทะลายโจรสดรวม ในปี 2566 จำนวน 417 กิโลกรัม ต่อมาในปี 2567 ได้ทำการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกฟ้าทะลายโจรคุณภาพดีให้แก่เกษตรกรในตำบลจิกสังข์ทอง อำเภอราษีไศล จึงมีเกษตกรผู้สนใจปลูกฟ้าทะลายโจรเพิ่มขึ้นจำนวน 5 ราย พื้นที่ปลูกรวม 2 งาน ผลผลิตฟ้าทะลายโจรสดในปี 2567 รวมทั้งสองพื้นที่ จำนวน 625 กิโลกรัม โดยผลผลิตฟ้าทะลายโจรสดของเกษตรกรนั้น โรงพยาบาลห้วยทับทัน เป็นผู้รับซื้อเพื่อนำไปผลิตฟ้าทะลายโจรแคปซูลสำหรับใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายขิงและฟ้าทะลายโจรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากอาชีพหลักและยังถือเป็นพืชใหม่ที่ยังไม่เคยปลูกในพื้นที่มาก่อน

ทั้งนี้การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรคุณภาพดี สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการปลูกขิงและฟ้าทะลายโจรคุณภาพดี ในรูปแบบของการอบรมโดยมีทั้งการบรรยายเนื้อหาสำคัญ รวมถึงการลงมือปฏิบัติ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 539 คน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น ทาง สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดศรีสะเกษสำนักงานเกษตรอำเภอราษีไศล สำนักงานเกษตรอำเภอห้วยทับทัน ร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดขยายผลปลูกสมุนไพรคุณภาพดีสู่กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านเชือกกลาง กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านเชือกกลาง จัดตั้งเมื่อปี 2561 มีนายอุดร เยี่ยมไธสงค์ เป็นประธาน สมาชิกจำนวน 30 ราย ตั้งอยู่ที่บ้านเชือกกลาง หมู่ที่ 7 ตำบลจิกสังข์ทอง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก มีพื้นที่นาข้าว 300 ไร่ หลังฤดูกาลปลูกข้าวสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกพืชหลังนาเป็นรายได้เสริม ได้แก่ การปลูกพืชตระกูลถั่ว พืชผักต่าง ๆ และเลี้ยงโค ทางกลุ่มมีความต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ผลิตข้าวอินทรีย์ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจึงส่งผลให้ได้กำไรน้อย ไม่คุ้มทุนเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทางกลุ่มจึงได้หารือกันถึงการหาพืชทางเลือกมาเพาะปลูกในพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้ระหว่างฤดูกาลทำนาหรือปลูกเป็นพืชหลังนา

เมื่อทางกลุ่มรับทราบโครงการของ สวทช. จึงได้สนใจเข้าร่วมรับการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตขิงคุณภาพดี ในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกแกนนำ จำนวน 6 ราย ได้นำหัวพันธุ์ขิงมาปลูก ในพื้นที่ 1 ไร่ แต่ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ผลผลิตขิงสดจำนวน 59 กิโลกรัม เนื่องจากในช่วงที่เพาะปลูกอากาศร้อนจัด ฝนขาดช่วง ส่งผลให้ต้นอ่อนขิงที่กำลังงอกขาดน้ำและตาย ส่วนต้นที่เหลือรอด ในช่วงฤดูฝนเนื่องจากดินในพื้นที่เป็นดินทรายเมื่อฝนตกหนักจะชะล้างหน้าดินได้ง่ายกว่าดินเหนียวส่งผลให้แปลงขิงที่ยกร่องทลายลงมา หัวขิงที่ถูกกลบโผล่ขึ้นเหนือดิน น้ำท่วมขังแปลงเกิดโรคเน่า รวมถึงแมลงมากัดกินใบขิง

ต่อมาในปี 2567 ทางกลุ่มยังคงมีความสนใจปลูกขิงเช่นเดิม โดยมีสมาชิกจำนวน 4 ราย ปลูกขิงในปีนี้ พื้นที่รวม 1 ไร่ ซึ่งในปีนี้ ทาง สวทช. ได้เพิ่มองค์ความรู้การปลูกขิงให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเริ่มจากการเตรียมดิน การไถยกร่อง การเพิ่มปุ๋ยคอกอย่างเหมาะสม การประเมินช่วงเวลาปลูก การใช้สแลนพรางแสงเพื่อช่วยบรรเทาความร้อนจากสภาพอากาศ การใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคเน่าและแมลงอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้ต้นขิงสมบูรณ์ จึงคาดการณ์ผลผลิตขิงสดประมาณ 1,000 – 1,200 กิโลกรัม และในปี 2567 ยังได้เพิ่มการปลูกฟ้าทะลายโจรเป็นทางเลือก โดยสมาชิกจำนวน 7 ราย พื้นที่รวม 2 งาน ได้เริ่มปลูกเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และสามารถตัดฟ้าทะลายโจรเพื่อจำหน่ายได้ประมาณ 20 กิโลกรัม ก่อเกิดรายได้จากพืชใหม่ได้อีกทางหนึ่ง

# # # 

ที่มา www.nstda.or.th

สวทช.-สำนักงบประมาณติดตามโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตทุ่งกุลาร้องไห้: จ.ศรีสะเกษ กลุ่มผู้ปลูกผักเกษตรอินทรีย์–ปลูกขิงมาตรฐาน GAP