เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นำคณะนักวิเคราะห์จากสำนักงบประมาณ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการยกระดับคุณภาพชีวิต พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในโครงการการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตข้าวและสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้: วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีบ้านโนนทองหลาง จ.สุรินทร์

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยียกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อให้เกษตรกรในเขตพื้นที่มีความมั่นคงด้านอาหาร เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ต่อมาในปี 2567 สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยเทคโนโลยีข้าวสายพันธุ์ใหม่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ GAP Seed และทำให้ชุมชนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพไว้ใช้เองในชุมชน ตลอดจนยกระดับรายได้เสริมให้กับเกษตรกรหลังฤดูการทำนา กลุ่มเป้าหมายจำนวน 11 กลุ่ม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีบ้านโนนทองหลาง

วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีบ้านโนนทองหลาง ตั้งอยู่ที่ 32 หมู่ 12 ตำบลชุมพลบุรี อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ จัดตั้งกลุ่มเมื่อปี 2560 โดยมีนายวสุรัตน์ สร้อยจิต เป็นประธานกลุ่มวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่ม เพื่อจำหน่ายข้าวสารในนามกลุ่มมีอำนาจในการต่อรองซื้อขายสินค้า เพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ และเพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิกจำนวน 66 คน สมาชิกส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริมพื้นที่ทำนา 1,472 ไร่ พันธุ์ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์ กข15 ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อไร่ และปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 20 ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,100 บาทต่อไร่ เดิมกลุ่มได้รับมาตรฐานการผลิตข้าวในระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) และระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ปัจจุบันกลุ่มฯ ผลิตข้าวแบบเกษตรปลอดภัยและไม่ได้ขอรับรองมาตรฐานใด ๆ เนื่องจากตลาดในการจำหน่ายข้าวสารไม่ได้กำหนดความต้องการเรื่องมาตรฐาน ที่ผ่านมาปัญหาของกลุ่มคือ ขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้เอง ต้นทุนการผลิตสูง กลุ่มมีความต้องการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ และต้องการมีรายได้เสริมหลังฤดูการทำนา สวทช. ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการ การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิ 105 ของเกษตรกรให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ดังนี้

  1. การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ผลักดันในเกิดแปลงเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 3 แปลง เพื่อเป็นแปลงต้นแบบให้สมาชิกกลุ่มได้เรียนรู้ ตามกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยการปักดำกล้าต้นเดียว การตัดพันธุ์ปน จำนวน 5 ระยะ (ระยะกล้า ระยะแตกกอ ระยะออกดอก ระยะโน้มรวง และระยะสุกแก่) รวมทั้งการบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าว
  2. ทดสอบปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดย สวทช. จำนวน 6 สายพันธุ์ ดังนี้ กลุ่มพันธุ์ข้าวหอมนุ่มพรีเมี่ยม ได้แก่ สายพันธุ์หอมสยาม 2 ปรับปรุงฐานพันธุกรรมขาวดอกมะลิ 105 (ผลผลิตสูง) กลุ่มพันธุ์ข้าวสีโภชนาการสูง ได้แก่ สายพันธุ์แดงจรูญ นิลละมุน ไรซ์เบอร์รี่ 2 และกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่ออุตสาหกรรมข้าวเม่า ได้แก่ สายพันธุ์ธัญสิรินต้นเตี้ย ข้าวเหนียวดำ เพื่อนำไปทดสอบศักยภาพและเสถียรภาพในการให้ผลผลิตของข้าวสายพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ผลจากแปลงเรียนรู้การทดสอบพันธุ์ข้าว พบว่าข้าวทั้ง 6 สายพันธุ์ใหม่ สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งจังหวัดสุรินทร์และมหาสารคาม พันธุ์ข้าวที่นำไปทดลองปลูกเป็นที่พอใจของเกษตรกรโดยเฉพาะพันธุ์หอมสยาม 2 เนื่องด้วยข้าวแตกกอดี รวงใหญ่และยาว ให้ผลผลิตสูง คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตสูงในฤดูกาลทำนาปี 2567 และเกษตรกรมีแผนจะขยายผลในการเพิ่มปริมาณการปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ในฤดูกาลหน้า
  3. ไลน์บอทวินิจฉัยโรคข้าว ช่วยให้เกษตรกรสามารถจัดการโรคข้าวที่พบได้ทันท่วงที ด้วยการทำงานของระบบที่ใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใช้ระยะเวลาในการวินิจฉัยประมาณ 5-7 วินาที ทำงานผ่านไลน์บอท (LINE Bot) พร้อมให้คำแนะนำการจัดการ เพื่อลดความเสียหายจากการทำลายของโรคข้าว สามารถวินิจฉัยโรคข้าวได้ 10 โรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทยผ่านภาพถ่าย ได้แก่ 1) โรคใบขีดสีน้ำตาล 2) โรคขอบใบแห้ง 3) โรคไหม้ 4) โรคใบขีดโปร่งแสง 5) โรคใบจุดสีน้ำตาล 6) โรคดอกกระถิน 7) โรคไหม้คอรวง 8) โรคเมล็ดด่าง 9) โรคใบวงสีน้ำตาล 10) โรคใบหงิก สวทช. ได้จัดตั้งกลุ่มไลน์บอทวินิจฉัยโรคข้าวของอำเภอชุมพลบุรี เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เทคโนโลยีฯ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรวินิฉัยโรคข้าวได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น สามารถป้องกันโรคได้ทันท่วงที อีกทั้งในไลน์กลุ่มได้เชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านโรคแมลงคอยให้คำแนะนำ
  4. พัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบแปลงนา ผลักดันให้เกิดเกษตรกรผู้ตรวจสอบแปลงนา 3 รายต่อกลุ่ม ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นผู้ตรวจสอบแปลงนาให้สอดคล้องกับการตรวจประเมินระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว GAP Seed โดยมีศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ
  5. จุลินทรีย์เพื่อยับยั้งโรคพืชและการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร หัวเชื้อจุลินทร์ ประกอบด้วย เชื้อราไตรโคเดอมาร์ (Trichoderma sp.) ร่วมกับ กลุ่มแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus sp.) ที่มีอัตราความเข้มข้นจุลินทรีย์ไม่น้อยกว่า 109 CFU/mL ของจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความสามารถในการจัดการโรคจากเชื้อราและแบคทีเรียได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาในการย่อยสลายเศษวัสดุอินทรีย์ได้เร็วขึ้น 40 % และจะได้ธาตุอาหารพืช อีกทั้งสามารถช่วยป้องกันโรคพืชได้ สวทช. สนับสนุน หัวเชื้อจำนวน 5 แกลลอน ๆ ละ 5 ลิตรต่อแปลงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
  6. แอปพลิเคชัน C-Stock และชุดวิเคราะห์ดินแบบพกพาสำหรับการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อการปลูกพืช เป็นเครื่องมือสำหรับแนะนำการใส่ปุ๋ยให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ พืชสวน และไม้ผล สามารถระบุค่าวัดผลของดินเพื่อคำนวนปุ๋ยที่เหมาะสมด้วยตนเอง ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสามารถลดปริมาณการใส่ปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น ร่วมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตปุ๋ย สวทช. ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินให้กับสมาชิกกลุ่มฯ โดยการนำผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน มาคำนวนผ่านแอปพลิเคชัน CStock ได้ผลแนะนำการใส่ปุ๋ยแบบอินทรีย์ และเคมี
ยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้เสริมในการผลิตพืชหลังนา

สวทช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในเรื่องการส่งเสริมการปลูกถั่วเขียว สายพันธุ์ KUML เบอร์ 4 จุดเด่นของสายพันธุ์ เมล็ดใหญ่ สุกแก่พร้อมกัน อายุเก็บเกี่ยว 65-70 วัน ต้านทานโรคใบจุด และโรคราแป้ง ปรับปรุงและพัฒนาโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับทุนวิจัยจาก สวทช. เพื่อขยายผลสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML เบอร์ 4 จำนวน 65 กิโลกรัม และปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมสำหรับถั่วเขียว จำนวน 13 ถุง 

จากการทดลองปลูกของเกษตรกร จำนวน 10 ราย พื้นที่ปลูก 11 ไร่ ได้ผลผลิตรวมทั้งหมด จำนวน 161 กิโลกรัม นำมาบริหารจัดการ ดังนี้ 1) คืนเมล็ดพันธุ์ให้กลุ่มฯ จำนวน 46 กิโลกรัม 2) เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง จำนวน 75 กิโลกรัม รวมเมล็ดที่เก็บไว้ใช้เองทั้งหมด จำนวน 121 กิโลกรัม จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ สำหรับปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ 7,260 บาท 3) จำหน่ายผลผลิต จำนวน 40 กิโลกรัมๆละ 40 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิต 1,600 บาท มีต้นทุนการผลิตต่อไร่เฉลี่ย 400 บาท (ต้นทุนการผลิต 11 ไร่ 4,400 บาท)

ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ยังได้ทำโครงการยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยร่วมมือกับสำนักงานปศุสัตว์ทั้ง 5 จังหวัดทุ่งกุลาร้องไห้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มุ่งเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมโคเนื้อให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด การพัฒนาด้านอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร การพัฒนามาตรฐานฟาร์ม และเพิ่มมูลค่าโคเนื้อ โดยมีผลการดำเนินงานภาพรวม 4 ด้าน ได้แก่

การพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อและการดูแลโคเนื้อ สวทช. ร่วมกับ ปศุสัตว์จังหวัดทั้ง 5 จังหวัด และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพอุบลราชธานี ได้พัฒนานักผสมเทียมชุมชุน 24 คน เพื่อเป็นนวัตกรให้รู้ด้านผสมเทียมและพัฒนาสายพันธุ์โคแก่เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ และได้ดำเนินการสำรวจและคัดเลือกแม่พันธุ์โคเนื้อเพื่อทำการเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียม การพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อเน้นสายพันธุ์ตามแผนงานและยุทธศาสตร์จังหวัดเป็นหลัก โคเนื้อแม่พันธุ์ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อโดยการผสมเทียมและผสมพันธุ์จากพ่อพันธ์คุณภาพตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์และเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและตลาด 616 ตัว ผสมติดผลิตลูกโคเนื้อ 391 ตัว ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์บราห์มัน บีฟมาสเตอร์ ชาร์โรเล่ส์ แองกัส และวากิว ตามลำดับ

อาหารโค ได้พัฒนาต้นแบบแปลงพืชอาหารสัตว์รวมจำนวน 20 ไร่ พื้นที่แปลงสาธิตฯ 5 แห่งใน 5 จังหวัด พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่ปลูก ได้แก่ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 หญ้าเนเปียร์จิ้นเฉ่า หญ้าหวานอิสราเอล หญ้าแพงโกลา และหญ้าไนล์ ต้นแบบแปลงหญ้าอาหารสัตว์ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ 3 ไร่จังหวัดสุรินทร์ 6 ไร่ จ.ยโสธร 2 ไร่ จ.มหาสารคาม 6 ไร่ และ จ.ร้อยเอ็ด 3 ไร่ ทั้งนี้จากผลการจัดทำต้นแบบแปลงพืชอาหารสัตว์ เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรเลือกชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเองประมาณ 420 ไร่ ใช้เป็นแหล่งอาหารใช้เลี้ยงโคเนื้อในฟาร์มของตนเอง

การพัฒนาทักษะเกษตรกร เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3 กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหลักสูตรการอบรม ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อพันธุ์ดี พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ (ผสมเทียม) 2) การปลูกพืชอาหารสัตว์และการเลือกใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงโคเนื้อ การจัดทำแปลงสาธิตปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่เป้าหมาย และ 3) การพัฒนามาตรฐานฟาร์ม GFM และการใช้หัวชื้อจุลินทรีย์ดับกลิ่นในฟาร์มโคเนื้อพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ รวมจำนวนเกษตรที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 1,987 คน นักผสมเทียมชุมชน จำนวน 24 คน ที่สามารถให้บริการผสมเทียมและดูแลสุขภาพสัตว์เบื้องต้นในพื้นที่ต้นแบบฟาร์มโคเนื้อที่ได้มาตรฐาน Good Farming Management (GFM) ดำเนินการพัฒนายกระดับมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม GFM โดยปศุสัตว์จังหวัดได้ให้การรับรองมาตรฐานฟาร์ม GFM แล้ว 5 ฟาร์ม ได้แก่ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และมหาสารคาม โดยฟาร์มต้นแบบจะเป็นแหล่งเรียนรู้ ขยายผลตามยุทธศาสตร์ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาไปสู่มาตรฐานฟาร์มที่สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับในการซื้อขายโคที่จะได้ราคาสูงกว่าการเลี้ยงในฟาร์มทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการช่วยควบคุมและป้องกันโรคระบาด

เยี่ยมชมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ อำเภอชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ นำร่องกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ อำเภอชุมพลบุรี คลอบคลุม ตำบลชุมพลบุรี ตำบลเมืองบัว และ ตำบลหนองเรือ สท. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกษตรกร โดยมีปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  1. การพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อและการดูแลโคเนื้อ มีโคเนื้อแม่พันธุ์ได้รับการผสมเทียมและผสมพันธุ์จากพ่อพันธุ์ที่โตไว ตรงตามความต้องการของตลาด 185 ตัว ผสมติดผลิตลูกโคเนื้อ 131 ตัว ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์บราห์มัน และ บีฟมาสเตอร์ คิดเป็นผลสำเร็จ 70% โดยตลาดโคเนื้อในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคขุนคุณภาพสุรินทร์วากิว (สลักได) ผลิตโคขุนคุณภาพ มีความต้องการ 600 ตัวต่อปี แต่ผลิตได้ 288 ตัวต่อปี (ขาดอีก 312 ตัวต่อปี)
  2. การผลิตอาหารโค สท. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชอาหารสัตว์และการเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การจัดทำแปลงสาธิตปลูกพืชอาหารสัตว์ และระบบบริหารจัดการน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) โดยร่วมกับเทศบาลตำบลนาหนองไผ่ จัดทำแปลงสาธิตปลูกพืชอาหารสัตว์ ในพื้นที่ ทุ่งดอกรัก ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จำนวน 6 ไร่ และแปลงของเกษตรกรประมาณ 17 ไร่ รวมพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ทั้งหมด 23 ไร่ พืชอาหารสัตว์ที่ปลูกได้แก่ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 หญ้าเนเปียร์จิ้นเฉ่า หญ้าหวานอิสราเอล หญ้าแพงโกลา และหญ้าไนล์ มีการดำเนินการระบบบริหารจัดการน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) ในพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์
  3. การพัฒนาทักษะเกษตรกร เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3 กลุ่มเทคโนโลยี เกษตรได้รับความรู้ 355 คน เป็นนักผสมเทียมชุมชน จำนวน 4 คน สามารถให้บริการผสมเทียมและดูแลสุขภาพสัตว์เบื้องต้นในพื้นที่
  4. ต้นแบบฟาร์มโคเนื้อที่ได้มาตรฐาน Good Farming Management (GFM) ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการยกระดับมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อและการพัฒนามาตรฐานฟาร์ม GFM โคเนื้อให้เกษตรกร มีการสำรวจความพร้อมและศักยภาพของฟาร์ม โดยคัดเลือก นครฟาร์ม เป็นฟาร์มโคเนื้อของ นายนคร ชารีพร บ้านเลขที่ 86 หมู่ 13 ตำบลเมืองบัว อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นฟาร์มต้นแบบ มีการนำเทคโนโลยีเชื้อจุลินทรีย์ช่วยลดกลิ่นไปใช้ในฟาร์มและการจัดการฟาร์มตามข้อกำหนดมาตรฐานฟาร์มของปศุสัตว์จังหวัด และได้รับรองมาตรฐานฟาร์มเรียบร้อยแล้ว
สวทช. นำสำนักงบประมาณติดตามโครงการยกระดับคุณภาพผลิตข้าว-พืชหลังนา-เลี้ยงโคเนื้อทุ่งกุลาร้องไห้ จ.สุรินทร์