‘เซ่ง ผลจันทร์’ ‘ขวัญเรือน นามวงศ์’ และ ‘ธนากร ทองศักดิ์’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์และการผลิตพืชผักจากโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่มุ่งให้เกษตรกรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาปรับประยุกต์การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยที่ได้มาตรฐานและคุณภาพ เกิดการพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แม้ล่วงสู่วัย 62 ปี เซ่ง ผลจันทร์ หรือลุงเซ่ง สมาชิกสหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้ จำกัด อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดูแลจัดการแปลงผักขนาดพื้นที่ 200 ตารางวา ตัดผักส่งสหกรณ์ฯ สัปดาห์ละ 3 วัน และผลิตผักส่งตามออเดอร์จากท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้ไม่ขาด มีรายได้หลักหมื่นต่อเดือน ทั้งที่เขาเพิ่งก้าวสู่อาชีพเกษตรกรปลูกผักปลอดภัยได้ไม่ถึง 5 ปี
ลุงเซ่ง เริ่มต้นอาชีพเกษตรกรพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ “สหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้ จำกัด” เมื่อปี 2560 แหล่งรับและส่งผลผลิตทางเกษตรปลอดสารพิษให้ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เขาให้เหตุผลที่เปลี่ยนอาชีพจากรับจ้างทั่วไปมาทำเกษตรว่า สหกรณ์น่าจะมั่นคง ห้างให้ราคาสูง จูงใจให้ปลูก โดยเขาปรับพื้นที่ 200 ตารางวา หน้าบ้านตัวเองให้เหมาะกับทำเกษตร พร้อมกับหาความรู้การผลิตผักปลอดสารพิษจากหน่วยงานต่างๆ กลับมาลองผิดลองถูก และบอกกับตัวเองเสมอว่า เขาทำได้ เราก็ต้องทำได้
ปวยเล้ง ตั้งโอ๋ บ๊อกฉ่อย หรือเบบี้กวางตุ้งขาว เป็นผักสามชนิดแรกที่ ลุงเซ่ง ลงมือปลูกเพื่อส่งสหกรณ์ฯ เขาเล่าว่า ผลผลิตที่ได้ในช่วงแรกปลูกแล้วทิ้งมากกว่า ขนาดผักยังไม่ได้มาตรฐาน ต้นสั้นยาว เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน อาศัยไปดูงาน ไปเรียนรู้เพิ่มว่าต้องปลูกแบบไหน แล้วกลับมาทำใหม่ จนได้ผลผลิตอย่างที่ห้างต้องการ “ต้องทำให้ได้ตามคุณภาพที่กำหนด แรกๆ ก็ยาก พอเริ่มอยู่ตัว ก็ง่าย”
“การผลิตผักสดและผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เอง” เป็นอีกห้องเรียนหนึ่งที่ ลุงเซ่ง ได้เข้าเรียนรู้ ซึ่ง สท. ได้สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรให้เกษตรกรในเครือข่าย โดยมี ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ สาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นวิทยากรหลัก การอบรมในครั้งนั้นเขาได้รับเมล็ดพันธุ์ผักกลับมา 2-3 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ “มะเขือเทศอีเป๋อ”
“ผมได้มา 6 เมล็ด อาจารย์บอกว่า ปลูกแล้วไม่ให้กิน ให้ปลูกทำพันธุ์ ตอนแรกก็ไม่เชื่อ ปลูกแล้วไม่ให้กิน จะปลูกทำไม แต่ฟังอาจารย์อธิบายแล้วคิดตาม ถึงเข้าใจ มะเขือเทศ 1 ลูก มี 250 เมล็ด ถ้าเราเก็บทำพันธุ์ต่อ เราจะได้ตั้งกี่ต้น อย่างอีเป๋อ ผมไม่ได้นับเมล็ดต่อลูก แต่เอามา 10 ลูก ผมเพาะได้ 1,000 กว่าต้น”
หลังจากลงมือปลูกมะเขือเทศพันธุ์อีเป๋อได้ 6 ต้น ลุงเซ่ง พบว่า ลักษณะเหมือนพันธุ์พื้นเมืองที่ใส่ในส้มตำ แต่รสชาติต่างกัน ไม่มีกลิ่นคาว เมื่อสุกอยู่ได้นาน ไม่ร่วงจากต้น เขาจึงมองเห็นโอกาสการตลาด
ลุงเซ่ง วางแผนปลูกมะเขือเทศอีเป๋อส่งแม่ค้าที่ตลาดในเมือง เขาคาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม/วัน ขายส่งให้แม่ค้ากิโลกรัมละ 12 บาท หากความต้องการตลาดเพิ่มมากขึ้น เขาจะขยายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรที่สนใจ ซึ่ง ลุงเซ่ง ยังมองไปถึงการส่งเข้าห้างด้วย “ถ้าผลผลิตมีมาก ก็คิดว่าจะเสนอมะเขือเทศตัวนี้ผ่านสหกรณ์ฯ แต่ตอนนี้ต้องปลูกให้ดีก่อน”
ด้วยพื้นที่ทำเกษตรของ ลุงเซ่ง มีเพียง 200 ตารางวา เขาจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่ที่อาจารย์ฉันทนา ได้ให้ไว้
“ที่เรามีแค่นี้ล่ะ แต่ทำอย่างไรให้ปลูกได้ทุกอย่าง ก็ทำอย่างละน้อย ผักเราต้องมีหลากหลายชนิด ฟังอาจารย์พูดก็กระตุ้นความคิดเรา ถ้าทำอย่างเดียว ขายกิโลกรัมละ 40 บาท เราก็ได้แค่ 40 บาท แต่ถ้าเราทำหลายๆ อย่าง อันนี้ 40 อันนั้น 50 บวกลบคูณหาร ก็ได้เยอะ แล้วการทำน้อย ยังดูแลได้ง่าย”
นอกจากการปลูกพืชหลากชนิดเพื่อประกันความเสี่ยงเรื่องราคาและปริมาณผลผลิตแล้ว ความรู้ที่ได้จากห้องเรียนดังกล่าว ทั้งการลดต้นทุนจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก หรือแม้แต่การเพาะกล้ายังช่วยลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ด้วย
“แต่ก่อนต้นทุนการปลูกผักประมาณ 10,000 กว่าบาท/รอบ แต่ตอนนี้เหลือครึ่งต่อครึ่ง อย่างผักตั้งโอ๋จากที่เคยหว่านใช้เมล็ด 6 กระป๋อง กระป๋องละ 55 บาท แต่พอลองเพาะลงถาดก่อนเหมือนที่อาจารย์สอน แล้วค่อยย้ายกล้าปลูก ใช้เมล็ดแค่ครึ่งกระป๋อง”
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั้งวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์มะเชือเทศอย่างถูกต้อง เทคนิคการตัดผักตั้งโอ๋เพื่อให้เก็บผลผลิตได้หลายรอบ หรือการทดลองปลูกพืชอื่นเพิ่มเติม แม้ดูเป็นเรื่องวิชาการ แต่สำหรับ ลุงเซ่ง เขาพร้อมเรียนรู้และลงมือทำบนพื้นที่เล็กๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ความรู้และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดี ต้องเอามาพัฒนาตัวเอง เอาความรู้มาปรับใช้และพึ่งตัวเองเป็นหลัก ไม่พึ่งเทคโนโลยีอย่างเดียว ลงทุนเรื่องที่ต้องลงทุนและเหมาะกับพื้นที่เรา”
ทุกวันนี้ ลุงเซ่ง ใช้พื้นที่ 200 ตารางวา ปลูกผักเป็นหลัก เสริมด้วยไผ่และมะพร้าว ใช้ชีวิตในแปลงเล็กๆ ได้ทุกวันอย่างมีความสุข จากอาชีพรับจ้างที่มีรายได้วันต่อวัน แต่อาชีพเกษตรกรทำให้เขารู้สึกว่า “มีตังค์”
“ปลายปีที่แล้วปลูกตั้งโอ๋และปวยเล้งพื้นที่ 1 งาน เก็บขายได้ 7 หมื่นกว่าบาท ปลูกไผ่ 3 เดือน เก็บหน่อขายได้ ผมภูมิใจที่ทำผักปลอดภัยได้ ถ้าเทียบกับคนทำเคมี เขาต้องลงทุนหลักหมื่น แต่ผมลงทุนเงินพัน ได้เงินหมื่นกว่าบาทต่อเดือน แล้วได้ผักปลอดภัยขาย เก็บกินเองก็สบายใจ”
ขณะที่ลุงเซ่งเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่สำหรับ ขวัญเรือน นามวงศ์ สมาชิกสหกรณ์รักษ์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เธอเติบโตมากับครอบครัวเกษตรกร คลุกคลีกับการทำไร่อ้อยและนาข้าวในระบบการผลิตที่ใช้สารเคมีมาตลอด แม้เมื่อแต่งงานมีครอบครัว เธอยังวนเวียนในระบบเกษตรแบบเคมี จวบจนเมื่อสามีเริ่มเจ็บป่วย
“เราคิดว่าทำเคมีไปไม่รอดล่ะ ตัดสินใจหยุดทำอ้อย ไปเช่าพื้นที่ปลูกแคนตาลูป ซึ่งก็ใช้เคมีแต่ไม่มากเท่าอ้อย แล้วเริ่มศึกษาเรื่องปลูกผักอินทรีย์ อยากรู้ว่ามันทำได้จริงมั้ย อย่างน้อยถ้าเราทำได้ เราก็ได้กินของที่ไม่ใส่สารเคมี”
พื้นที่ 10 ไร่จากที่เคยเป็นป่าอ้อย ขวัญเรือน ปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นระบบอินทรีย์ ไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า ไม่ใช้สารเคมี และในปี 2561 เธอได้กันพื้นที่ขนาด 1 ไร่ 1 งาน สำหรับปลูกพืชผักในระบบอินทรีย์ โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการอบรมกับหน่วยงานรัฐและคำแนะนำจากสมาชิกสหกรณ์รักษ์ศรีเทพ ซึ่งผลิตผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP และบางคนกำลังปรับสู่มาตรฐาน Organic Thailand ภายใต้กลุ่ม “ศรีเทพออร์แกนิก”
“ใจเรานี่ล่ะคือหัวใจสำคัญของการทำผัก เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ ทำผักต้องดูแลมาก โดยเฉพาะอินทรีย์ รายละเอียดเยอะ สิ่งสำคัญคือเตรียมแปลง งานปลูกผักเยอะกว่างานไร่ ลงทุกวัน บางครั้งก็เหนื่อยแต่มีความสุข ได้เห็นผักอินทรีย์ค่อยๆ โต ลุ้นไปด้วย อย่างถั่วฝักยาวคนมักจะคิดว่าถ้าไม่ใส่ยา ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ได้กินหรอก แต่นี่เราปรุงดินก่อน หยอดเมล็ด คอยดูแล ได้ฝักดกๆ เห็นแล้วมีความสุข”
ในช่วงแรก ขวัญเรือน ปลูกผักผสมผสานทั้งมะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริก ถั่วฝักยาว บวบงู ชะอม กะเพรา แมงลัก ผักโขม กระเจี๊ยบ โดยเลือกจากความชอบส่วนตัวและความต้องการของตลาดชุมชน แต่หลังจากได้คำแนะนำจากเพื่อนสมาชิกให้เน้นผลิตเพื่อส่งขายตลาดออร์แกนิก ซึ่งคนในพื้นที่ยังทำน้อยราย ขวัญเรือน จึงมุ่งเป้าผลิตพืชผัก 5 ชนิดเพื่อขอรับรองมาตรฐาน Organic Thailand ได้แก่ พริก มะเขือเทศ มะเขือเปราะ กระเจี๊ยบ ผักโขม และผลิตจำหน่ายขึ้นห้าง
แม้ผลผลิตจะผลิบานให้พอชื่นใจ มีให้เก็บกินและเก็บขาย แต่มือใหม่ปลูกผักอินทรีย์อย่าง ขวัญเรือน ยังขวนขวายหาความรู้มาพัฒนาแปลงปลูกของตัวเอง เธอได้เรียนรู้จากห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เช่นกัน ซึ่ง “การสำรวจแปลงและวางแผน” ที่ผศ.ฉันทนาชวนให้คิด เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งให้พื้นที่ปลูกของเธอ
“กลับมาจากอบรม มายืนดูแปลงตัวเอง เราไม่เคยสำรวจแปลงเราจริงๆ เลย ขนาดพื้นที่เราคิดเองว่ามีพื้นที่ 3 งาน แต่พอวัดจริง มีขนาด 1 ไร่ 1 งาน และไม่เคยวางผังการปลูก จะปลูกตรงไหนปลูกอะไร”
ขวัญเรือน วางผังแปลงปลูกที่เป็นสัดส่วนมากขึ้น วางแปลงปลูกส่วนหนึ่งปลูกผักผสมผสานและล่อแมลงทั้งผักกวางตุ้ง ชะอม หอม ผักกาดขาว แมงลัก มีต้นกล้วยเป็นแนวกันชนโดยรอบ แปลงใกล้กันปลูกพริกหวาน กะเพรา ถั่วพลู ถัดไปลงมะเขือเทศพันธุ์ชายนี่ควีน พันธุ์นิลมณี ใกล้ๆ กันเป็นถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธุ์
“ถ้าเราทำอะไรโดยไม่มีแผน วางไปมั่วๆ ก็จะเปล่าประโยชน์ ไม่เห็นผล จะปลูกอะไรก็วางแผนมากขึ้น ผักชนิดนี้เหมาะกับอากาศบ้านเรามั้ย ตลาดต้องการมั้ย เราไม่ต้องทำเยอะ แต่ทำหลากหลาย มีของขายทุกวัน แล้วเราก็ได้กิน สิ่งที่อาจารย์แนะนำเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องคิด เกษตรกรต้องมีเป้าหมาย มุ่งมั่นและตั้งใจทำจริงๆ”
ความรู้จากการไปมหาวิทยาลัยแม่โจ้ครั้งนั้น ขวัญเรือน ยังได้วิธีการผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง ซึ่งใช้ฟางข้าวจากแปลงนาของเธอเป็นวัตถุดิบหลัก การเก็บเมล็ดพันธุ์ผักไว้ใช้เอง และที่สำคัญคือ การผลิตผักในระบบอินทรีย์
“ได้ความรู้จากตรงนั้นเยอะมาก แต่ก่อนคิดว่าวัชพืชกับอินทรีย์เป็นเรื่องปกติ แต่พอไปอบรมถึงได้เข้าใจว่า วัชพืชเยอะไม่ดี เป็นที่ซ่อนของแมลง และทำให้เกิดโรคกับพืชได้”
นอกจากนี้ ขวัญเรือน ยังได้นำความรู้เรื่องระบบน้ำที่ได้จากการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ใช้น้ำอย่าง Smart เลือกตลาดให้เป็น” ที่ สท. จัดขึ้น มาปรับประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของเธอ ซึ่งมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ขวัญเรือน ได้แนวทางการเก็บน้ำโดยติดตั้งแท็งค์น้ำสำรอง การเลือกใช้อุปกรณ์และวางระบบน้ำที่เหมาะสมกับชนิดพืช จากเดิมที่ลงทุนอุปกรณ์ไว้มาก เธอและสามีปรับแผนการใช้ระบบน้ำในแปลงใหม่ทั้งหมดให้เหมาะสมกับชนิดพืช โดยมีทั้งระบบน้ำหยด ระบบสปริงเกิล และระบบพ่นฝอย
แม้ปัจจุบันรายได้หลักของ ขวัญเรือน จะมาจากแปลงแคนตาลูป แต่เธอและครอบครัวตั้งใจว่า ผลผลิตแปลงอินทรีย์นี้จะเป็นอนาคตของพวกเธอ “ตอนนี้เราเพิ่งเริ่ม ถ้าเราพยายามและสู้ ผักในแปลงนี้จะกลายเป็นรายได้หลักของพวกเรา”
วิถีชีวิตของ ลุงเซ่ง และ ขวัญเรือน นั้นใกล้ชิดกับงานด้านการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไร แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อย่าง ธนากร ทองศักดิ์ น้องใหม่ของกลุ่มศรีเทพออร์แกนิค และ Young Smart Farmer จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ไม่เคยคลุกคลีกับงานเกษตร แต่วันนี้เขาเลือกเดินบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์มาสามปีเต็มกับ “Believe Farm” ฟาร์มที่มาจาก “ความเชื่อว่าทำได้”
อดีตวิศวกรเครื่องกลตัดสินใจหันหลังให้อาชีพที่มั่นคงในเมืองหลวง มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดเพื่อทำเกษตรที่อำเภอหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ อาชีพที่ครอบครัวเขาไม่เคยทำ การคืนถิ่นของ ธนากร ไม่ได้เป็นตามกระแสที่หนุ่มสาวหันมาทำเกษตร แต่เหตุผลหลักคือ การกลับมาดูแลพ่อที่ป่วย ซึ่งเมื่อคิดจะกลับบ้าน คำถามที่คนหนุ่มวัยทำงานอย่างเขาต้องหาคำตอบให้ทั้งตัวเองและครอบครัวคือ จะทำอะไร ซึ่งเป็นโชคดีของ ธนากร ที่มีป่าสัก 12 ไร่ที่พ่อปลูกไว้เป็นต้นทุนให้เขาสร้างอาชีพใหม่
“ผมจบวิศวกรรมเครื่องกล นั่งออกแบบระบบปรับอากาศอย่างเดียวมาสองปี ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ผมคิดว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากกว่านั้น ผมมีที่อยู่แล้ว แต่จะปลูกอะไรล่ะ ช่วงก่อนออกจากงาน ก็หาความรู้จากหนังสือด้านเกษตรและไปอบรม”
ธนากร ไปอบรมการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ แต่พบว่าไม่ตอบโจทย์ทั้งต้องลงทุนอุปกรณ์และตลาด หลังออกจากงานแล้ว เขาเลือกไปอบรมกับแหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตรเพียงสองแห่งแล้วกลับมาลงมือทำ ตัดไม้สักขายเป็นทุนเริ่มต้นสำหรับทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ 6 ไร่
“ผมโชคดีมีที่ของตัวเอง ไม่มีภาระอะไรที่กรุงเทพฯ และโชคดีที่ครอบครัวปล่อยให้ทำให้ลอง ผมตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์ ก็ศึกษาว่าต้องทำอะไรบ้างในพื้นที่ แล้วจัดการให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ต้องลองเองเพราะพื้นที่ อากาศ ดิน น้ำแต่ละที่ไม่เหมือนกัน”
การเป็นวิศวกรได้บ่มเพาะระบบการคิดและการวางแผนให้กับ ธนากร ไม่น้อย เมื่อมาจับงานด้านเกษตรเขาจึงคิดเป็นขั้นตอน วางแผนการปลูก ทดลองทำ หาเหตุและผลของปัญหาที่พบจากแหล่งความรู้ต่างๆ
“ผมวางแผนการปลูกเป็นรายวัน สัปดาห์ เดือน ปี คิดแล้วเขียนออกมาหมด แล้วค่อยๆ ตัดออกทีละข้อ เพราะผมเริ่มต้นคนเดียว ก็มองว่าอะไรเป็นรายได้หลัก อะไรปลูกไว้กิน อะไรปลูกไว้ขาย อันดับแรก พืชผักสวนครัว ถั่วฝักยาว แตงกวา บวบ พริกขี้หนู ตะไคร้ ปลูกส่งครอบครัวที่บ้าน ให้เห็นว่าเราทำได้ จากนั้นผักที่ขาย ผมเลือกสลัด ด้วยความชอบส่วนตัวและเคยอบรมมาแล้ว”
ธนากร ฝึกฝนการปลูกผักสลัดแต่ละชนิด ผลผลิตสลัดที่ได้ในช่วงแรก เขาเร่ขายตามร้านค้าด้วยตัวเอง แต่ยอดสั่งซื้อยังน้อย ด้วยคนไม่ค่อยรู้จักและยังมีผักไฮโดรโพนิกส์จากเขาค้อเป็นเจ้าตลาด แต่ภาพผักและกิจกรรมในฟาร์มที่เขาถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว กลับทำให้เขาได้ลูกค้าร้านสลัดจากพิษณุโลกที่มองหาผักอินทรีย์ แม้ร้านจะอยู่ต่างเมือง แต่เขาพร้อมไปส่งผักสลัด 50 กิโลกรัม ทุกๆ 2 สัปดาห์ ทำให้ต้องวางแผนการปลูกให้มีผลผลิตต่อเนื่อง เขาใช้โรงเรือนปลูกผักเป็นเครื่องมือช่วยให้ปลูกผักได้ตลอดปี ปัจจุบันเขามีโรงเรือน 3 หลังที่ใช้ปลูกผักสลัดกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เบบี้คอส และฟินเล่ย์ ส่งให้ลูกค้าร้านสลัดเจ้าประจำ 2 แห่ง และลูกค้ารายย่อยในพิษณุโลก
แม้ Believe farm จะอยู่ห่างจากอำเภอศรีเทพกว่า 100 กิโลเมตร แต่ ธนากร ได้สมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มศรีเทพออร์แกนิค ด้วยรู้สึกมีเพื่อนที่เดินบนเส้นทางอินทรีย์เหมือนกัน ปัจจุบันผลผลิตจากฟาร์มของ ธนากร ได้รับมาตรฐาน Organic Thailand แล้ว แม้ปริมาณอาจยังไม่เพียงพอที่ส่งจำหน่ายร่วมกับกลุ่ม แต่ความรู้และประสบการณ์ของสมาชิกยังส่งถึงกันตลอดเวลา เช่นเดียวกับการร่วมกิจกรรมอบรมที่ สท./สวทช. จัดขึ้น
“ผมเอาความรู้ที่ได้มาเสริมกับสิ่งที่ทำอยู่ บางอย่างเรามองข้ามไป อย่างการเก็บเมล็ดพันธุ์ ที่ผ่านมาผมเก็บเมล็ดพันธุ์สลัดที่ตัวเองชอบ เช่น MJ 6-2 เรดโอ๊ค และเบบี้คอส เพราะไม่ค่อยมีขายและลดต้นทุนการซื้อด้วย แต่ก่อนเราก็เก็บแบบบ้านๆ พอเรียนแล้วทำให้รู้ขั้นตอนที่ถูกต้อง ตั้งแต่เก็บ ตาก บรรจุ ผมวางแผนไว้ว่าสิ้นปีนี้จะทำแปลงสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์สลัดโดยเฉพาะ”
นอกจากสลัดชนิดต่างๆ แล้ว ธนากร ยังปลูกมะเขือเทศพันธุ์ชายนี่ควีน พันธุ์นิลมณี และพันธุ์ราชินีสีแดง หลังจากที่ได้มาร่วมอบรมกับ สวทช. ซึ่งกลายเป็นผลผลิตใหม่ของฟาร์มที่ส่งขายร้านสลัด และเตรียมปลูกมะเขือเทศในช่วงหน้าร้อนและหน้าฝน โดยปลูกลงถุงกระสอบข้าวและตั้งไว้ในโรงเรือน หากได้ผลผลิตดี จะทำให้เขามีมะเขือเทศจำหน่ายตลอดปีเช่นเดียวกับสลัด
ทุกวันนี้ ธนากร ทำงานตามแผนที่วางไว้ทั้งรายวัน สัปดาห์และเดือน เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเขาไม่ลืมที่จะทำบัญชีฟาร์ม ซึ่งเขาบอกว่าตัวเลขในบัญชีเพิ่งเริ่มเป็นบวกเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่วนอนาคต Believe Farm เขาตั้งใจให้มีผลผลิตต่อเนื่องเพื่อรักษาลูกค้าที่มีอยู่ทั้งร้านสลัดและลูกค้ารายย่อยที่สั่งซื้อผ่านหน้าเฟซบุ๊ค พร้อมๆ กับหาตลาดเพิ่ม
“ต้องใช้เวลาและอดทนมาก ถ้าเราทำเล่นๆ เราก็ได้ผลเล่นๆ เราต้องจริงจัง ทุกวันนี้มีงานทำตลอด ให้กลับไปทำงานออฟฟิศก็คงไม่ ถึงงานเกษตรจะเหนื่อย เราได้พักก็หายเหนื่อย ถ้าเราชอบงานแล้วอยู่กับมันได้ตลอด มันคือความสุข”
เส้นทางสายเกษตรอินทรีย์ของ ‘เซ่ง ผลจันทร์’ ‘ขวัญเรือน นามวงศ์’ และ ‘ธนากร ทองศักดิ์’ แม้เริ่มต้นได้ไม่นาน ด้วยต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสามคนมีเหมือนกันคือ การเปิดรับความรู้เทคโนโลยีการเกษตรและนำมาปรับใช้ บนความเชื่อมั่นในตนเองว่า “ทำได้”
# # #
สหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้ จำกัด มีสมาชิก 197 คน มีสมาชิก 40 คนที่ผลิตผักใบ เช่น คะน้าฮ่องกง กวางตุ้ง ผักกาดขาว ตั้งโอ๋ ป๋วยเล้ง สลัด ส่งจำหน่ายที่ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และตลาดผักในอำเภอ ขณะที่ สหกรณ์รักษ์ศรีเทพ จำกัด มีสมาชิก 155 คน มีสมาชิก 30 คนที่ผลิตมะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริกขี้หนูเขียว ข้าวโพดเทียน กระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น ส่งให้ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดไท และตลาดในพื้นที่