“ทุเรียน สื่อถึงไม้ผลที่ปลูกในระบบอินทรีย์ยากที่สุด ส่วนผึ้ง เป็นตัวแทนแมลงที่ดีในระบบนิเวศ” รัฐไท พงษ์ศักดิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเพื่อสุขภาพบ้านปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี บอกถึงความหมายของโลโก้ “ปัถวีโมเดล” ที่มีสมาชิก 22 สวนในอ.มะขาม จ.จันทบุรี และเครือข่ายอีกกว่า 20 สวนจาก 6 อำเภอในจังหวัดจันทบุรีที่ผลิตผลไม้อินทรีย์ภายใต้มาตรฐาน Organic Thailand
รัฐไท เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชอินทรีย์ ปี 2562 เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่พลิกวิถีการทำสวนไม้ผลจากระบบเคมีเป็นระบบอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2541 ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากคนหัวใจอินทรีย์อีกหลายคน นั่นคือ ผลกระทบต่อสุขภาพ เขาเริ่มต้นจากหยุดการใช้สารเคมี ปรับลดการใช้ปุ๋ยเคมี และแสวงหาสิ่งที่จะทดแทนสารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช โดยหาความรู้จากทุกแหล่งทั้งจากปราชญ์ชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรอิสระอย่างศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ที่ทำให้เขาได้แนวคิด “ศรัทธาว่าต้องทำได้” เป็นแรงขับสำคัญ
“หาความรู้หลากหลาย เพราะไม่มีใครมีความรู้ชัดในเรื่องไม้ผลและระบบนิเวศ สมัยนั้นเขาจะแนะนำให้ใช้สะเดา น้ำส้มควันไม้ ถ้าระบาดไม่เยอะก็เอาอยู่ แต่ถ้าระบาดเยอะเอาไม่อยู่ ก็ต้องปล่อยให้เสียหาย”
รัฐไท ใช้เวลาเป็น 10 ปีกับการเรียนรู้ ทดลอง และปรับประยุกต์ใช้สมุนไพรในพื้นที่ เช่น หนอนตายอยาก สะเดา ยาสูบ บอระเพ็ด ฯลฯ เป็นวัตถุดิบทำสูตรน้ำหมักกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช พร้อมๆ กับเรียนรู้การใช้สารชีวภัณฑ์ชนิดต่างๆ ทั้งไตรโคเดอร์ม่าและบิวเวอเรีย
“ลองมาเยอะจนทุเรียน เงาะตายไปหลายร้อยต้น จนได้สูตรที่เหมาะ ทำสวนเคมีและอินทรีย์ไม่ต่างกัน เป็นโรคเหมือนกัน แต่พอรักษาหายแล้ว อินทรีย์ดีกว่า มันไม่ระบาดเยอะ การรักษาแบบเคมีก็เหมือนการทำคีโม เชื้อดีเชื้อโทษตายหมด พอเชื้อดีตายหมด เชื้อโทษที่มาทีหลังมีโอกาสมาระบาดอีก ทำแบบอินทรีย์เน้นป้องกันและยับยั้ง ข้อดีสมุนไพร ใช้ได้ตลอด ถ้าระบาดเยอะ 2 ครั้ง/อาทิตย์ ถ้าไม่เยอะก็ทุก 7-10วัน/ครั้ง ต้นทุนค่าแรงอาจสูงกว่า เพราะต้องฉีดพ่นบ่อยกว่า แต่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพราะสมุนไพรก็มีในพื้นที่”
ความมุ่งมั่นและการศรัทธาว่าต้องทำได้ เป็นแรงผลักดันให้ รัฐไท ยืนหยัดกับวิถีการทำสวนไม้ผลอินทรีย์ สร้างรายได้เฉลี่ย 7 แสนบาท/ปี เป็นต้นแบบให้สมาชิกเดินตาม โดยมีตลาดโมเดิร์นเทรดรองรับและยังมีสวนท่องเที่ยวของกลุ่มที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยตรง แม้ผลผลิตที่ได้ภายนอกจะไม่สวยงาม แต่สิ่งที่กลุ่มปัถวีโมเดลการันตีคือ รสชาติและความใส่ใจการผลิตที่เน้นความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งอาจมองเห็นเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้ไม่ชัดเจนเท่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา
“อย่างมังคุดไม่ต้องสวย 100% เราก็ขายได้ เราขายเนื้อในและรสชาติ หรือทุเรียน รูปร่างอาจไม่ห้าพูเต็ม แต่รสชาติอร่อย เราขายตรงนี้ เรารับประกัน ถ้ามีปัญหา เคลมคืน ที่ผ่านมามีตีกลับบ้าง พอผลผลิตเยอะ การคัดแยกอาจมีปัญหา สุดท้ายก็ต้องไปดูที่แปลง แนะนำจัดการแต่ละแปลงให้ทำเชิงปราณีต อย่างทุเรียนหนึ่งต้นมีหลายรุ่น ต้องจดบันทึกว่ากิ่งไหนเป็นของรุ่นไหน ตัดให้ได้ตามอายุจะไม่มีปัญหา ทำเชิงปราณีตต้องดูแลทุกลูก ระบบอินทรีย์ต้องดูแลเชิงปราณีต ไม่ใช่ปล่อยปละไม่ดูแลเลย”
กว่า 20 ปีที่ รัฐไท ทดลอง เรียนรู้ และเปิดรับจากผู้อื่น สั่งสมเป็นแนวทางการทำสวนอินทรีย์ที่สมาชิกในกลุ่มและเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกๆ วันที่ 20 ของเดือน ต่อยอดกลายเป็นศูนย์วิจัยเกษตรภาคประชาชน ที่มีทั้งเกษตรกร อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วม
“การทำสวนผลไม้ สุดท้ายต้องตอบทางวิทยาศาสตร์ได้ ผลผลิตเราได้คุณภาพเพราะอะไร อย่างบอกว่ามังคุดหวาน 24 บริกซ์เพราะอะไร จะบอกปากเปล่าก็ไม่ได้ ต้องมีเครื่องวัด แล้วหวานเพราะอะไร เพราะจัดการโครงสร้างดินให้มีอาหารเพียงพอ สูตรน้ำหมักหรือปุ๋ยที่ผลิตได้ ผมส่งตรวจหาสารพิษ หาคุณค่าทางอาหารหลักอาหารเสริม มีค่า NPK พอหรือไม่”
ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องและหลากหลาย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ รัฐไท เปิดรับความรู้และเทคโนโลยีจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. แม้จุดเริ่มต้นของการรู้จักกันจะเป็นเรื่องสมาร์ทเทคโนโลยีก็ตาม แต่ลงท้ายกลับได้ความรู้เรื่องการตรวจวิเคราะห์บิวเวอเรีย การใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย การให้ความรู้เรื่องแมลงตัวดี-ตัวร้าย การผลิตปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ หรือแม้แต่การปลูกผัก ซึ่งล้วนสอดคล้องกับความสนใจของเขาและสมาชิก อีกทั้งยังทำให้พวกเขาได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จากที่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านและประสบการณ์
“การใช้สารชีวภัณฑ์ ต้องเรียนรู้ให้หลากหลาย บิวเวอเรียมีหลายหน่วยงาน วิธีทำแตกต่างกันบ้าง เราก็ได้เรียนรู้การตรวจสอบเชื้อบิวเวอเรียที่เราผลิต ก็ยังมีปัญหาเชื้อปนเปื้อน ส่วนหนึ่งเพราะห้องเขี่ยเชื้อเรายังไม่ได้คุณภาพ ซึ่งก็เป็นแผนของกลุ่มฯ ที่จะทำห้องให้ถูกต้อง”
เช่นเดียวกับการทดลองใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย การผลิตปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกอง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ สวทช. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย รัฐไท บอกว่า เชื้อแข็งแรงมาก ทดลองใช้ย่อยกองปุ๋ยได้ดี ปุ๋ยที่ได้เอาไปตรวจคุณภาพ มีธาตุอาหารค่อนข้างสูง ส่วนผักอินทรีย์เป็นอีกทางเลือกของสมาชิก ตลาดต้องการอยู่แล้ว การได้เจอ สวทช. ทำให้เรามีความรู้และเครือข่ายการปลูกผักอินทรีย์เพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องแมลงตัวดี-ตัวร้ายที่ สท. ได้เข้าไปให้ความรู้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรมากขึ้น หลายคนกลับไปสำรวจแมลงในสวนตนเอง รัฐไท ก็เช่นกัน เขาถ่ายรูป/คลิปวิดีโอสอบถามชนิดแมลง วิธีการกำจัดและควบคุมจากเจ้าหน้าที่ สท. อยู่บ่อยครั้ง
ในฐานะผู้คลุกคลีกับการทำสวนไม้ผลอินทรีย์มายาวนาน รัฐไท มองว่า นิเวศและแมลงเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตในระบบอินทรีย์ และสัมพันธ์กับการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งเป็นเรื่องปราบเซียนที่คนทำสวนไม้ผลรับรู้กันดี
“การทำเกษตรอินทรีย์ต้องอิงกับระบบนิเวศ เพื่อให้การจัดการง่ายขึ้น ดินต้องเหมาะสมกับไม้ผล มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางดิน น้ำ อากาศ มีแมลงที่มีประโยชน์ ทั้งแมลงที่ทำหน้าที่ผสมเกสรอย่างผึ้ง และแมลงตัวห้ำตัวเบียน เราต้องรู้จักนิเวศของแปลงเราเอง ต้องรู้จักแมลง ไม่ใช่เจอแล้วพ่นอย่างเดียว ถ้าเรารู้จักแล้วจะจัดการมันง่ายขึ้น”
“นิเวศและแมลง” เป็นประเด็นที่ รัฐไท เน้นย้ำเสมอ นั่นจึงไม่แปลกที่โลโก้ “ปัถวีโมเดล” ใช้รูปทุเรียนและผึ้ง เป็นสารสื่อแนวคิดและวิธีการผลิตไม้ผลในระบบอินทรีย์
# # #
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเพื่อสุขภาพบ้านปัถวี
ต.ปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี