ธรรมชาติของการรวมกลุ่มก่อเกิดจากคนที่มีความคิดอ่านคล้ายกัน ยอมรับในข้อกำหนดหรือแนวทางที่ตกลงร่วมกัน เช่นเดียวกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง ที่หลอมรวมขึ้นจากสมาชิกผู้มุ่งมั่นทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี มีเจตจำนงแน่วแน่ในการลดใช้สารเคมี ปฏิเสธสารสังเคราะห์ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งผู้ผลิตผู้บริโภค สร้างระบบนิเวศที่สมดุล ควบคู่กับการสร้างอาชีพที่มั่นคง และเป็นแบบอย่างการเรียนรู้แก่ผู้สนใจ
กว่าสมาชิกจาก 14 ครัวเรือนจะฝังรากบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ได้ แทบทุกคนเคยผ่านการทำเกษตรเคมีมาแล้ว บางคนต้องล้มป่วยเพราะผลจากการใช้สารเคมีอย่างหนักจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ดังเช่น สุรทอน เหมือนมาต “ตอนทำเกษตรเคมีลงทุนเยอะ ทั้งทุน ทั้งสุขภาพ ทำไปทำมาไม่คุ้ม ตอนแรกดินยังดี แต่พอ 5 ปีขึ้นไปดินเริ่มเสีย พืชเริ่มเป็นโรค ยิ่งใช้สารเคมีหนัก จนมีอาการเหมือนมีลมดันในจมูกขึ้นไปสมอง หายใจไม่อิ่ม นอนก็ไม่อิ่ม ไม่เหมือนทำเกษตรอินทรีย์ใช้ลูกเก็บผักได้เพราะรู้ว่าปลอดภัย”
ถวัลย์ ถีระทัน เป็นอีกคนที่ “เคยสนุกกับการทำเคมีและไม่รู้สึกว่าเป็นคนนำสารพิษมาให้ภรรยาและลูก” กระทั่งภรรยาแพ้สารเคมีอย่างหนักจนเข้าออกโรงพยาบาลประจำ จึงทดลองปลูกผักอินทรีย์ตามคำเชิญชวนของ ปิยะทัศน์ ทัศนิยม ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง หลังจากปลูกผักอินทรีย์ขายได้ 2 ปี ถวัลย์มีรายได้มากกว่าอาชีพขายเสื้อผ้าเร่ที่ทำอยู่เดิม แถมได้สุขภาพที่แข็งแรงของภรรยากลับมา
“รู้จัก สวทช. ครั้งแรกตั้งแต่ทำโครงการหมู่บ้านวิทย์ เป็นโครงการที่เน้นให้ชุมชนคิดแก้ปัญหา ทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและปรับใช้กับชุมชน หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ สวทช. เข้ามาแนะนำเรื่องโรงเรือนพลาสติกปลูกผัก ครั้งแรกไม่เชื่อเพราะลงทุนสูง แต่พอทำแล้วได้ผล มีผลผลิตต่อเนื่อง ทางเลมอนฟาร์มเข้ามาซื้อ เลยเริ่มทำจริงจัง สมาชิกในกลุ่มก็เริ่มทำตาม” ปิยะทัศน์ เล่าย้อนความหลังครั้งก่อสร้างโรงเรือน 2 หลังแรกในปี 2554
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรือนพลาสติกสำหรับการผลิตพืชผักเป็นหนึ่งแรงดึงดูดที่สร้างความมั่นใจให้เกษตรกร เพราะช่วยให้ปลูกผักได้ทุกฤดูและมีรายได้ตลอดทั้งปี หนึ่งในนั้นคือ พนมนคร ธรรมาทอง เขายอมรับว่าแม้ต้องลงทุนสูงแต่ทำให้ปลูกผักได้ตลอดปี ผลที่ได้รับถือว่าคุ้มค่ามากกว่ารายได้เพราะหมายถึงการได้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีไปตลอดชีวิต
ความเชื่อมั่นในองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นทำให้สมาชิกฯ กล้าเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ทั้งเข้าอบรมสัมมนา ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติจริง เพื่อพัฒนาและต่อยอดการทำเกษตรอินทรีย์ของตัวเองและกลุ่มตั้งแต่เรื่องปัจจัยการผลิต ดิน น้ำ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช จนถึงการจัดการผลผลิตและการตลาด แต่เทคโนโลยีที่เหมาะสมจริงๆ นั้นจำเป็นต้องเหมาะกับการใช้งาน ได้ผลจริง ไม่ต้องลงทุนมาก นำมาใช้กับพื้นที่เกษตรของตัวเองหรือนำวัสดุในท้องถิ่นมาปรับใช้ได้
“มีหลายเรื่องที่ไปเรียนรู้มา บางอย่างก็ไม่เหมาะกับเรา ต้องดูว่าเอากลับมาทำได้หรือไม่ เช่น ไส้เดือน ในน้ำของมูลไส้เดือนมีฟอสฟอรัสสูงซึ่งดีต่อการกระตุ้นการออกดอก แต่กลุ่มของเราปลูกผักเป็นส่วนใหญ่ ถ้าต้องทำปุ๋ยมูลไส้เดือนก็ไม่ได้ช่วยโดยตรง” ในฐานะผู้นำกลุ่ม ปิยะทัศน์ ย้ำว่า “เราควรเปิดรับเทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น เท่าที่คิดว่าจะทำได้ จะไม่รับเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเกินไป เพราะถ้าซับซ้อนเกินไปก็จัดการยากและมีต้นทุนเพิ่ม”
ทุกวันนี้แปลงผักอินทรีย์ภายใต้โรงเรือนพลาสติกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลางเป็นแหล่งศึกษาดูงานของผู้สนใจทั่วประเทศ แม้หน่วยงานส่วนใหญ่เลือกมาดูงานด้วยเหตุผลศักยภาพกลุ่มที่เข้มแข็งและความโดดเด่นในการปลูกผักอินทรีย์ได้ตลอดปี แต่สมาชิกทุกคนตระหนักเสมอว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเพียงตัวเสริม ความสำเร็จที่แท้จริงต้องเกิดจากการทุ่มเทเรียนรู้และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเป็นหนึ่งเดียวและพลังความเชื่อมั่นใน “ตัวคน” และ “การบริหารจัดการ”
“ความเข้มแข็งไม่ได้อยู่ที่อาคาร ไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ อยู่ที่ตัวเราจะลุกขึ้นมาต่อสู้ไหม กลุ่มของเรามีความมุ่งมั่นชัดเจน มีองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรมเฉพาะ และสร้างพลวัตให้กับสังคม เทคโนโลยีไม่ใช่ปัจจัยความสำเร็จ ถ้าบริหารจัดการเทคโนโลยีไม่ได้ หลายคนก็เจ๊งเหมือนกัน เราต้องเข้าใจและปรับใช้ให้เป็น” ในฐานะผู้นำกลุ่ม ปิยะทัศน์ บอกสมาชิกเสมอว่า พลังกลุ่มจะยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นหนึ่งเดียวกันของสมาชิก “ถ้าอยู่ด้วยกันต้องปฏิบัติตามกฎกติกา มีกิจกรรมอะไรก็ต้องร่วมกัน เรียนรู้ด้วยกัน ปรึกษาหารือกัน บำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อฝึกการเสียสละด้วยกันอย่างน้อยปีละสองครั้ง เช่น ทำโรงทาน อบรมให้ความรู้ผู้อื่น และปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ซึ่งสมาชิกในกลุ่มช่วยกันกำหนดขึ้น เป็นระบบรับรองมาตรฐานชุมชนแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) ใช้ตรวจสอบกันเองภายในกลุ่มและมีบทลงโทษหากใครฝ่าผืน”
ด้วยธรรมชาติการรวมกลุ่มที่มีเงินหรือรายได้เป็นแรงจูงใจ ปมเหตุที่ทำให้กลุ่มส่วนใหญ่ไปต่อไม่ได้มักเกิดจากผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับกลุ่มนี้เพราะมีการบริหารจัดการผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยสมาชิกแต่ละรายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลผลิตของตัวเองอย่างอิสระภายใต้กรอบกติกาที่เห็นพ้องต้องกัน นอกจากนี้ความเป็นกลุ่มจะช่วยเชื่อมร้อยภาคีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ ส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการตลาด ทำให้กลุ่มก้าวไปได้ไกลและยั่งยืนกว่าเดินโดยลำพัง
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง คือ ตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องอุดมคติ แต่เกิดขึ้นและเป็นจริงได้ ขอเพียงแค่ไม่หยุดเรียนรู้และลงมือทำ อย่างที่สมาชิกคนหนึ่งทิ้งท้าย “เกษตรอินทรีย์มีเรื่องใหม่ๆ ให้ทดลองอยู่ตลอดเวลา ไม่จบไม่สิ้น ไม่เหมือนเกษตรเคมีที่มีแต่สูตรสำเร็จ”
# # #
บ้านหนองมัง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งพื้นที่ดำเนินการที่ สวทช. นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมและปรับประยุกต์ใช้ในชุมชนมานานกว่า 10 ปี จนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน
หนังสือ วิทย์พลิกชีวิต: เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี