เก็บตก!! งานสัมมนาและแสดงนวัตกรรม สวทช. – วิทย์สัญจร วิจัยเข้มแข็งเสริมแกร่งภูมิภาค ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา จัดโดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างสรรค์ พันธมิตรร่วมใจ ล้านนาก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจคือ “เกษตรอินทรีย์: ทางเลือก ทางรอดของชุมชน”

ชีวิตที่เลือกเป็น “เกษตรกร”

จากอดีตลูกจ้างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ตัดสินใจนำเงินเก็บสะสมไปซื้อที่ดินในอ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เพื่อเป็นเกษตรกรเมื่อปี 2532 เริ่มต้นจากปลูกสับปะรด ข้าวโพดอ่อน แต่การรับซื้อที่ถูกกดราคา ทำให้ขาดทุน เงินเก็บที่มีหมดไปภายในไม่กี่ปี แต่หลังจากได้รับคำแนะนำจากลุงให้นำส้มโชกุนจากบ้านเกิดที่ยะลาไปปลูกที่ภาคเหนือ กลายเป็นจุดพลิกให้อาชีพเกษตรกรอีกครั้ง

ต้นส้มโชกุนจากแดนใต้ 250 ต้นเมื่อสัมผัสอากาศหนาว ผลส้มเป็นสีเหลืองทอง รสชาติดี จนเป็นที่นิยม และทำให้คุณประพัฒน์ขยายพื้นที่เพิ่มเพื่อปลูกส้ม 5,000 ต้น

“ผมต้านการใช้สารเคมี ผมใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแทน ค่อยๆ สังเกตว่าถ้าใช้ปุ๋ยเคมีน้อยที่สุดผลผลิตจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าใช้กับไม่ใช้เคมี ได้ผลผลิตดีเท่ากัน”

ในช่วงนั้นเขาขายส้มสูงสุดได้กิโลกรัมละ 100 บาท “ขายผลส้มว่าได้ดีแล้ว ขายกิ่งได้ดีกว่า พอเห็นเราปลูกได้ผลผลิตดี คนก็อยากปลูกตาม เริ่มมีออเดอร์สั่งกิ่งส้มเข้ามา ผมขายกิ่งละ 60 บาท ไม่ต้องดูแลอะไรเลย รอให้ออกรากอย่างเดียวแล้วตัดขาย ขายได้เป็นแสนๆ กิ่ง”

ชีวิตเกษตรกรสวนส้มกว่า 10 ปีของคุณประพัฒน์ เขาศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกส้มทุกแขนง ศึกษาค้นคว้าจากงานวิจัยต่างประเทศ และนำมาปรับทดลองกับสวนส้มของเขากว่า 300 ไร่ จนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตส้มได้ครบวงจร ความทุ่มเทของเขาเพื่อเป้าหมายเดียว คือ ต้องการเงินส่งลูก 4 คนให้เรียนจบปริญญาโทต่างประเทศ มีบ้าน มีรถ ไม่มีหนี้สิน เขาบอกว่า จะทำอะไรต้องทำให้จริงจัง ศึกษาให้ละเอียดทุกเรื่อง และนำมาปรับใช้ถึงจะประสบความสำเร็จ

“จนถึงวันนี้..มีหนึ่งคำถามที่ผมพยายามหาคำตอบให้ตัวเองว่า เราต้องหาเงินอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ และก็พบคำตอบว่า จริงๆ แล้วแค่ความสุขจากการเห็นลูกประสบความสำเร็จ ไม่เป็นหนี้ มีสุขภาพแข็งแรง มีสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดี เพื่อน พี่ น้องที่ดี แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”

จากประสบการณ์ชีวิตเกษตรกรของคุณประพัฒน์ เขาพบว่า การเกษตรมีวัฏจักรด้านนวัตกรรมของตัวเองเสมอ ซึ่งเขาเรียกว่า Innovative curve นั่นคือ พืชชนิดไหนถ้าคนปลูกได้และติดตลาด แต่เมื่อไปถึงจุดสูงสุดแล้ว สุดท้ายก็จะดับ มีคนปลูกตามเยอะ ขายไม่ได้ สินค้าล้นตลาด ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกพืช

“ทุกวันนี้ผมหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกไผ่ ปลูกส้มโอ เลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หานวัตกรรมมาประยุกต์ เมื่อมีคนทำตามเยอะๆ ผมก็จะหยุดและทำสิ่งอื่นไปเรื่อยๆ เป็นหลักที่ผมยึดถือปฏิบัติมา”

“วนเกษตร” วัคซีนของคนทำเกษตร

แม้จบการศึกษาด้านพืชไร่จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่เมื่อ คุณโชคดี ปรโลกานนท์ เจ้าของสวนลุงโชค เริ่มต้นทำเกษตรที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้เป็นเหมือนในตำรา มีปัจจัยมากมายที่เขาไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ราคาผลผลิต จนเมื่อเขาได้รู้จักแนวคิด “วนเกษตร” จากผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชาวบ้านด้านวนเกษตร ทำให้เขาเข้าใจวิถีทางการทำเกษตรที่สอดคล้องกับภูมิสังคม เรียนรู้ธรรมชาติตามหลักเหตุและผล

“วนเกษตร เป็นการปลูกต้นไม้ที่หลากหลาย และต้นไม้นั้นตอบสนองปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต คือ มีอาหารกิน มีเครื่องนุ่งห่ม มียารักษาโรค ให้ที่อยู่อาศัย และยังให้สิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งหันหลังให้พืชเชิงเดี่ยว เลิกใช้พืชพันธุ์ลูกผสม เลิกใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้า”

“ผมทำวนเกษตรมา 30 ปี ผมคิดว่าวนเกษตรเป็นวัคซีนที่ป้องกันวิกฤตต่างๆ ได้หมด สวนไผ่ของผมเป็นแหล่งออกซิเจนที่ดีที่สุด เจอวิกฤตภัยแล้งก็ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพราะหน้าแล้งต้นไม้ทิ้งใบทับถมกลายเป็นปุ๋ย เป็นสารอาหาร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องสร้างพื้นฐาน ต้องใช้เวลา ไม่อยากให้ทุกคนทำเกษตรแบบตามกระแส ต้องมีแนวคิดหลักแล้วรูปแบบจะมาเอง วนเกษตรที่ผมทำชัดเจนใน 3 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ของผมอากาศเย็นประมาณ 5 องศาเซลเซียส ด้านสังคม ผมได้คืนองค์ความรู้ให้สังคม การทำวนเกษตรมันมีองค์ความรู้มากมายที่ไม่สามารถเขียนออกมาเป็นตำราได้ ผมใช้เวลาแต่ละวันถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ของผมให้คนที่เข้ามาเรียนรู้มาศึกษาดูงานในสวน ด้านเศรษฐกิจ ผมสามารถสร้างทุกอย่างให้เลี้ยงดูกัน มีรายได้ถือว่าพออยู่ได้ ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นหนี้ เป็นที่ให้ลูกๆ ได้กลับมาอยู่บ้านมารับช่วงต่อ ผมถือว่ามันคุ้มค่าที่สุดแล้ว”

“ความสุขของผม ต้องมีกินมีใช้ก่อน เหลือก็ค่อยขาย ทำเกษตรแบบผสมผสาน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งสร้างอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษในชุมชน ให้ตัวเอง ครอบครัวและผู้อื่นได้มีกินตลอดทั้งปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดเพื่อให้การทำการเกษตรของเรายั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้”

เมื่อ “เซ็นทรัล” ทำเกษตรอินทรีย์

แม้จะอยู่ในภาคธุรกิจ แต่ คุณปรัชญ์ลือ พิณกาญจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เชื่อมั่นว่า “เกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกเดียวของชุมชนและสังคมไทย ที่จะพาพวกเราทุกคนรอดได้”

“เซ็นทรัล” เป็นกลุ่มธุรกิจภาคเอกชนที่เชื่อมต่อผู้ผลิตหรือเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยมีตลาดจริงใจ (JJ Market)
จ.เชียงใหม่ เป็นตลาดแรกที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรนำพืชผัก ผลไม้ และผลผลิตทางการเกษตรที่ตนเองปลูก มาขายให้ผู้บริโภคโดยตรง เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค สร้างความมั่นใจด้านตลาดให้เกษตรกร และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของสินค้า

Tops Supermarket เป็นอีกธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัลฯ ที่เป็นแหล่งรับซื้อและกระจายสินค้าของชุมชน ด้วยแนวคิดของเซ็นทรัลฯ ที่ต้องการ “ให้ผักปลูกที่ไหน ได้รับประทานที่นั่น” จึงสนับสนุนให้เกิด Local Food ที่ไม่เพียงประหยัดเรื่องค่าขนส่ง แต่ผู้บริโภคยังได้รับประทานทานผักตามฤดูกาลในพื้นที่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักในระบบเกษตรอินทรีย์ และนำผลผลิตมาจำหน่ายที่ Tops Supermarket

จากจุดเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการตอบรับอย่างมากจากผู้บริโภคที่ต้องการพืชผักและผลไม้ที่ปลูกด้วยกระบวนการอินทรีย์ แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค กลุ่มเซ็นทรัลฯ จึงได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ส่งเสริมและพัฒนาผลผลิตของชุมชนให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัลทำ” ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างอาหารยั่งยืน อาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค ด้วยเพราะเซ็นทรัลเป็นตลาดและเป็นจุดเชื่อมต่อไปได้ทั่วประเทศ

ชมวิดีโอการเสวนา
เสวนา เกษตรอินทรีย์: ทางเลือก ทางรอดของชุมชน